ประเพณีการทอดกฐิน คำถวายผ้ากฐิน อานิสงส์ของผู้ทอดถวายผ้ากฐิน

ประเพณีการทอดกฐิน คำถวายผ้ากฐิน อานิสงส์ของผู้ทอดถวายผ้ากฐิน

ประเพณีการทอดกฐิน คำถวายผ้ากฐิน อานิสงส์ของผู้ทอดถวายผ้ากฐิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเพณีการทอดกฐิน ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้นภายใน 1 เดือน หลังประเพณีออกพรรษา โดยวัดที่จะสามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลยไม่ต่ำกว่า 5 รูป และแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ 1 ครั้ง การทอดกฐินเป็นกาลทานตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

กฐินจะมีช่วงเวลา นับจากวันออกพรรษาไปหมดเขตวันลอยกระทง ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะจัดกฐินควรเตรียมตัวเนิ่นๆ ตั้งแต่ การติดต่อวัดที่จะไปทอดกฐิน โดยกำหนดวันเวลา เพื่อที่จะได้พิมพ์ซองกฐินแจกจ่าย หากได้ติดต่อวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการจองกฐิน อย่างเป็นทางการ ขั้นตอนต่อไป เตรียมรายชื่อ ประธาน , รองประธาน , กรรมการ รวมถึงเตรียมเรื่องการเดินทางต่างๆ และหากมีงานสั่งทำประเภทปักชื่อ เช่น สัปทนต์ ย่าม ตาลปัตร หมอนอิง ควรติดต่อเผื่อเวลาในการทำด้วย เนื่องจากงานจะค่อนข้างเยอะ ในช่วงเวลาเดียวกัน

เตรียมของที่จะทอดกฐินและบริวารกฐิน สำหรับของหลักๆ คือ ผ้าทอดกฐิน คือ ผ้าไตรครอง ถ้าเป็นวัดทั่วไป สามารถซื้อแบบสำเร็จรูปได้ แต่ถ้าเป็นพระป่า อาจต้องใช้ผ้าขาว และ สีย้อม ส่วนบริวารกฐิน มีผ้าไตรสัก 2 ชุด เพื่อถวายพระคู่สวด รวมไปถึงของใช้วัดต่างๆ เช่น ผ้าห่มพระประธาน ยารักษาโรค ธงกฐิน ธงมัจฉา จระเข้ ธงธรรมจักร ของใช้พระต่างๆ ครอบไตรพร้อมพานแว่นฟ้า บาตรพระ ย่าม ตาลปัตร สัปทนต์ เครื่องใช้ต่างๆของวัด เป็นต้น สำหรับระยะเวลา ควรเตรียมแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่กระชั้นจนเกินไป โดยเฉพาะท่านที่ต้องเดินทางไกล นอกจากของที่เตรียมในการจัดกฐินแล้ว ทางเจ้าภาพอาจเตรียมอาหารว่าง และ เครื่องดื่ม สำหรับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบุญด้วย

การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพ อุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

คำถวายผ้ากฐิน

" อิมัง มะยัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวาจะ, อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ นิพพานายะจะ ฯ "

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของ ข้าพเจ้าทั้งหลาย และ เมื่อรับแล้วขอจงกรานใช้ กฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์ และ ความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ ฯ

วัดที่จะรับกฐินได้จะต้องมีพระอยู่จำพรรษาจำนวน 5 รูป หรือ 5 รูปขึ้นไปครบองค์สงฆ์จึงจะเป็น กฐิน และจะต้องรับ กฐินที่อาวาสของตัวเองเท่านั้นจึงจะถูกต้อง พระรูปเดียวที่จำพรรษาอยู่ในอาวาสหนึ่งอาวาสใด ถ้ารับกฐินก็จะเรียกว่ารับกฐินไม่ได้ เพราะว่าไม่ครบองค์สงฆ์

อานิสงส์ของผู้ทอดถวายผ้ากฐิน

  • สร้างความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท
  • เป็นการสั่งสมทุนคือบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า
  • ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่
  • ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระวินัยซึ่งเป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาต
  • เป็นการรักษาประเพณีที่ดีงามสืบกันไป
  • เป็นการบูชาพุทธโอวาทของพระบรมศาสดา
  • ทำตนให้เป็นประโยชน์ สละทรัพย์ให้มีประโยชน์ต่อพุทธศาสนา
  • เป็นการสร้างทางไปสวรรค์และนิพพานให้แก่ตนเอง

เป็นกุศลผลบุญที่ใหญ่หลวง ผู้ถวายจะปรารถนาความสำเร็จใด ๆ ในภพชาติใหม่ ก็จะให้สำเร็จได้ดังมโนรถความปรารถนา หรือถ้าจะปรารถนาพุทธภูมิก็ดี ปัจเจกภูมิก็ดี สาวกภูมิก็ดี สาวิกาภูมิก็ดี เมื่อมีวาสนาบารมีแก่กล้าแล้วก็จะได้สำเร็จดังมโนปณิธาน หรือความปรารถนาที่ตั้งไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook