"พระสมเด็จจิตรลดา" บารมีสิริมงคล สร้างโดยพระหัตถ์ "ในหลวง ร.9"
พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน (ปัจจุบันประชาชนเรียกว่า สมเด็จจิตรลดา, พระจิตรลดา เดิมเรียกว่า พระพิมพ์ที่ฐานพระพุทธนวราชบพิตร) ถือว่าเป็นพระพุทธรูปพิมพ์องค์เดียวที่สร้างในเมืองไทยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้าง แต่ไม่ได้มีพิธีพุทธาภิเษกเหมือนเช่น พระเครื่อง เหรียญ หรือวัตถุมงคลอื่นๆ ที่จะต้องผ่านพิธีพุทธภิเษกเสียก่อน เพื่อให้มีพุทธานุภาพ โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากวัดต่างๆ เป็นพระเครื่องที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2508 - 2513
มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ และภาพพระสมเด็จจิตรลดา (องค์พระสมเด็จจิตรลดาในรัชสมัยได้มีการพระราชทานเพียงครั้งเดียว) โดยมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ" ดังเช่นในเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเมื่อ พ.ศ. 2514 และพระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เจ้าคณะภาค 13 ถวายพระธรรมเทศนาว่าด้วยการเป็นผู้นำ ผู้นำและนักปกครองทั้งหลายพึงสดับ พ.ศ. 2555
การแกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปพิมพ์ โดยมีศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร แห่ง มหาวิทยาลัยศิลปากร รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรมเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย การแกะพิมพ์ พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน เป็นพุทธศิลป์แบบแม่พิมพ์ลึก แล้วใช้ดินน้ำมันกดลงบนแม่พิมพ์ลึกเพื่อถอดแบบองค์พระสมเด็จจิตรลดา จากนั้นก็ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทอดพระเนตร และทรงวินิจฉัยแบบพิมพ์ พระองค์ท่านมีพระกระแสรับสั่งให้แก้ไข ตกแต่ง แบบพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดาหลายครั้ง จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย
เมื่อได้แม่พิมพ์ที่สมบูรณ์ด้วยพุทธศิลป์ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านแล้ว จากนั้นพระองค์ทรงนำแม่พิมพ์ที่แกะไว้ทำการถอดต้นแบบพระสมเด็จจิตรลดาจากแม่ พิมพ์หิน โดยพระองค์ท่านทรงใช้วัสดุเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีคุณภาพดี จนได้ตามจำนวนพระราชประสงค์แล้ว ก็ทรงนำต้นแบบพระสมเด็จจิตรลดาจำนวนหนึ่ง เรียงบนภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อทำการหล่อแม่พิมพ์อีกครั้ง โดยทรงหล่อเป็นแม่พิมพ์ยาง
พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี 2 ขนาดพิมพ์ คือ
1.พิมพ์เล็ก กว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตร
2.พิมพ์ใหญ่ กว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร
พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก สำหรับพระราชทานให้เด็ก มีจำนวน 40 องค์ โดยสี่องค์แรก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสี่พระองค์
พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง 9 กลีบ และเกสรดอกบัว 9 จุดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลักษณะละม้ายคล้ายกับพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานประจำทุกจังหวัดและหน่วยทหาร แต่ต่างกันที่ พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระปางมารวิชัย พระสมเด็จจิตรลดา มีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาล-อมเหลือง สีน้ำตาล-อมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือ สีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน
มวลสาร ที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จจิตรลดาถูกนำมาจากทุกจังหวัด ซึ่งในขณะนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 ประเทศไทย มีจังหวัดทั้งสิ้น 71 จังหวัด มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วย เรซิน และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพนักงาน 1 คน คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย ทั้งนี้ มี ศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะ แม่พิมพ์ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย
ผงพระพิมพ์ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 ส่วนในพระองค์ ประกอบด้วย ดอกไม้แห้ง จากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระตลอดเทศกาล เส้นพระเจ้า ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง ดอกไม้แห้ง จากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีฉัตรมงคลสี ซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ชัน (ผงชันผสมกับน้ำมันยางกวนให้เข้ากันจนเหนียวใช้สำหรับยารอยต่อของแผ่นไม้ใต้ท้องเรือ ป้องกันน้ำเข้าใต้ท้องเรือ)และสีน้ำมัน ซึ่งทรงขูดจากเรือใบไมโครมด เป็นเรือใบพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่งใช้แข่งขันกีฬาแหลมทอง 1967
ส่วนที่ 2 วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ประกอบด้วย วัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชา ในแต่ละจังหวัด ดอกไม้ ผงธูป เทียนบูชาพระแก้วมรกต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ดอกไม้ ผงธูป เทียนบูชาจากพระอารามหลวงที่สำคัญ ดิน ตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมา จากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกาซึ่งสมณทูตได้ถวายเก็บไว้ในเจดีย์ที่วัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี ดิน ตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมา จากทุกจังหวัดในประเทศไทย เช่น จากพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ น้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และน้ำอภิเษก
แหล่งที่มาของผงพระพิมพ์ พระสมเด็จจิตรลดา
พระสมเด็จจิตรลดา รุ่น พ.ศ. 2508
พระสมเด็จจิตรลดา รุ่น พ.ศ. 2509
พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก รุ่น พ.ศ. 2509
พระสมเด็จจิตรลดา รุ่น พ.ศ. 2510
พระสมเด็จจิตรลดา รุ่น พ.ศ. 2511
พระสมเด็จจิตรลดา รุ่น พ.ศ. 2512
พระสมเด็จจิตรลดา รุ่น พ.ศ. 2513
พระสมเด็จจิตรลดา บนแสตมป์ฉลองครบ 70 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดา พระพุทธรูปพิมพ์ไม่มากไปกว่า 3,000 องค์ เนื่องจากแพทย์หลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำว่า พระองค์ทรงแพ้สารเคมีและผงฝุ่นบางชนิดในส่วนผมขององค์พระ ทำให้พระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคทางเดินหายใจบ่อยครั้งในช่วงหลังๆ อีกทั้งพระองค์ท่านทรงไม่อยากเห็นพสกนิกรผู้ปรารถนาในพระพุทธรูปพิมพ์ของพระองค์อีกจำนวนมาก จะต้องสิ้นทรัพย์มากเป็นหมื่นๆ อย่างขาดสติเป็นเหยื่อของคนสิ้นคิด ซึ่งแอบทำพระพุทธรูปพิมพ์นี้ปลอมกันออกมามากในระยะนั้น ดังนั้นในราวปลายปีพุทธศักราช 2512 จึงไม่ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปพิมพ์นี้โดยพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกเลย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ต้องการของประชาชนเป็นอย่างมาก ประกอบกับจำนวนองค์พระที่มีจำกัดและหายาก คาดว่าราคาในตอนนี้พุ่งสูงถึงหลักหลายล้านบาทเลยทีเดียว
ข้อมูลและภาพประกอบจาก wikipedia