"แท่งปูนประหลาด" บนถนนวิทยุ หมุดที่ดินเก่าแก่กว่า 100 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร ท่านเป็นเจ้าของที่ดินประมาณ 60 ไร่ที่อยู่ระหว่างถนนเพลินจิตกับคลองแสนแสบ ด้วยความที่มีที่ดินจำนวนมากนายเลิศจึงทำหลักหมุดที่ดินที่ทำด้วยเหล็กเคลือบปูนขนาดใหญ่
เหตุที่มีรูปร่างแปลกตาไปจากหมุดที่ดินคนอื่นๆในสมัยนั้นคือ ท่านพระยามีอุปนิสัยด้านความคิดที่สร้างสรรค์มักจะออกแบบสิ่งปลูกสร้างอื่นๆด้วยตัวของท่านเองผสมผสานกับเคล็ดและความเชื่อ รูปร่างของหมุดจึงมีลักษณะคล้ายกับปืนใหญ่ที่ปักหัวลงบนดิน เปรียบเสมือนเป็นปราการที่หนักแน่นและคล้ายหม้อต้มยาจีนที่จะบำรุงรักษาที่ดินให้อยู่รอดปลอดภัย หมุดนี้ทำขึ้นเพื่อบอกถึงอาณาเขตของที่ดินแปลงนี้ทั้งหมด 6 หมุด
ปัจจุบันหมุดที่ดินที่ว่านี้เหลือให้เห็นอยู่เพียงหนึ่งหลักเท่านั้น คือหมุดที่อยู่ข้างหน้าสถานทูตอังกฤษตรงหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนเพลินจิต ในปี ค.ศ. 1922 นายเลิดทำสัญญาขายที่ดินส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลอังกฤษเพื่อใช้เป็นสถานทูตเป็นจำนวน 28 ไร่ หลังจากที่ทายาทนายเลิศได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนให้กับสถานทูตอังกฤษ เวลาผ่านไปนับ 100 ปีสิ่งปลูกสร้างอาคารเก่าแก่ต่างๆ ภายในสถานทูตก็เริ่มทรุดโทรมลง ทางสถานทูตจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการบูรณะซ่อมแซมอาคารต่างๆภายสถานทูต จึงได้ทำการตัดแบ่งที่ดินบางส่วนมาประมูลขายให้กับเอกชนอีกทอดหนึ่ง โดยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้ประมูลไปได้
ปัจจุบันที่ดินประวัติศาสตร์แปลงนี้เป็นที่ดินก่อสร้างโครงการศูนย์การค้า เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ส่วนอนาคตหมุดที่ดินของนายเลิศนั้นยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าทางเซ็นทรัลจะอนุรักษ์ไว้หรือไม่ หมุดที่ดินนี้ก็เปรียบเสมือนปู่ทวดที่ชราเต็มทีนั่งผ่านร้อน ผ่านหนาวดูไร้ประโยชน์เกะกะ แต่อยากให้มองย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดของแท่งปูนประหลาดนี้ว่าเค้าอยู่คู่กับที่ดินผืนนี้มานานแล้วนับ100 ปี
จากภาพบนคือ พื้นที่ก่อสร้างศูนย์การค้า เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่และด้านข้างคือสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและเซ็นทรัลชิดลม
หมุดที่ดินเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งตั้งอยู่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ ซึ่งหมุดที่ดินดังกล่าว ถือเป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่มีความสำคัญ สามารถบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางสังคมของคนกรุงเทพมหานครในอดีต ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แสดงพื้นที่ที่มีความสำคัญนอกเหนือเขตพระนคร
ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปี 2504 พบว่า ยังขาดคุณสมบัติเรื่องคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งทำให้หมุดที่ดินเก่าแก่นี้ไม่สามารถขึ้นเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติได้ แต่ก็เป็นวัตถุที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้คู่กับชุมชน เพื่อแสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของพื้นที่ ที่จะเข้ามาดำเนินการดังกล่าวได้
นอกจากนี้ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ยังระบุเพิ่มเติมว่า อยากให้สำนักงานเขตปทุมวันเข้ามาดำเนินการอนุรักษ์หมุดที่ดินประวัติศาสตร์นี้ไว้ เพราะถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอายุยาวนาน ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครที่ยังเหลืออยู่
ข้อมูลและภาพประกอบจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย