วิธีสำคัญในการส่งบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร
เราชาวพุทธแต่ละคนล้วนเคยทำบุญให้ทานมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งในชาตินี้และในชาติก่อน ถ้าจะนับบุญก็คงจะใหญ่เท่าภูเขา แต่ไม่รู้จักใช้บุญของตนเองให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันชาติ จึงต้องรอตายแล้วจึงไปรับบุญในสรวงสวรรค์ คนทำบุญจึงชอบบ่นว่าทำแต่บุญไม่เห็นได้ดีสักที ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่เคยให้บุญแก่เทวดาที่รักษาตัวเอง ไม่เคยให้เจ้ากรรมนายเวรที่ตามจ้องกันอยู่ ไม่เคยให้เทวดาและญาติทิพย์ที่อาศัยอยู่ในเขตบ้านเรือน ไม่เคยให้เทวดาที่รักษาเจ้านายของตัว เทวดาเหล่านั้นบางองค์มีบุญน้อยมีฤทธิ์น้อย จึงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเราได้มาก
แต่ถ้าเขาได้รับบุญจากเราบ่อยๆ เขาจะกลายเป็นเทวดาที่มีฤทธิ์มีอำนาจ สามารถช่วยเหลือให้เราประสบความสำเร็จได้ดังใจหมาย บางคนอ้างว่าทำบุญทุกครั้งก็กรวดน้ำให้เทวดาและเจ้ากรรมนายเวรทุกครั้งก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง โปรดเข้าใจว่าท่านให้ไม่เป็นเขาจึงไม่ได้รับ เช่นให้ไม่เจาะจงหรือแสงบุญหมดแล้วจึงมากรวดน้ำให้ เขาก็ไม่ได้รับ
จากที่กล่าวในข้างต้นการทำบุญสร้างบุญด้วยวิธีการทั้งสามประการนั้นเจ้ากรรมนายเวรเขาจะรับบุญได้หรือไม่นั้นก็ต้องมีการวิธีการให้ที่ถูกต้อง ซึ่งเรามักเรียกในทางธรรมว่าการ “อุทิศบุญกุศล” ไปให้ ซึ่งการเชื่อมบุญนั้นไม่ใช่พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ แต่เป็นการสร้างบุญโดยที่เราตั้งใจที่จะโมทนาอุทิศบุญกุศลบุญนี้ส่งตรงไปที่คนที่เราต้องการจะให้ในที่นี้ก็คือ ทั้งเจ้ากรรมนายเวรทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่เราอยากให้เขาอโหสิกรรม ให้เขาถอนตัวจากอุปสรรคต่างๆ ที่เขามาขัดขวางไว้ไม่ให้เราทำสำเร็จ
หากเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตก็คือคนที่เราอยากจะไปขอโทษในเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น หรือจะไปเชื่อมบุญใหม่กับคนที่เราต้องการไปขอความช่วยเหลือจากเขา หรือคนที่เราต้องทำงานร่วมกัน คนที่ติดต่อทำมาค้าขายกัน คนที่มีปัญหาและอุปสรรคต่อกันในเรื่องต่างๆ ฯลฯ
การเชื่อมบุญ เป็นการกระตุ้นบุญเก่า สร้างบุญเพิ่มบุญใหม่ไปพร้อมๆ กัน และส่งแรงบุญใหม่นี้ไปให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายเพื่อให้บุญบารมีนี้ช่วยให้ทำการติดต่อในเรื่องที่ติดขัดได้สะดวกยิ่งขึ้น ถ้าเป็นคนที่เคยมีบุญร่วมกันมาก่อนก็ง่ายเช่นได้เคยกระทำบุญร่วมกันในวัดเดียวกันอย่างคนที่เป็น พ่อแม่หรือญาติพี่น้องก็เหมือนมีบุญเก่าไปกระตุ้น แต่ถ้าเป็นเจ้ากรรมนายเวรอื่น ๆไม่เคยทำบุญหรือรู้จักกันมาก่อนหรือจำไม่ได้ การเชื่อมบุญก็กลายเป็นบุญใหม่ที่เราเป็นคนสร้างขึ้นมาร่วมกันกับเขาจะเป็นตัวไปเชื่อมให้เรื่องราวต่างๆสำเร็จได้โดยง่าย
การเชื่อมบุญนั้น เราสามารถทำได้ตลอดเวลาทุกครั้งที่มีการทำบุญ การทำบุญนั้นมีได้ 3 ทางเป็นหลักแห่งการสร้างบุญใหญ่ ดังที่ได้กล่าวมา แต่การทำบุญที่ง่ายต่อการกระทำและความเข้าใจก็คือ “การให้ทาน” เช่นการให้ทั้งเงินทอง อาหาร,การหยอดเงินลงตู้บริจาคที่เดี๋ยวนี้มีคนนิยมมาบอกบุญมากมาย การร่วมสร้างศาสนสถาน ,โบสถ์ วัดวาอาราม, การบริจาคเงินเป็นค่าอาหารกลางวันเด็ก คนพิการ และคนชรา การให้ทานเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน อย่างเช่น การให้ความรู้ที่ดี,การพิมพ์หนังสือธรรมทาน รวมถึงไปการรักษาศีล และการทำสมาธิภาวนาอันเป็นบุญใหญ่และสูงขึ้นไป เรียกได้ว่า เรามีโอกาสทำบุญทำทานทุกเวลาและทุกโอกาส
คุณผู้อ่านเคยได้ยินพระท่านบอกหรือเปล่าว่า ทำบุญใดๆ เสร็จแล้วให้รีบอุทิศบุญให้คนอื่นไปด้วยทั้งคนทำทั้งคนรับได้เหมือนกันหมด เหมือนจุดเทียนไว้เล่มหนึ่งแล้วต่อเทียนกันไปคนให้บุญก็ไม่หมดและเป็นแสงสว่างให้คนอื่นไปด้วย ผู้ที่เราควรจะส่งบุญไปให้ได้ก็ได้แก่ พ่อแม่,ญาติพี่น้อง,ครูบาอาจารย์, เหล่าเทพเทวดา,เหล่าเปรตและภูตผีปิศาจ, เจ้ากรรมนายเวร และสุดท้ายคือสัตว์โลกทั้งหลายอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมดให้ได้รับบุญไปด้วย สำหรับเจ้ากรรมนายเวรก็จะเอ่ยหรือนึกถึงแล้วส่งบุญไปให้ด้วยคำว่า
“อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี” ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข” ประโยคนี้เองที่เป็นจุดสำคัญและจุดสิ้นสุดของการเชื่อมบุญให้เจ้ากรรมนายเวรได้รับบุญนั้นไป คุณงามความดีที่เราได้มอบส่งให้แก่ท่านเจ้ากรรมนายเวรเหล่านั้นเราก็ได้ทำไปหมดแล้ว ท่านเหล่าเจ้ากรรมนายเวรได้รับรู้ถึงความตั้งใจของเราในการปรารถนาที่จะทำให้ท่านมีความสุขให้แล้วก็จะโมทนาบุญให้เราและยอมอโหสิกรรมให้ยอมปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ
ขอเสริมตรงนี้ทิ้งท้ายไว้อีกสักเล็กน้อย เรื่องการส่งบุญให้เจ้ากรรมนายเวรนั้น หากเราไม่แน่ใจว่าจิตของตนเองมีกำลังกล้าแข็งพอ ก็มีอุปกรณ์เสริมในการส่งบุญไปให้ ซึ่งไม่ใช่ของหายากอะไรเลยนั่นคือ “การใช้น้ำในการช่วยอุทิศบุญ” การหลั่งน้ำหรือกรวดน้ำมีความหมายว่า ผลบุญที่เราส่งไปให้ท่านเจ้ากรรมนายเวรนี้จะได้ไหลติดต่อกันแบบไม่ขาดสายผู้รับก็จะรับบุญได้อย่างไม่ขาดระยะเป็นไปได้ด้วยความราบรื่นเปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทรที่ไม่มีวันขาดสาย ทีนี้ผลบุญก็จะส่งไปถึงเหล่าเจ้ากรรมนายเวรได้เต็ม ๆไม่มีการขาดห้วง การกรวดน้ำที่ต้องใช้น้ำกรวด เพราะถือกันตามประเพณีนิยมที่ได้ปฏิบัติสืบ ๆกันมาเวลา ที่เราทำบุญสร้างบุญแล้ว พระภิกษุท่านก็จะโมทนาบุญว่า
“ ยะถา วาริวหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง ห้วงน้ำที่เต็ม , ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ ทานที่ท่านได้อุทิศให้แล้วแก่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ละโลกนี้ไปแล้วฉันนั้นอิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สมิชฌะตุ ขออิฎฐผลที่ท่านได้ปรารถนาแล้วตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยพลัน สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา ขอให้ความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มะณี โชติระโส ยะถา เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว ควรยินดี ” พิจารณาจากคำที่พระท่านกล่าวทุกทีที่เราทำบุญใส่บาตรหรือถวานสังฆทานหรือทำบุญใด ๆก็ตามความหมายก็จะมีความตรงกัน ซึ่งคาถานี้เรียกว่าบท อนุโมทนารัมภะคาถาหรือว่า “บทกรวดน้ำ” นั่นเอง
ผลแห่งการเชื่อมบุญ
อานิสงส์แห่งการเชื่อมบุญนั้นจะส่งผลดีต่อทั้งทางโลกปัจจุบันและผู้ที่อยู่ในภพภูมิอื่นได้แก่
1. ทำให้เจ้ากรรมนายเวรได้รับทราบและโมทนาบุญที่เราได้อุทิศไปให้ เมื่อท่านมีบุญบารมีเพิ่มขึ้น จากการที่เราอุทิศบุญไปให้ ท่านก็มาช่วยเสริมให้เราได้เกิดสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาได้ดียิ่งขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดท่านก็จะไม่มาขัดขวางหรือดลบันดาลให้เกิดอุปสรรค
2. เป็นการชดใช้หนี้เวรหนี้กรรม เศษเวรเศษกรรมและขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร ทำให้วิบากกรรมไม่ดีทั้งหลายที่มีอยู่นั้นลดลง หรือหมดสิ้นไป ถ้าเจ้ากรรมนายเวรได้มาโมทนาบุญ และให้อโหสิกรรมแก่เรา
3. กิจการงานต่างๆ ได้รับความสะดวกมากขึ้น มีความไหลลื่น ปราศจากอุปสรรค หรืออุปสรรคปัญหาที่มีอยู่ก็จะลดลงกว่าเดิมมาก
4. ครอบครัวมีความสุขเป็นครอบครัวที่มีศีลธรรม ลูกหลานอยู่ในโอวาทเชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่ สามีภรรยาไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีเหตุใด ๆที่จะทำให้แตกแยกกันได้ง่าย ๆ
5. ช่วยให้จิตใจอ่อนโยน มีเมตตาและความปรารถนาดีต่อคนรอบข้าง คนทั่วไป และสรรพสัตว์ทั้งปวง
6. การเดินทาง มีความปลอดภัย เพราะเป็นที่รักของทั้งเทพเทวดา มนุษย์ด้วยกันและอมนุษย์ เช่น เปรต ภูตผีปีศาจ รวมถึงเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
7. สามารถที่จะปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้า ธรรมปัญญาเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะมีฐานบุญ ด้วยทาน ศีล และการภาวนาพื้นฐานหนุนนำให้ไปสู่จุดสิ้นสุดแห่งวัฏสงสารและหมดเวรหมดกรรมที่แท้จริง คือพระนิพพาน