"เครื่องคชาภรณ์" (เครื่องประดับช้าง) ในรัชกาลที่ 9
ช้างมีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมายาวนาน โดยเฉพาะในราชสำนักไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับช้างอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช้างเผือก ซึ่งเป็นช้างสำคัญหายากประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ได้รับคติความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือกมาจากอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณ โดยช้างเผือกเป็นช้างที่มีลักษณะดี มีคุณลักษณะพิเศษเป็นมงคลกับผู้เป็นเจ้าของ จึงเชื่อกันว่าหากบ้านเมืองใดมีช้างเผือกเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง ถือว่าพระมหากษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองเมืองพระองค์นั้นทรงมีพระบุญญาธิการพร้อมด้วยพระบรมเดชานุภาพ เป็นสิริมงคลยิ่งแก่บ้านเมือง
นอกจากนี้ช้างเผือกยังได้รับยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสิ่งมงคลคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งของสัปตรัตนะ หรือ แก้ว 7 ประการ อันเป็นเครื่องหมายของพระจักรพรรดิ ได้แก่ จักรแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว ม้าแก้ว และช้างแก้ว 2 โดยช้างแก้วในความเชื่อนี้ หมายถึง ช้างมงคลหรือช้างเผือกนั่นเอง
ความหมายคำว่า “คชาภรณ์” หมายถึง “เครื่องประดับช้าง” คำว่า คชาภรณ์ มาจากคำว่า คช (คะ-ชะ) แปลว่า ช้าง กับคำว่า อาภรณ์ แปลว่า เครื่องประดับ เป็นชุดเครื่องแต่งตัวของช้างเผือกที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ในวันสมโภชขึ้นระวางเพื่อเป็นเครื่องยศสำหรับช้างต้นของพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย ผ้าปกกระพอง พู่หู ทามคอ พานหน้า พานหลัง สำอาง พนาศ เสมาคชาภรณ์ และเครื่องยศ 5 เครื่องคชาภรณ์จะแตกต่างกันไปตามลำดับชั้นยศของช้างต้น และความเหมาะสมในการใช้งาน
ความเป็นมาของการประดับเครื่องคชาภรณ์ในราชสำนักไทย
การสร้างและประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญหรือช้างต้นในราชสำนักไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนสันนิษฐานว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย พร้อมกับคติความเชื่อในเรื่องช้างเผือกตามตำราคชศาสตร์ที่มีการยกย่องให้ความสำคัญกับช้างเผือกหรือช้างมงคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพบหลักฐานการสร้างเครื่องคชาภรณ์ประดับช้างเผือกหรือช้างสำคัญในศิลปะอินเดียโบราณ ที่มีการประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์
การประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง น่าจะได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียในดินแดนสุวรรณภูมิผ่านคติความเชื่อทางศาสนา และการถวายช้างที่ตกแต่งด้วยเสื้อเกราะและเครื่องประดับ ซึ่งในราชสำนักไทยการประดับเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญ ในสมัยรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์จะพระราชทานเครื่องคชาภรณ์แก่ช้างสำคัญประจำรัชกาลในวันสมโภชขึ้นระวางช้างต้นมีส่วนประกอบสำคัญต่าง ๆ แตกต่างกันตามชั้นยศเครื่องคชาภรณ์จึงถูกแบ่งตามลำดับชั้นยศของช้างต้นที่ได้รับพระราชทาน ดังนี้
1.ช้างเผือกหรือช้างพระที่นั่ง จะได้รับพระราชทานให้ใช้เครื่องกุดั่น เป็นชุดเครื่องแต่งกายของช้างเผือก ตาข่ายทำด้วยกุดั่น คือ ลูกปัดแก้วเจียระไนประดับตุ้งติ้งทองคำ หรือแก้วแกมทอง
2.ช้างต้นหรือช้างของพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นช้างพระที่นั่ง พระราชทานเป็นเครื่องถมปัด ตาข่ายทำด้วยถมปัด คือ โลหะทองแดง ถมด้วยน้ำยาผสมลูกปัดสี ป่นให้เป็นผงถมให้เป็นสีและลวดลายต่าง ๆ
3.ช้างดั้งหรือช้างศึก พระราชทานเป็นเครื่องลูกพลู ส่วนตาข่าย ทำด้วยผ้าปักดิ้นทองฉลุเป็นลวดลายมีพู่ห้อยเรียงรายตามส่วนต่าง ๆ เช่น พู่ห้อยที่ตาข่าย ข้างตะเกียบหู ขอบชายของพนาศ ข้างซองหาง เป็นต้น ทั้งสามประเภทมีองค์ประกอบของเครื่องเหมือนกัน แต่ต่างกันเฉพาะวัสดุและรูปแบบ ซึ่งมีค่าสูงมากน้อยกว่ากันตามชั้นยศที่ได้รับพระราชทาน
เครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุยเดชพาหนฯ เมื่อปี พ.ศ.2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือกที่มีคชลักษณะหรือลักษณะพิเศษที่เป็นมงคล คือ มีสีกายดังดอกโกมุท หรือบัวสายแดง จากนายแปลก ราษฎรจังหวัดกระบี่ เป็นผู้คล้องได้ในป่าจังหวัดกระบี่
หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2502 ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต ได้พระราชทานเครื่องคชาภรณ์เป็น เครื่องกุดั่น และพระราชทานนามช้างเผือกว่า “พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาต สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทร บพิตรสารศักดิ์เลิศฟ้า” เป็นพระยาช้างต้นในรัชกาลปัจจุบัน โดย พระเศวต อดุลยเดชพาหนฯ ถือเป็นช้างเผือกที่เข้ามาเป็นช้างแรกในสมัยรัชกาลที่ 9
เครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ มีการสร้างและพระราชทานจำนวน 2 ชุด ชุดแรกสร้างขึ้นและพระราชทานในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น เมื่อ พ.ศ. 2502 พระเศวตอดุยเดชพาหนฯ เมื่อแรกขึ้นระวางมีอายุน้อย ยังเป็นลูกช้าง เครื่องคชาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานขณะนั้นมีขนาดเล็กเหมาะสมกับรูปร่าง ต่อมาเมื่อสูงวัยขึ้น มีร่างกายใหญ่โตมากกว่าเดิมเครื่องคชาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานในคราวแรก จึงมีขนาดเล็กไม่สมรูปร่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดสร้างเครื่องคชาภรณ์ขึ้นใหม่เป็นชุดที่สอง ในปี พ.ศ. 2549 เพื่อพระราชทานแก่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ซึ่งเป็นพระยาช้างต้นประจำรัชกาล และเป็นช้างเผือกคู่พระบารมีมานาน เครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ชุดนี้ ประกอบด้วย
1. ผ้าปกกระพอง ทำด้วยผ้าเยียรบับลายทองพื้นแดง เย็บเป็นแผ่นรูปทรงคล้ายกลีบบัว ชายขอบผ้าทำเป็นริ้วลายทองพื้นเขียวอยู่ด้านใน พื้นแดงอยู่ด้านนอก 2 ริ้ว ขลิบริมด้วยดิ้นเลื่อม ส่วนฐานของกลีบบัวเชื่อมต่อกับตาข่ายแก้วกุดั่น
2. ตาข่ายแก้วกุดั่นหรืออุบะแก้วกุดั่น ทำด้วยลูกปัดแก้ว (เพชรรัสเซีย) เจียระไน ร้อยด้วยสายทองคำถัก เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือที่เรียกกันว่า อุบะหน้าช้าง มีความยาวด้านละ 100 ซ.ม. เท่ากันทั้งสองด้าน ระยะจากปลายยอดสามเหลี่ยมถึงฐานกลีบบัว กว้าง 87 ซ.ม. จุดที่สายทองคำถักร้อยลูกปัดแก้วประสานตัดกันเป็นตาข่าย ทุกจุดประดับด้วยดอกลายประจำยามทองคำประดับพลอยสีเขียว สีแดง และสีขาวห้อยด้วยพวงอุบะทองคำประดับพลอยสีแดงและสีขาว
3. พู่หู สำหรับเครื่องคชาภรณ์อดุลยเดชพาหนฯทำด้วยขนหางจามรีสีขาว ใช้ห้อยจากผ้าปกกระพอง ลงมาอยู่ส่วนหน้าของใบหูทั้งสองข้าง ในการประกอบเป็นตัวพู่หรือลูกพู่ เบื้องต้นต้องทำแกนด้วยผ้าขาวเป็นรูปดอกบัวตูม มีเชือกหุ้มผ้าตาดทองต่อจากขั้วแกน เพื่อใช้ผูกกับผ้าปกกระพอง ต่อจากนั้นเย็บขนจามรีประกอบเข้ากับแกนที่เตรียมไว้ จำนวน 2 พู่ พู่หรือลูกพู่นี้เมื่อเย็บขนจามรีเสร็จแล้วจะมีรูปทรงคล้ายดอกบัว
4. ผ้าคลุมพู่ ทำด้วยผ้าเยียรบับรูปดาวหกแฉก ใช้คลุมบนขั้วพู่จามรี โดยเจาะรูตรงกลางเพื่อใช้เป็นที่ร้อยเชือก ขอบผ้าริมนอกขลิบด้วยผ้าตาดทอง ริมในขลิบด้วยผ้าสีแดง
5. จงกลพู่ เป็นส่วนที่ใช้ครอบบนขั้วพู่ทับอยู่บนผ้าคลุมพู่ ทำด้วยทองคำบุดุนลงยาสีเขียว และสีแดง ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำ ปลายกลีบดอกบานออกเล็กน้อย ลักษณะรูปทรงคล้ายกรวย
6. เสมาคชาภรณ์ เป็นจี้หรือเครื่องประดับรูปใบเสมาสำหรับร้อยสายสร้อยผูกคอ ทำด้วยทองคำลงยา ด้านหน้าบุดุนเป็นรูปพระราชลัญจกร พระมหามงกุฎอุณาโลม ยอดพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี ด้านข้างพระมหามงกุฎกระนาบด้วยลายช่อดอกลอยใบเทศ มีลายประดับรับส่วนล่าง กรอบใบเสมาบุดุนเป็นลายรูปพญานาค 2 ตัว ใช้หางเกี่ยวกัน ส่วนบนของใบเสมาตีปลอกบุ ดุนลายลวดลายลงยา มีลูกปัดทองทรงกลมกลวงสำหรับสอดร้อยด้วยสายสร้อยทองคำ
7. สร้อยคอ หรือสายสร้อยผูกคอทำด้วยทองคำเป็นรูปห่วงเกลียว ยาวประมาณ 285 ซ.ม.
8. ตาบ หรือ ตาบทิศ เป็นเครื่องประดับติดอยู่กับพานหน้า และพานหลัง ทำด้วยทองคำบุดุนฉลุลายดอกประจำยามประดับพลอยสีเขียว สีแดง และสีขาว รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สำหรับประดับพานหน้า ส่วนที่อยู่ใกล้กับไหล่ 2 ข้าง และประดับพานหลัง ส่วนที่อยู่ใกล้ตะโพก 2 ด้าน รวม 4 ดอก
9. วลัยงา หรือ สนับงา เป็นเครื่องประดับงา ใช้สวมงาทั้ง 2 ข้าง ๆ ละ 3 วง รวม 6 วง ทำด้วยทองคำบุดุนประดับพลอยสีเขียว สีแดง และสีขาว
10. สำอาง เป็นห่วงคล้องอยู่ส่วนท้ายช้างใต้โคนหางเพื่อยึดกับพานหลังทำด้วยทองเหลืองชุบทองมีลายประดับทำด้วยวิธีพิมพ์แกะลายบริเวณที่เป็นรูปขอ
11. ทามคอ พานหน้า พานหลัง ทำด้วยผ้าถักแบบสายพานหุ้มด้วยผ้าตาดทอง มีห่วงโลหะชุบทองเป็นตัวเกี่ยวประสานผูกด้วยเชือกหุ้มผ้าตาดทองทุกเส้น
12. พนาศ เป็นผ้าคลุมหลังช้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำด้วยผ้าเยียรบับ ท้องผ้าเป็นลายทองพื้นเหลือง ตามสีประจำวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ล้อมด้วยผ้าตาดทองพื้นแดงด้านหลังผ้าเยียรบับ ชายขอบผ้าชั้นนอกขลิบด้วยดิ้นทอง ตรงกลางท้องผ้าติดคันชีพ ทำเป็นกระเป๋าผ้ากำมะหยี่สีน้ำเงินเข้ม ขลิบริมด้วยดิ้นทองทั้ง 4 ด้าน ตรงกลางปักลายพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎอุณาโลมด้วยไหมเหลือง ที่คันชีพทั้ง 2 ข้าง ติดเม็ดดุมทำด้วยแก้วเจียระไนสายคล้องดุมทำด้วยทองคำ ขอบชายผ้าต่อจากคันชีพลงไปมีผ้าระบายซ้อน 3 ชั้น แต่ละชั้นขลิบด้วยดิ้นทองตกแต่งด้วยตุ้งติ้ง
กล่าวได้ว่าเครื่องคชาภรณ์ชุดนี้เป็นเครื่องยศคชาภรณ์ช้างต้นที่งดงาม โดยส่วนที่ทำด้วยทองคำมีน้ำหนักประมาณ 6 กิโลกรัม เหมาะสมกับร่างกายที่สมบูรณ์ใหญ่โตของพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ซึ่งเป็นช้างเผือกคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง นับเป็นช้างต้นช้างแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้รับพระราชทานเครื่องคชาภรณ์ชุดที่ 2 สำหรับพระยาช้างต้นที่เจริญวัยแล้ว ภายหลังจากพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ล้มลงเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2553 ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังนำเครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ชุดนี้ ส่งมอบให้สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 เพื่อเก็บรักษาและเตรียมนำออกจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมต่อไป
ดังนั้น เครื่องคชาภรณ์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ชุดนี้ จึงถือเป็นทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ควรค่าแก่การรักษาเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป
ข้อมูลและภาพประกอบจาก ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ