ความเชื่อ "พระภูมิเจ้าที่" ดูแลคุ้มครองให้เจริญรุ่งเรืองได้
คนไทยเรานับตั้งแต่อดีตมีความเชื่อว่าตาม ดิน น้ำ ภูเขา ต้นไม้ และอาคารบ้านเรือน มีผีเจ้าที่เจ้าทาง ปกปักรักษาอยู่ บวกกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู ทำให้เกิดการพัฒนาพิธีการอัญเชิญผีเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับในศาล (ศาลพระภูมิ,ศาลเจ้าที่) เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแล รักษาสถานที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคล เจริญก้าวหน้าในทุกสถานจึงนิยมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่
ในวันที่ปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่ เจ้าพิธีผู้ทำพิธีกรรมตั้งศาลพระภูมิ นั้นเป็นได้ทั้งพระ, พราหมณ์, หรือฆราวาสที่ต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ตามคติความเชื่อจากพิธีกรรมพื้นบ้านแต่เดิมมีความเชื่อทางพุทธศาสนา และพราหมณ์ฮินดู เข้ามาผสมผสานและนำไปพัฒนาเป็นพิธีกรรมพื้นบ้านเพื่อให้เกิดความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ขึ้น แล้วเปลี่ยนคำนำหน้าใหม่ให้ดูดีมีมงคลขึ้นจากคำว่า “ผี” ที่ดีมีคุณธรรม ให้เป็นพระ เช่น พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง หรือพระภูมิ เพราะนับถือว่าเป็นนั่นแม้จะเป็น ผีแต่ก็เป็น ผีระดับชั้นสูง
เรื่องความเชื่อและการบูชาการตั้งศาลพระภูมิ นำแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดูว่า พระอิศวร หรือพระศิวะทรงมีวิมานประทับอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุเปรียบประดุจมณฑลจักรวาลวิมานของศาลพระภูมิจึงต้องมีเสาเดียว เปรียบประดุจเขาพระสุเมรุมาศวิมานของพระอิศวร พระภูมิถือเป็นเทวดาชั้นหนึ่งเหมือนกัน หากในความเชื่อของทางพระพุทธศาสนาก็จะเชื่อว่า พระภูมิเป็นเทวดาที่เรียกว่า “ภุมมะเทวดา” ที่อาศัยอยู่ตามเนินดิน หรือซุ้มประตู หรือ “รุกขเทวดา”ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ดังนั้นการตั้งศาลพระภูมิตามคติบ้านเรือนของคนไทยจึงมี “เสาเดียว” ส่วนศาลเจ้าที่นั้นเปรียบเสมือนบ้านเรือนชาวบ้านธรรมดาจึงมี 4 เสาเทียบกันแล้วเหมือนการจำแนกการปกครองของเทพให้เป็นลำดับส่วนลงไปเหมือน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ส่วนศาลที่อยู่ตามโคนต้นไม้,ทางสามแพ่ง เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณเร่ร่อนพเนจรจึงนิยมสร้างศาลให้มี 6 เสา หรือ 8 เสา แทรกตรงนี้ไว้สักนิดหนึ่ง กรณีนี้การจำแนกแบบนี้ จุดประสงค์อีกประการอาจจะเป็นการง่ายต่อการจำแนกชนิดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการจะบูชาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและแบ่งระดับของชั้นเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความแตกต่างกัน
นอกจากนี้หากลองสังเกตดูการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ จะต้องมีการกระทำอย่างถูกต้องตามแบบแผนและขั้นตอนให้เคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย การบวงสรวงเซ่นสังเวย และการตั้งศาลพระภูมิจะกระทำเมื่อปลูกบ้านใหม่หรือย้ายที่อยู่ เพราะเชื่อว่าขั้นตอนการตั้งศาลจะเป็น “การขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากบ้านแล้วจึงอัญเชิญเทวดาหรือพระภูมิมาสถิติที่ศาลพระภูมิเพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าบ้าน และบริวารให้อยู่เย็นเป็นสุขมีความเจริญรุ่งเรือง” เพราะถือว่าพระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของบ้านที่คนในบ้านต้องให้ความเคารพ เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมาแต่โบราณครับและทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้วถือเป็นจารีตประเพณีอย่างหนึ่งก็ว่าได้ อีกอย่างที่นิยมกราบไหว้บูชาก็คือ ผีบ้านผีเรือน
ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านได้เคยกล่าวถึงเรื่องของศาลพระภูมิและพระภูมิเจ้าที่ว่า หากผู้ใดต้องการที่จะพบกับความรุ่งเรืองและความสุข ความกราบไหว้บูชาท่านอย่าได้ขาด ด้วยการปฏิบัติบูชา คือ การทำความดี หมั่นทำบุญกุศลแล้วอุทิศไปให้ท่านเหล่านั้น ซึ่งจะมีผลดีกว่าการนำของเซ่นไหว้ไปวางหน้าศาล เพราะเทวดาเหล่านั้นท่านไม่ได้กิน แต่มดที่อาศัยอยู่แถวนั้นเป็นผู้ที่ได้กินจริง ท่านแนะนำว่า ถ้าอยากให้เทวดาพระภูมิท่านได้รับ ควรนำอาหารคาวหวานเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์ และอุทิศบุญไปให้ท่านและบริวารของท่าน ซึ่งจะสร้างความพึงพอใจมากกว่า สำหรับการนำดอกไม้หอมและน้ำสะอาด การดูแลปัดกวาดศาลให้สะอาดเรียบร้อยงามตานั้นก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ถือว่าเป็นการยอมรับในอำนาจของเทวดาเหล่านั้น สุดท้ายการตั้งศาลนั้น หากไม่มีที่จริงๆ ก็สามารถตั้งศาลได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นทิศไหน ยกเว้นใกล้สิ่งอัปมงคลเช่น ห้องน้ำ ที่ทิ้งขยะหรือที่รกร้าง เรื่องเหล่านี้คงเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่จะเข้าใจในเรื่องศาลพระภูมิได้ถูกหลักโบราณาจารย์