"การประโคมย่ำยาม" ในงานพระบรมศพมีความสำคัญอย่างไร?

"การประโคมย่ำยาม" ในงานพระบรมศพมีความสำคัญอย่างไร?

"การประโคมย่ำยาม" ในงานพระบรมศพมีความสำคัญอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมของ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังมักจะได้ยินคำว่า "ประโคมย่ำยาม" ในกำหนดการของสำนักพระราชวัง ซึ่งหลายคนคงเกิดความสงสัยว่าพิธีดังกล่าวคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งวันนี้ Sanook! horoscope มีคำตอบมาฝากกันค่ะ

การประโคมย่ำยามเป็นราชประเพณีโบราณในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่และการประโคมย่ำยามเวลามีพระบรมศพ หรือพระศพพระราชวงศ์ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างหอนาฬิกาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหน้าพระคลังแสง ชั้นล่างแขวนระฆังหล่อเป็นโลหะสีแดง มีพนักงานตีระฆังบอกเวลาเมื่อพนักงานตีระฆังจบ พนักงานประโคมนุ่งกางเกงมัสรู่เสื้อเข้มขาบ สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดจุกเป่าแตรงอน ๒ นาย แตรฝรั่ง ๒ นาย ย่ำมโหระทึก ๑ นาย ประโคมย่ำยาม

สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รื้อหอนาฬิกาและพระคลังแสงเพื่อใช้พื้นที่สร้างพระที่นั่งบรมพิมาน ได้ย้ายระฆังมาแขวนที่ซุ้มป้อมยามประตูเหล็กเพชร ประตูทางเข้าพระที่นั่งบรมพิมาน กำหนดให้ทหารรักษาวังเป็นผู้ตีระฆังและพนักงานเครื่องสูงทำหน้าที่ประโคมย่ำยามตามราชประเพณี ครั้นพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ประทับรักษาพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสนาบดีวังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ระงับการตีระฆังและการประโคมย่ำยาม เพื่อมิให้เสียงดังอันจะรบกวนเบื้องพระยุคลบาท จึงเว้นการปฏิบัติแต่นั้นมา ยังมีแต่ราชประเพณีประโคมย่ำยามพระบรมศพและพระศพ

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธีเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ประการหนึ่งควบคู่ไปกับการประโคมของงานเครื่องสูง ตามโบราณราชประเพณี การประโคมย่ำยามในงานพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นสัญญาณให้ทราบกำหนดเวลาปฏิบัติหน้าที่ แต่เดิมดนตรีที่ใช้ประโคมย่ำยามมีเฉพาะวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะอยู่ในงานเครื่องสูงของสำนักพระราชวัง

ประโคมย่ำยามทุก ๓ ชั่วโมง เริ่มเมื่อ ๐๖.๐๐ น. – ๒๔.๐๐ น. รวม ๗ ครั้ง ก่อนเสียงประโคมย่ำยามจะดังขึ้น เริ่มด้วยแตรสังข์ กับปี่ไฉน กลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก ๓ ชั่วโมง คือ

ยาม ๑ เวลา ๐๖.๐๐ น.
ยาม ๒ เวลา ๐๙.๐๐ น.
ยาม ๓ เวลา ๑๒.๐๐ น.
ยาม ๔ เวลา ๑๕.๐๐ น.
ยาม ๕ เวลา ๑๘.๐๐ น.
ยาม ๖ เวลา ๒๑.๐๐ น.
ยาม ๗ เวลา ๒๔.๐๐ น.

ทุกวันจนครบกําหนดไว้ทุกข์ ๑๐๐ วัน ๒ เดือน ๑ เดือน ๑๕ วัน ๗ วัน ตามพระเกียรติยศพระบรมศพหรือพระศพ การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธีเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ ประการหนึ่งควบคู่ไปกับการประโคมของงานเครื่องสูงตามโบราณราชประเพณี การประโคมย่ำยามพระบรมศพพระมหากษัตริย์เครื่องประโคมประกอบด้วย มโหระทึก ๒ ปี่ ๒ สังข์ ๑ แตรงอน ๘ แตรฝรั่ง ๘ เปิง ๑ และกลองชนะ ๒๐ ถ้าเป็นพระศพไม่มีมโหระทึก

การบรรเลงปี่พาทย์นางหงส์

วงปี่พาทย์นางหงส์แต่เดิมเป็นวงที่บรรเลงในงานศพสามัญชนต่อมานำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านายและตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพ การนำปี่พาทย์นางหงส์มาบรรเลงในพิธีหลวงมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ของกรมศิลปากรเข้ามาร่วมประโคมในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๘ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลองทัด และฉิ่ง โดยบรรเลงสลับต่อจากการประโคมย่ำยามของงานเครื่องสูงของสำนักพระราชวัง

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้

วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม "เพลงสำหรับบท" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น

วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง "ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น

วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง "ประโคมเพลงชุดนางหงส์"

เมื่อประโคม ครบทั้ง ๓ วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม ๑ ครั้ง ความเป็นมาของปี่พาทย์นางหงส์ ประโคมร่วมกับการย่ำยามถวายในงานพระราชพิธีพระบรมศพ และพระศพเจ้านายชั้นสูง จึงปรากฏในรัชกาลปัจจุบันนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักพระราชวัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook