การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา สร้างบุญบารมีสูงสุดและยิ่งใหญ่

การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา สร้างบุญบารมีสูงสุดและยิ่งใหญ่

การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา สร้างบุญบารมีสูงสุดและยิ่งใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายท่านอาจเข้าใจว่า การทำบุญด้วยวิธีเจริญสมาธิภาวนานั้นทำได้ยากมากเพราะว่าไม่มีเวลา พอพูดเรื่องการเจริญสมาธิภาวนานั้นจะนึกถึงการนั่งหลับตา แต่จริงๆแล้วการเจริญสมาธิภาวนานั้นไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป สมาธินั้นทำได้ทั้งลืมตาและหลับตา ไม่จำเป็นต้องนั่งท่าขัดสมาธิ จะนั่งท่าไหนก็เป็นสมาธิได้ ทำได้ทั้ง ยืน นอน นั่ง เดิน วิ่ง ก็สามารถทำสมาธิได้ ทำได้ทุกท่าทาง ทุกอริยาบท ท่านว่าการทำบุญด้วยการภาวนาได้กุศลผลบุญสูงสุด

การเจริญสมาธิภาวนานั้นมีสองแบบ ดังนี้

๑) การเจริญสมถะภาวนาคือการจดจ่ออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพื่อให้จิตสงบ
๒) การเจริญวิปัสสนาภาวนา คือการพิจารณาไตรลักษณ์ การเกิดขึ้น ตั้้งอยู่ ดับไป

โดยตามหลักแห่งการสร้างบุญแล้วการภาวนาเป็นการทำบุญใหญ่ที่สุดลงทุนน้อยที่สุด ง่ายที่สุดแต่การจะไปให้ถึงบุญสูงสุดด้วยการเจริญภาวนานั้นกลับเป็นเรื่องยากที่สุดสำหรับคนทั่วไป คนทั่ว ๆไปจะมองเรื่องการภาวนาเป็นเรื่องที่สูงและไกลตัวเกินกว่าทำความเข้าใจได้และเป็นเรื่องของผู้ที่เป็นพระสมณะเท่านั้น อย่างดีถ้าจะให้ได้ทำก็แค่นั่งสมาธิกำหนดใจสัก 5-10 นาทีแล้วก็หยุดเลิกไป

การเจริญภาวนานั้นมีอยู่หลายวิธีที่จะทำให้จิตเกิดเป็นสมาธิและได้บุญกุศลตามที่ได้ปรารถนาไว้ ได้แก่

1. สวดมนต์

การสวดมนต์ด้วยบทพระคาถาต่าง ๆจะทำให้จิตใจเป็นสมาธิไม่ต่างจากการนั่งสมาธิเพราะขณะที่สวด ทั้งสายตาและจิตของเราก็จะมุ่งอยู่กับคำสวดที่อยู่ในมือ การสวดมนต์นั้นเป็นการบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งโดยการทวนคำสอนของพระองค์ด้วยการสวด ขณะที่ปากสวดใจก็จะมีสมาธิและเมื่อสวดเสร็จก็จะเกิดความอิ่มเอมปีติทางใจ เพราะการสวดมนต์นาน ๆ ต้องใช้ความอดทนอันเป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก นอกจากนั้นเรายังได้รับรู้ว่าการใช้ปากสวดมนต์เปล่งวาจาออกมา จะนำไปสู่การปฏิบัติที่สำคัญคือ เราไม่กล้าที่จะใช้ปากของเราไปก่อกรรมไม่ดีทางวาจาขึ้นมาอีก อย่างเช่นการพูดปด เพราะปากต้องสวดมนต์อยู่บ่อย ๆ บทสวดมนต์ที่แนะนำให้สวดเป็นประจำ คือ บทบูชา พระพุทธคุณ (อิติปิโส) พระธรรมคุณ (สวากขาโต) และพระสังฆคุณ (สุปฏิปันโน) ผู้ที่ได้สวดเป็นประจำทุกวันจะได้อานิสงส์ให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขคลายทุกข์ร้อนจิตเป็นสมาธิ นอนหลับฝันดี นอกจากบทสวดหลักนี้ก็ยังมีบทสวดมหามงคลอีกมากมายเช่น บทถวายพรพระ พาหุง มหากาฯ บทคาถาพระชินบัญชร ฯลฯ

2. นั่งสมาธิให้ได้อย่างน้อยวันละ 15 นาที (อาจให้การเดินจงกรมก็ได้)

การนั่งสมาธิเป็นการสร้างบุญใหญ่ง่าย ๆดังที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า ต่อให้รักษาศีล 227 ข้อได้ต่อเนื่องยาวนานเป็น 100 ปีก็สู้การทำจิตให้นิ่งเป็นสมาธิเพียงชั่ว ไก่กระพือปีกหรือช้างกระดิกหูไม่ได้ การทำสมาธิขอให้ใช้หลัก อานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออกให้เป็นสมาธิบริกรรมขณะหายใจเข้าว่า “พุทธ” หายใจออกว่า “โธ” จนจิตเริ่มนิ่งแล้วก็ไม่ต้องบริกรรมใด ๆอีกให้รับรู้ขณะที่ลมกระทบที่จมูกขณะหายใจเข้าออกก็พอจิตก็จะนิ่งได้เองไปเรื่อย ๆ หากจิตส่ายออกไปข้างนอกก็ให้กลับมาบริกรรมใหม่ การทำสมาธิด้วยวิธีนี้จัดเป็นกรรมฐานที่พระพุทธองค์ตรัสว่ามีความปลอดภัยสูงเป็นกรรมฐานเย็นทำแล้วอิ่มเอิบใจจิตเกิดความปีติได้ง่าย

3. แผ่เมตตาอุทิศบุญไปให้แก่ทั้งเทพ เทวดา เจ้ากรรมนายเวร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

คนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าการแผ่เมตตาและอุทิศบุญนี้เป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่งตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการข้อหนึ่งที่ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มารับบุญและโมทนาคุณความดีของเรา การแผ่บุญและส่งบุญไปให้คนอื่นนั้นเป็นการสร้างความดีเสมือนเราจุดเทียนขึ้นในความมืดแล้วเราก็ต่อเทียนไปให้ผู้อื่นโดยที่ บุญของเราก็ยังอยู่และได้ยังแสงสว่างให้เกิดขึ้นไปแก่ผู้อื่นด้วย ดังนั้นภายหลังจากการสวดมนต์ นั่งสมาธิและแผ่เมตตาแล้ว ครูบาอาจารย์มักจะให้กล่าวคำอุทิศบุญไปให้ผู้อื่นให้ครอบคลุมด้วยบท อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลว่า

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตา ปิตะโร ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม คุรูปัชฌายาจะริยานังโหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจะริยา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ สัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุขทั่วหน้ากันเทอญฯ

4. ทำการอธิษฐานขอให้ผลบุญได้สัมฤทธิ์ผล

คำกล่าวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “ถ้าขอแล้วจะได้ ถ้าหาแล้วจะพบ” หมายความว่าการที่เราได้ลงมือทำอะไรไปแล้วและเป็นสิ่งที่ดีสมควรที่จะได้รับหากยังไม่ได้ก็ควรจะร้องขอเอา สิ่งที่ทุกคนปรารถนาก็คือความสุข ความมั่งมี ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยจากแรงบุญและกรรมทีได้กระทำ การอธิษฐานขอให้ผลบุญได้สำเร็จผลนี้ ก็เป็นไปเพื่อความสำเร็จต่าง ๆดังที่เราปรารถนาไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโลกทางธรรม
ดังนั้นเมื่อได้ทำบุญด้วยการภาวนาแล้วต้องอธิษฐานประกอบบุญไปด้วยบุญนั้นจึงจะส่งผลได้เร็วยิ่งขึ้นโดยตั้งใจให้แน่วแน่ปักจิตลงไปในเป้าหมายอย่างแท้จริงเชื่อมั่นในบุญที่ได้ทำโดยไม่ลังเลสงสัย แม้ผลสำเร็จจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีก็ยังไม่ต้องท้อแท้เพราะองค์ประกอบเหตุและปัจจัยยังไม่สมบูรณ์เพียงพอซึ่งแต่ละคนมีปัจจัยบุญและกรรมที่ไม่เหมือนกัน

คำอธิษฐานโดยทั่วไปที่ควรนำมาใช้
“ข้าพเจ้า...........(ชื่อ – นามสกุล) ขอน้อมอานิสงส์ผลบุญจากบุญที่ได้ทำ..... ( รวมได้หมดทุกอย่างแห่งการสร้างบุญไม่ว่าทำบุญมาแบบไหนทั้งการ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนแล้ว) ในวันนี้ ครั้งนี้ขออุทิศให้แก่......( บุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวเราทั้งหมด หรือ คนที่ปรารถนาจะอุทิศให้ตามหลักแห่งการอุทิศบุญแผ่เมตตา)
ขอให้อานิสงส์ผลบุญนี้ จงเป็นพละปัจจัยให้ข้าพเจ้า (หรือผู้อื่น โดยกล่าวชื่อ นามสกุล).....ขอให้..(ปรารถนาสิ่งใดก็ว่าไปตามนั้น โดยสิ่งที่ขอต้องไม่ผิดศีลธรรม) เช่นขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ทำอยู่,ขอให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ให้คิดดี พูดดี ทำดีติอต่อกัน สนับสนุนกันให้พ้นจากภาวะที่เป็นทุกข์อยู่ในปัจจุบัน ( บอกรายละเอียดของความทุกข์ด้วยก็ได้) ให้พ้นจากทุกข์นั้นนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป การงานสิ่งใดที่ชอบกอร์ปไปด้วยธรรม ขอให้ข้าพเจ้าได้ประสบความสำเร็จตามความปรารถนา ทั้งทางโลกและทางธรรม นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปตราบจนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพานเทอญ”

5. หมั่นพิจารณาสิ่งทั้งหลายว่าทุกอย่างเป็นไปตามสภาวธรรมและความเป็นจริง

การสร้างบุญด้วยเจริญปัญญาที่ได้บุญและอานิสงส์ข้อนี้เองที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า “ ผู้ใดที่มีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเป็นเพียงชั่วเวลาสั้น ๆแค่ช้างกระดิกหูแล้วย่อมดีเสียกว่า ผู้ที่มีอายุยืนยาว 100 ปีแต่ไม่มีปัญญาได้เห็นความจริงดังกล่าวทำให้เสียเวลาไปชาติหนึ่งหรือเป็น “โมฆะบุรุษ”


การเจริญปัญญาอย่างง่าย ๆประจำวันควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำให้มาก ๆจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่นไม่ว่าจะยืนจะนั่งจะนอนก็คิดใคร่ครวญถึงความเป็นจริง 4 ประการดังต่อไปนี้

การใคร่ครวญถึง ความตายเป็นอารมณ์ โดยเป็นการเตือนสติให้เราได้ตื่นได้พากเพียรทำความดีก่อนที่ความตายจะมาถึง เพราะการคิดถึงความตายอยู่เสมอนั้นจะทำให้เราเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เมื่อได้คิดแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตัวไปถึงในชาติหน้า หากมัวหลงในลาภยศสรรเสริญ สมบัติทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่หลงมัวเมาอยู่ก็สูญไปหมดไม่ได้ติดตัวไปกับตนเองเลย

การใคร่ครวญถึง สิ่งที่ไม่สวยงามเป็นอารมณ์ เป็นการพิจารณาว่าร่างกายของคนอื่นที่ว่าสวยงามทั้งหลายที่เป็นบ่อเกิดแห่งความใคร่และตัณหานั้นที่จริงแล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ทุกคนต้องแก่ต้องเหี่ยวหรือมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา จนเมื่อตายแล้วร่างกายก็ต้องเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเน่าเปื่อย ทุกอย่างเป็นของน่าสะอิดสะเอียนหาความสวยงามใด ๆไม่ได้อีก ซึ่งหาความเป็นตัวตนของตนเองไม่ได้เลย ในที่สุดสังขารของเราก็จะต้องเป็นเช่นนี้เหมือนกัน

การใคร่ครวญถึงว่า ร่างกายของเราเป็นแหล่งรวมสิ่งสกปรก การพิจารณาในข้อนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า แท้จริงแล้วร่างกายของเราก็เป็นที่รวมซากศพและของเน่าเหม็นที่เราได้รับประทานเข้าไป และต้องขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลาย เป็นสารพัด “ขี้” เช่นเมื่อมีการขับถ่ายออกมาทางหูก็เรียกว่า ขี้หู ออกมาทางตาก็เรียก ขี้ตา ออกมาจากผิวหนังก็เรียก ขี้ไคล เป็นต้น เมื่อได้พิจารณาความจริงข้อนี้จะเห็นความสกปรกในร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่เป็นจริงและไม่อาจเลี่ยงได้ เมื่อรับรู้แล้วจิตก็จะมีกำลังและเกิดความเบื่อหน่ายในการยึดติดร่างกายทั้งของตัวเองและผู้อื่น

การใคร่ครวญถึงว่าทุกสิ่งนั้นประกอบด้วยธาตุที่มาประชุมรวมกันอยู่ ข้อนี้เป็นการพิจารณาถึงความเป็นจริงให้ถึงที่สุดว่า ไม่ว่าร่างกายของเรา ของผู้อื่นและทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นแต่เพียงธาตุที่มาประชุมรวมกันชั่วคราวเท่านั้น สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถทนรวมกันอยู่ได้นาน นานไปก็เก่า นานไปก็แก่แล้วก็ต้องมีอันแตกสลายไปแล้วกลับคืนสู่ความเป็น วัตถุธาตุอีกครั้ง ดังเช่นร่างกายเรา กระดูกก็คือดิน เลือดก็คือน้ำ ลมภายในร่างกายก็คือ ธาตุลม และความร้อนรวมไปถึงอารมณ์ในร่างกายต่าง ๆก็คือธาตุไฟ เมื่อแตกสลายไปแล้วก็ กลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างเดิม

การฝึกเจริญภาวนาด้วยการคิดใคร่ครวญหาเหตุผลทั้ง 4 แบบนี้เป็นข้อที่ทำได้ยากที่สุดเพราะในโลกของมนุษย์เรายังมีสิ่งปรุงแต่งเจือปนให้กับจิตใจด้วยวัตถุมากมาย แต่หากใครทำได้จิตก็จะค่อย ๆหลุดพ้นไปอันเป็นทางสู่นิพพานในที่สุด การสะสมสร้างบุญในทุกวิธีที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้หลักในการปฏิบัติเพิ่มเข้าไปอีก 3 ประการคือ

1. มีความสม่ำเสมอ
การทำบุญนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าทำบาป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหลือวิสัยจนไม่สามารถทำได้ เปรียบเสมือนงานประจำ ก็คือ งานนั้นเราต้องทำอยู่ประจำทำทุกเมื่อเชื่อวันจึงจะเกิดความชำนาญ บุญก็เช่นเดียวกันต้องมีความสม่ำเสมอในการสร้างบุญ บุญนั้นก็จะได้พอกพูนขึ้นมาเรื่อยๆและเวลานำไปใช้ก็จะมีความชำนาญในการใช้ ไม่ให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

2. มีความมากพอในบุญ
นอกจากมีความสม่ำเสมอแล้วการทำบุญก็ต้องมีความมากพอที่จะนำบุญนั้นไปใช้ เปรียบเทียบเหมือนเราตักน้ำใส่ตุ่มน้ำที่บ้าน เราต้องตื่นมาแต่เช้าและทำเป็นประจำเสมอ แต่ถ้าเราตักน้ำใส่เป็นประจำเพียงแค่วันละขันมันก็ยังน้อยเกินไปไม่พอจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าจะให้มากพอให้มันเต็มตุ่มในแต่ละวันก็ต้องตักน้ำวันละหลาย ๆถังเพื่อให้เพียงพอจะนำไปใช้ได้

3. มีความนานพอ
บุญต้องใช้การ “สะสม” มันไปเรื่อย ๆเหมือนกับความสำเร็จในด้านอื่น ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ กฎแห่งความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับ 3 ข้อนี้ทั้งนั้น ทุกความสำเร็จจะต้องใช้เวลาสะสมในตัวของมันเอง เมื่อสร้างบุญได้สม่ำเสมอ, มากพอ, และนานพอ ก็จะทำให้บรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุดอันคือ พระนิพพานได้ การบรรลุพระนิพพานเป็นเหตุให้บุคคลสิ้นเวรสิ้นกรรมสิ้นบาปสิ้นบุญหมดแล้วทุกอย่าองในโลก เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าของเรา ได้บำเพ็ญเพียรสร้างบุญมากว่า 500 ชาติ และใน สิบชาติสุดท้ายก็ได้บำเพ็ญสร้าง “มหาทศบารมี” จนในชาติสุดท้ายพระองค์ก็ตรัสรู้สิ้นเวรกรรมในโลกและหลุดพ้นไปในที่สุด

ทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ ด้วยการนั่งสมาธิ การไหว้พระสวดมนต์ การน้อมพิจารณาความจริงของชีวิต เพื่อให้สภาพจิตใจมีความสะอาด สว่าง สงบ อยู่เหนือความโกรธ ความโลภ ความหลง และการเชื่อในบาปบุญคุณโทษ การมีสติปัญญาที่บริสุทธิ์ ปราศจากความอคติลำเอียง มองโลกตามความเป็นจริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook