ความลี้ลับในหีบกะไหล่ทอง "เจ้าดารารัศมี" พระราชชายา ใน ร.5

ความลี้ลับในหีบกะไหล่ทอง "เจ้าดารารัศมี" พระราชชายา ใน ร.5

ความลี้ลับในหีบกะไหล่ทอง "เจ้าดารารัศมี" พระราชชายา ใน ร.5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตำนานเจ้าหญิงล้านนา "เจ้าดารารัศมี" สำหรับชาวเชียงใหม่แล้วความรู้สึกที่มีต่อเจ้าดารารัศมีคือ เหมือนปูชนียบุคคลของล้านนา เพราะเราระลึกเสมอว่าถ้าไม่มีท่าน ชาวเชียงใหม่จะไม่มีเรื่องนาฏศิลป์ เกษตร หรือแม้กระทั่งงานทอผ้า เพราะท่านเป็นผู้นำในทุก ๆ เรื่อง เจ้าน้อยองค์นี้เป็นที่รักของชาวล้านนามากพอๆ กับที่ท่านรักและสิ่งที่ท่านทำให้กับบ้านเกิดของท่านในบั้นปลายชีวิต

และเรื่องราวความลับที่ทำให้ทุกคนกังขากันไปชั่วระยะหนึ่งในบรรดาเจ้านายในราชวงศ์ฝ่ายเหนือ นับตั้งแต่ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ผู้เป็นเชษฐา และบรรดาเจ้านายชั้นรอง ๆ ลงไป ตลอดจนเจ้านายบุตรหลานของเสด็จพระราชชายา ที่ไปเฝ้าอาการพระประชวรของเสด็จพระองค์ท่าน ณ คุ้มรินแก้ว แจ่งหัวลิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476

ก่อนที่เสด็จ "เจ้าดารารัศมี" จะได้ทราบว่าพระองค์ท่านคงจะสิ้นพระชนม์ชีพในกาลครั้งนี้ แล้วพระองค์ได้ทรงรับสั่งกับ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งได้ประทับคอยเอาใจใส่ ไต่ถามพระอาการประชวรของพระองค์อยู่ตลอด ท่ามกลางพระประยูรญาติและเจ้านายบุตรหลาน เสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงมีรับสั่งเกี่ยวกับคำขอร้องเป็นครั้งสุดท้ายว่า หากเมื่อใดที่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ชีพ ก็ขอให้บรรดาพระญาติวงศ์นับตั้งแต่เจ้าแก้วนวรัฐลงไป ผู้มีชีวิตอยู่เบื้องหลัง ได้โปรดนำสิ่งของต่าง ๆ ที่บรรจุในหีบกะไหล่ทอง ซึ่งเก็บสิ่งของไว้ในหีบเหล็กใบใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ตั้งอยู่เหนือแท่นบรรทมของพระองค์ท่าน ขอให้นำสิ่งของที่เก็บรักษาไว้ในหีบกะไหล่ทองนั้น นำไปบรรจุในกู่ร่วมกับพระอัฐิของพระองค์ท่านด้วยทุกๆ ท่านในบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ

(ตัวอย่างลักษณะ หีบกะไหล่ทอง) 

ซึ่งต่างก็แปลกใจระคนกันว่า ภายใน หีบกะไหล่ทอง นั้นมีอะไรอยู่ในนั้นหรือที่พระองค์ทรงหวงแหนนัก และเก็บไว้บนเหนือพระเศียรที่แท่นบรรทมของพระองค์ ภายหลังจากที่เสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 15.14 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ด้วยพระอาการสงบ ท่ามกลางความโศกาอาดูรของบรรดาพระญาติวงศ์ทั้งหลาย ข่าวการสิ้นพระชนมายุของเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งชาวบ้านชาวเมืองทั่ว ๆ ไป ขนานนามพระองค์ว่า "เสด็จเจ้าในวัง" ได้กระจายออกมาจากคุ้มหลวงรินแก้ว แจ่งหัวลิน อำเภอเมือง เชียงใหม่ ทำให้ประชาชนชาวเมืองเชียงใหม่ที่ได้ทราบข่าวว่า เสด็จเจ้าในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ชีพ พากันเศร้าซึมทั่วบ้านทั่วเมือง พากันอาลัยอาวรณ์ในพระเกียรติคุณของพระองค์มากที่สุด นี่คือเหตุการณ์ที่ปรากฏแก่ความรู้สึกของมหาชนในสมัยนั้น

และจากนั้นไม่กี่วัน โดยพลตรีเข้าแก้วนวรัฐ เชษฐาของเสด็จพระองค์ท่าน ผู้ทรงเป็นประมุขของเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ แห่งราชวงศ์  "ทิพย์จักราธิวงศ์ " ในภาคเหนือได้เป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยเจ้านายญาติพี่น้องและบุตรหลาน ได้นั่งเป็นสักขีพยานในการเปิดหีบเหล็กใบใหญ่ออกและพร้อมกันนั้น ก็ได้พบหีบกาไหล่ทองสีดำขนาดกว้าง 12 นิ้ว โดยมีความยาวเท่า ๆ กันทุก ๆ ด้าน บนฝาหีบนั้นมีเครื่องหมาย ตราสกุล "เจ้าเชียงใหม่" แห่งราชวงศ์ "ทิพย์จักราธิวงศ์"

ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้า รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างขึ้นพระราชทานแด่เสด็จ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี อันเป็นสุดที่รักของพระองค์ และทรงสร้างขึ้นให้มีความหมายเป็นตราของสกุลวงศ์เจ้าเชียงใหม่ โดยเฉพาะเป็นตราพระอินทร์ขาว นั่งประทับอยู่ในปราสาท และหีบกะไหล่ทองใบนี้ มีทับทิมเม็ดใหญ่ และมีเพชรล้อมรอบมีมูลค่ามหาศาล ตามประวัติของหีบกาไหล่ทองใบดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสวามี ได้ทรงมีรับสั่งให้นายช่างโรงงานชาวฝรั่งเศสสร้างขึ้นในคราวเสด็จประเทศยุโรป เพื่อทรงพระราชทานแด่เสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี อันเป็นสุดที่รักยิ่งของพระองค์ โดยเฉพาะ เสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้เคยตรัสเรื่องประวัติของหีบกาไหล่ทองให้บรรดาผู้ใกล้ชิดฟังเสมอ ๆ ว่าในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานหีบกาไหล่ทองนี้ พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า

"เครื่องหมายพระอินทร์ขาวประทับอยู่ในปราสาทนี้ เป็นเครื่องหมายสำหรับสกุล "เจ้าเชียงใหม่" ที่ประทานให้เจ้าน้อยในฐานะที่เป็นพระธิดาของพระเจ้านครเชียงใหม่ และเป็นเจ้าจอมมารดาของลูกฉัน ด้วยความรักเป็นที่สุด"

ได้พบจดหมายรักจดหมายส่วนพระองค์จากรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีถึงพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขณะที่อยู่ไกลกัน และเมื่อพ่อเจ้าแก้วนวรัฐ พ่อเจ้าเหนือหัว ได้เปิดหีบกาไหล่ทองออก ก็ได้พบเอกสารอันมีค่าทางประวัติศาสตร์เป็น "จดหมายอันประทับใจ" ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่พระองค์ได้ทรงพระอักษร ด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง รวมกันหลายฉบับพับอย่างเรียบร้อย มีอักษรภาษาไทย ด้วยกระดาษอย่างดีกำกับกลัดติดเข็มกลัดไว้ พร้อมห่อผ้าเช็ดหน้าพรมน้ำหอมติดผ้าเช็ดหน้ายังไม่จางหาย 

อัฐิส่วนนิ้วก้อยของพระราชบิดาคือพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พระบิดา) และ อัฐิพระนิ้วก้อยของ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิมลนาคพีสีพระราชธิดา ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา และสุดท้ายคือจดหมายจากเจ้าอินทวิชยานนท์พระราชบิดาของพระองค์นั่นเอง พระราชธิดาของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระธิดาของพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

รายการที่ 4 เป็นเอกสารที่บรรจงห่อด้วยกระดาษสองสามชั้นพับไว้อย่างดี เมื่อแก้ออกมาก็ทราบว่าเป็นลายมือและตัวอักษรเป็นภาษาพื้นเมือง แต่เขียนด้วยหมึกสีดำ เมื่อคลี่อออกอ่านดูแล้ว พ่อเจ้าแก้วนวรัฐ ก็อุทานออกมาว่า.....ลายมือตัวหนังสือของ พ่อเจ้าชีวิตพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ และแล้วพ่อเจ้าแก้วนวรัฐ ก็ได้เรียกพวกขุนนางพื้นเมืองชั้นท้าวตนหนึ่งให้เข้ามาอ่านข้อความนั้นให้พระองค์ท่านฟังก็ทราบว่า พ่อเจ้าชีวิตพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เขียนไปตามความรู้ของ "พ่อ ที่มีไปถึง ลูก" ที่ประสบการสูญเสีย หลานในอก เนื่องในคราวที่พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงวิมลนาคนพีสี พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ในสมัยนั้นว่าเป็นพ.ศ. 2435 ในขณะที่พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงมีพระชนมายุได้เพียง 4 ชันษา ( ประสูติวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2432 สิ้นพระชนมายุ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 )

ศุภอักษรจดหมายฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรด้วยตนเอง ภายหลังที่เสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงอ่านถวายให้พระองค์ได้ทราบทุกข้อความ ถึงการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ของพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ทำให้พระองค์ทรงซึ้งเป็นอย่างที่สุด และในโอกาสนี้ ได้ทรงตั้งเจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมีเป็นพระสนมเอกในเวลาต่อมา เรื่องราวโดยละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ เจ้าชายอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐท่านได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ จึงได้ทราบโดยละเอียดพร้อมกับ ท่านชายอินทนนท์ ได้ประทานกรุณาเล่าให้ฟังเหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อ พ.ศ. 2476

ศุภอักษรของพระเจ้าเชียงใหม่ อินทวิไชยยานนท์ ท่านเจ้าชายอินทนนท์ ราชบุตรองค์เล็กของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ท่านได้ประทานกรุณา เล่าเรื่องถ้อยคำในศุภอักษรฉบับนี้ ซึ่งได้ทราบว่ามีผู้คัดลอกเอาไว้ก่อนที่จะนำเอกสารฉบับนี้ ไปเก็บรักษาไว้ในที่ฝังพระอัฐิของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่วัดสวนดอก ณ ที่กู่บรรจุอัฐิของเจ้านายฝ่ายเหนือ ข้อความดังนี้

(กู่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่ออกแบบโดยกรมศิลปากร)

.....คุ้มเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ถึงเจ้าน้อยลูกรักของพ่อ พ่อได้ทราบข่าวว่าพระองค์หญิงวิมลนาคนพีสี พระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเจ้าน้อย ได้ถึงแก่กาลกิริยาสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนก่อน พ่อมีความเสียใจเป็นอย่างมากที่สุด เพราะว่าพระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ เป็นหลานสุดที่รักของพ่อ ซึ่งพ่อรักเจ้าน้อยเพียงใด พ่อก็ย่อมรักพระองค์เจ้าหลานมากเท่านั้น บรรดาพระญาติเจ้านายพี่น้อง ทางบ้านเมืองของเรา ทางเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวเรื่องนี้ ต่างมีความเสียอกเสียใจกันเป็นที่สุด ตัวของพ่อจิตใจของพ่อมีความห่วงใยในตัวของเจ้าน้อยมากที่สุด เพราะเจ้าน้อยอยู่ห่างไกลพ่อมากที่สุด และได้บังเกิดการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าหญิง ลูกในอกเลือดเนื้อสายเลือดของเจ้าน้อยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างกะทันหันอย่างไม่คาดคิด คงจะทำให้เจ้าน้อยเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก เพราะในชีวิต ไม่เคยผ่านมาเลย ในการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเลือดในอกของตนเอง

พ่อจึงขอร้องมาให้เจ้าน้อยลูกของพ่อ จงหักห้ามใจ ระงับความเศร้าโศกลงไปเสียเถิด เดี๋ยวเจ้าน้อย จะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยลง ไกลหูไกลตาพ่อซึ่งไม่มีโอกาสไปดูแลอาการเจ็บไข้ของลูก พ่อขอให้เจ้าน้อยลูกรักของพ่อ จงหักห้ามความเศร้าโศกลงไปเสียเถิด เพราะว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ชรา ตามตาย เป็นของธรรมดาที่เกิดมากับโลก ตามตำพระพุทธศาสนาของเราที่พระท่านสอนเอาไว้ จงทำตามคำขอร้องของพ่อเถิดนะ เจ้าน้อยลูกรักของพ่อ ตุ๊เจ้าโสภโณโสภา วัดฝายหิน ได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าหญิง ราชธิดาของเจ้าน้อย ได้มาหาพ่อพร้อมกับบอกกับพ่อว่า ให้บอกกับเจ้าน้อยด้วยว่า ท่านมีความเศร้าสลดใจมากในการจากไปของพระองค์เจ้าหญิง ขอให้วิญญาณของพระองค์ท่าน ไปสู่สรวงสวรรค์ชั้นฟ้าดาวดึงส์ และขออำนาจของคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกนี้ จงดลบันดาลให้เจ้าน้อยดารารัศมีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงมีแต่ความสุขความเจริญ อายุ วรรณะ สุขะ พละเทอญ

พ่อขอพูดกับเจ้าน้อย ผู้ซึ่งจากอกและจากพ่อมาตั้งแต่อายุ 14 ปีกว่า เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตัวของลูกจากมาก็จริง แต่ใจของพ่อจดจ่ออยู่กับลูกอยู่เสมอ พ่อคิดถึงลูกอยู่ทุกลมหายใจ สำหรับความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของเจ้าน้อยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้อย่าให้ได้เสื่อมคลายแม้แต่น้อย ขอให้พยายามเพิ่มพูนยิ่งเป็นพันเท่า ยิ่งโยชน์โกฎิหมื่นแสนเทอญ ขอให้ลูกจงเคารพบูชากราบไหว้ในพระองค์เหมือนกับเป็น "พ่อ" และเป็น "พระพุทธเจ้าหลวง" ในหอหลวงในคุ้มหลวงของเรา ที่พ่อเคยนำเจ้าน้อยไปกราบไหว้ทุกเช้าทุกค่ำ ก่อนเข้านอนเจ้าน้อยจงเคารพบูชากราบไหว้ ในพระองค์ ขอพึ่งบุญบารมี ล้นเกล้าล้นกระหม่อมปกเกล้าปกกระหม่อมของเจ้าน้อยลูกพ่อ ขอให้เจ้าน้อยจงอย่าทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเป็นที่ไม่ถูกอกถูกใจ และขัดพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นอันขาด นะลูกนะ

ตามความเป็นจริงที่ได้บังเกิดขึ้น นับตั้งแต่เจ้าเมาะ เจ้าหม่อน เจ้าอุ๊ย เจ้าปู่ เจ้าย่า ตา ยาย ในสกุลวงศ์ของเรา ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ มาตราบถึงตัวพ่อและตัวเจ้าน้อย มาตราบเท่าทุกวันนี้ ล้วนแต่ได้รับหน้าที่เป็นผู้รักษา พระราชอาณาจักร หัวเมืองฝ่ายเหนือมานับร้อย ๆ ปี ด้วยความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาทุก ๆ รัชกาล และพร้อมกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประทานพระมหากรุณาธิคุณ มาทุกๆ รัชกาล ชุบเลี้ยงแต่งตั้งให้มีอำนาจเป็นเจ้าชีวิต ทรงแต่งตั้งเลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ ให้สูงส่งเหนือคนทั้งหลายในแผ่นดินสยามมาตลอด กรุณาชุบเลี้ยงเจ้านายทั้งหลายในพระญาติวงศ์มาตลอด พวกเราเจ้านายฝ่ายเหนือ ก็ได้อาสาฝากชีวิตไว้เป็นข้าราชการและเป็นทหารของแผ่นดินถวายชีวิต เป็นราชาพลีถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมวงศานุวงศ์จักรีตลอดมา

พ่อขอให้เจ้าน้อยจงทำจิตใจให้สบายอกสบายใจ มอบกายถวายชีวิตไว้ แทบพระยุคลบาท เป็นราชพลีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนชีวิตจะหาไม่ บัดนี้พ่อก็แก่เฒ่าชราลงไปมาก ปีนี้อายได้ 75 ปีแล้ว มีความห่วงใยเจ้าน้อยมากยิ่งขึ้น พ่อขอให้เจ้าน้อยจงได้ ขอความสุขจงมีแต่เจ้าน้อยลูกรักของพ่อเถิด

"ด้วยความรักและคิดถึงจากพ่อ อินทวิไชยยานนท์"

ปัจจุบันเรื่องราวของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้รับการแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ซึ่งเป็นที่ประทับในบั้นปลายชีวิตของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งที่นี่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์โดยมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูแล โดยมีสิ่งของสำคัญต่างๆ จัดแสดงอยู่ 7 ห้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชตระกูล พระราชกรณียกิจ สิ่งของที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของพระราชชายา 

หมายเหตุ : จากหนังสือ เพ็ชร์ลานนา โดย ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง (เล่ม 1)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook