เกร็ดความรู้พระราชพิธี "พระบรมศพ"
เรื่องน่ารู้ของพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นมาก่อน ค่อนข้างมีพระราชพิธีมีธรรมเนียมที่ซับซ้อนมาก มีบางอย่างที่ได้ถูกกาลเวลากลืนหายไป จนเราไม่มีโอกาสได้เห็น ซึ่งพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี รับเอาแบบอย่างมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย หมายถึงการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรืออาจจะยิ่งกว่า ธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้
การสวดพระอภิธรรม
การสวดพระอภิธรรมเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนประกอบพิธีกรรมขึ้น เกี่ยวเนื่องกับคนตาย ซึ่งจะกล่าวความหมาย จุดมุ่งหมายของการสวดพระอภิธรรม ดังนี้
ความหมายของการสวด คำว่า “สวด” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ , ๒๕๔๖ หน้า ๑๑๔๐ ได้ให้ความหมายไว้ว่าหากเป็นคำกริยา หมายถึง การว่าเป็นทำนองอย่างพระสวดมนต์ เช่น สวดสังคหะ สวดพระอภิธรรม ถ้าเป็นภาษาพูด จะหมายถึง การนินทาว่าร้าย ดุด่า ว่ากล่าว แต่ในที่นี้จะหมายถึงการสวดของพระสงฆ์ ซึ่งหากนำมาใช้ใน การสวด พระอภิธรรม ก็จะหมายถึง การนำเอาธรรมในพระอภิธรรมปิฎกมาสวดในงานศพนั่นเอง จุดมุ่งหมายของการสวดพระอภิธรรม พอสรุปได้ดังนี้
เป็นการนำเอาพระอภิธรรมในพระอภิธรรมปิฎกมาสวด เพราะคำสอนในพระอภิธรรมนั้น ล้วนเป็นคำสอนเพื่อให้คนที่มีชีวิตอยู่ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เป็นการบำเพ็ญกุศลให้กับผู้เสียชีวิต เพราะเป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกหลานและญาติมิตร เป็นการสร้างความอบอุ่นใจ และบรรเทาความเศร้าโศกของญาติพี่น้อง เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาและจารีตประเพณีอีกส่วนหนึ่ง
การสวดพระอภิธรรมเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ เมื่อมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาเสียชีวิตลงผู้ที่เป็นญาติมิตรและผู้คุ้นเคยก็จะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมขึ้น เพื่อเป็นการสร้างบำเพ็ญกุศลและอุทิศผลบุญนั้นไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ โดยยึดตามนัยแนวทางที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติในคราวเสด็จไปเทศนาพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งถือกันว่าเป็นบุญกุศลอันใหญ่หลวง พิธีสวดพระอภิธรรมจะนิมนต์พระสงฆ์สวด จำนวน ๔ รูป สวดจำนวน ๓ คืน ๕ คืน ๗ คืน หรือตามแต่กำลังศรัทธาของเจ้าภาพนั้น ๆ
ตามประเพณีนิยมสวด ๔ จบ โดยใช้พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เป็นบทสวดมาแต่เดิม ในระยะหลัง ๆ การสวดพระอภิธรรมได้พัฒนาออกไปมาก มีการนำเอาบทสวดอื่น ๆ มาใช้สวด เช่น สวดพระอภิธรรมมัตถะสังคหะ สวดพระมาลัย สวดสหัสสนัย สวดแปล เป็นต้น การสวดพระอภิธรรมนี้ มีทั้งงานหลวงและงานราษฎร์ทั่ว ๆ ไป
แต่งานหลวงนั้นมิได้สวด ๔ จบ เช่นงานราษฎร์ทั่วไป จะนิมนต์พระสงฆ์ ๒ ชุด ผลัดเปลี่ยนเวียนกันสวดไปเรื่อย ๆ ทั้งวันทั้งคืน และมีทำนองการสวดที่เป็นพิเศษแตกต่างออกไป พิธีสวดพระอภิธรรมที่จัดว่าเป็นงานหลวงอีกประเภทหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์ทรงรับศพของบุคคลต่าง ๆ ไว้ใน พระบรมราชานุเคราะห์ ๓ – ๕ – ๗ คืน หรือสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พิธีดังกล่าวนี้ มีการสวด ๔ จบเหมือนพิธีของราษฎร์ทั่วไป แต่ทำนองสวดเหมือนการสวดในงานหลวง พระสงฆ์ที่สวดพระอภิธรรมในงานศพต่าง ๆ นั้น สวดในงานของราษฎร์ทั่วไป จะใช้พัดที่เรียกว่า พัดรอง ตั้งสวดทั้ง ๔ รูป ทำนองการสวดก็เป็นทำนองเรียบ ๆ แต่การสวดในงานศพของหลวง หรือสวด ในงานพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ และพระอนุเคราะห์ ใช้พัดยศที่เรียกว่า พัดพระพิธีธรรม ทำนองที่สวดเป็นทำนองหลวง มีทำนองที่แตกต่างกันไปแต่ละสำนัก พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่สวดพระอภิธรรมในงานพระศพ และสวดงานศพในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ และพระอนุเคราะห์ ปัจจุบันนี้เรียกว่า พระพิธีธรรม
ในปัจจุบันนี้ ทำนองที่พระพิธีธรรมสวด บทสวดต่าง ๆ สรุปแล้วมี 4 ทำนอง คือ
1.ทำนองกะ แยกเป็น 2 ลักษณะ คือ กะเปิด เป็นการสวดที่เน้นการออกเสียงคำสวดชัดเจน และกะปิด เป็นการสวดที่เน้นการสวดเอื้อนเสียงยาวต่อเนื่องกันตลอดทั้งบท ไม่เน้นความชัดเจนของคำสวด วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
2.ทำนองเลื่อนหรือทำนองเคลื่อน ได้แก่ การสวดที่ว่าคำไม่เน้นความชัดเจนของคำสวด และเอื้อนเสียงทำนองติดต่อกันไปโดยไม่ให้เสียงขาดตอน วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดระฆังโฆสิตาราม
3.ทำนองลากซุง ได้แก่ การสวดที่ต้องออกเสียงหนักในการว่าคำสวดทุก ๆ ตัวอักษรเอื้อนเสียงทำนองจากหนักแล้วจึงแผ่วลงไปหาเบา วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
4.ทำนองสรภัญญะ ได้แก่ การสวดที่ว่าคำสวดชัดเจนและมีการเอื้อนทำนองเสียงสูง-ต่ำไปพร้อมกับคำสวดนั้น ๆ วัดที่สวดทำนองนี้ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร
(ข้อมูลจากหนังสือพระพิธีธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)