ความเชื่อโบราณเรื่องพิธียกเสาเอก
การจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่งนั้น ขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งนั้นที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ในบ้านเราให้ความสำคัญกันมาก ก็คือขั้นตอนของพิธียกเสาเอก โดยเจ้าของบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า การทำพิธียกเสาเอกจะทำให้งานก่อสร้างมีความราบรื่นไม่มีปัญหาและอุปสรรคและ เมื่อได้เข้าอยู่บ้านหลังที่สร้างแล้วจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเป็นความเชื่อและเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมา และจากประสบการณ์การก่อสร้างบ้านของผู้เขียนเองที่ผ่านมาเป็นสิบปีก็พบว่าบ้านทุกหลังที่มีการก่อสร้าง มักจะทำพิธียกเสาเอกเพื่อเป็นสิริมงคลต่อการอยู่อาศัย
แต่พิธีการ และขั้นตอนอาจแตกต่างกันในรายละเอียด บ้านบางหลังจะทำพิธียกเสาเอก โดยพระอาจารย์ที่เคารพนับถือ บางหลังทำพิธีโดยพราหมณ์ และบางหลังทำพิธีโดยผู้ใหญ่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ ดังนั้นหากท่านกำลังจะสร้างบ้าน โดยเลือกแบบบ้านและบริษัทรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพแล้ว ก่อนที่ท่านลงมือก่อสร้างถ้าท่านเชื่อเรื่องโชคลาง ก็คงจะเตรียมหาฤกษ์หาเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นในการสร้างบ้าน แม้จะดูเหมือนหลงงมงายแต่ถ้าทำแล้วเกิดความสบายใจ และไม่เดือดร้อนใคร ก็น่าจะเตรียมให้พร้อมก่อนลงมือก่อสร้าง แต่ทั้งนี้ต้องดูความสะดวกความเหมาะสม ของการก่อสร้างร่วมกับบริษัทรับสร้างบ้านที่ท่านเลือกด้วย
การกำหนดฤกษ์เสาเอก
การกำหนดฤกษ์เสาเอกนั้น ส่วนใหญ่ก็คงต้องให้ผู้ที่เรานับถือ เช่น พระอาจารย์ พราหมณ์ หรือผู้ใหญ่ที่เรานับถือ ดูฤกษ์ดูยามในการทำพิธียกเสาเอกให้ โดยท่านเหล่านั้นก็จะหาวันและเวลาที่เป็นมงคลให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เราสะดวกที่จะสร้างด้วย
ถ้าหากไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกในการตามหาพระอาจารย์ทั้งหลายมาให้ฤกษ์ให้ยาม คุณอาจจะหาฤกษ์ด้วยตนเองก็ได้ โดยอาจจะดูจากปฏิทิน 100 ปี หรือหาซื้อหนังสือโหราศาสตร์ ประเภทสรุปรวมฤกษ์ประจำทั้งปี ซึ่งหนังสือพวกนี้จะออกวางตลาดตอนปลายปีทุกปี ลองอ่านและหาฤกษ์ด้วยตนเองได้
การทำพิธียกเสาเอกกับขั้นตอนการสร้างบ้าน
ในสมัยโบราณ การก่อสร้างบ้านส่วนใหญ่เป็นการสร้างบ้านไม้ เสาบ้านก็เป็นเสาไม้ ดังนั้นฤกษ์ลงเสาเอกก็คือ ฤกษ์เวลาที่เรานำเสาหลักของบ้านหย่อนลงสู่หลุมที่เตรียมเอาไว้ จัดเสาให้ตั้งตรง และเอาไม้ค้ำยันค้ำไว้ เอาดินกลบหลุมทั้งหมด
แต่ในปัจจุบัน ขั้นตอน และวิธีการก่อสร้างได้เปลี่ยนไป อาคารปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วแต่เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องมีการตอกเสาเข็ม ต้องมีการเทฐานราก ทำตอม่อ แล้วจึงจะขึ้นเสาโผล่พื้นดินได้ ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจว่าพิธียกเสาเอกกับการสร้างในปัจจุบันที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตนั้น เขาทำกันในช่วงไหนของการก่อสร้าง ซึ่งจากประสบการณ์ในการก่อสร้างที่ผ่านมา พิธียกเสาเอก จะทำกันได้ใน 3 ลักษณะดังนี้
1. ยึดเวลาที่ตอก (เจาะ) เสาเข็มต้นแรก หรือเวลาที่ตอก (เจาะ) เสาเข็มต้นที่กำหนดให้เป็นเสาเอก (น่าจะเรียกว่า "ฤกษ์" เข็มเอก)
2. ยึดเวลาที่ยกเสาเหล็กเสริม เทคอนกรีตฐานราก (จะเทคอนกรีตฐานรากพร้อมกับการตั้งเหล็กเสาต้นที่เป็นเสาเอก)
3. ยึดเวลาที่มีการเทคอนกรีตหล่อเสาอาคารจริงๆ (ซึ่งอาจจะตั้งหลังจากเริ่มทำการก่อสร้างแล้วเป็นเดือน) แต่ในที่นี้เราจะกล่าวถึงเฉพาะการเตรียมการ เตรียมของใช้และขั้นตอนในการยกเสาเอกแบบ ที่ยึดเวลาที่ยกเสาเหล็กเสริมขึ้นตั้งและเทคอนกรีตฐานราก ซึ่งเป็นลักษณะที่การสร้างบ้านในส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้กัน
การเตรียมการหน้างานในพิธียกเสาเอก
การเตรียมหน้างานก่อสร้างให้พร้อมก่อนการทำพิธียกเสาเอกถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าฤกษ์ ในพิธียกเสาเอก เป็นฤกษ์เวลาที่แน่นอน เช่นบางหลังกำหนดที่เวลา 9.09 น. ดังนั้นการเตรียมการหน้างานที่ไม่พร้อมอาจทำให้เกิดปัญหาขลุกขลัก ทำให้เกิดความผิดพลาดไม่ตรงกัน ฤกษ์ที่กำหนดไว้ เกิดความไม่สบายใจได้ ดังนั้นการเตรียมการหน้างานให้มีความพร้อมนั้นจะต้องจัดเตรียมงานดังนี้
1. การเตรียมพื้นที่ โดยรอบของบริเวณที่จะทำพิธีให้เรียบร้อย เพื่อสะดวกในการทำพิธี
2. ขุดหลุมฐานรากที่จะทำพิธี ให้มีขนาดความลึกและความกว้างตามแบบ
3. ปรับพื้นที่ก้นหลุมให้เรียบร้อย เก็บเศษปูนเศษไม้ให้หมด ปรับระดับให้เรียบด้วยทรายหยาบ
4. เตรียมผูกเหล็กเสริมฐานรากไว้ด้านบน พร้อมที่จะยกลงตอนทำพิธี
5. เตรียมผูกเหล็กเสาที่จะทำการยกเสาเอกวางพาดไว้ ตรงปากหลุมโดยยกหัวเสาให้สูงขึ้นกว่าโคนเสา
6. เตรียมคอนกรีตให้พร้อมเพื่อเตรียมเทหลังจากที่ยกเสาเหล็กขึ้นตั้งแล้ว
การเตรียมของใช้ในพิธียกเสาเอก
การเตรียมของใช้ในพิธียกเสาเอกนั้นมีอยู่หลายตำราด้วยกัน แล้วแต่ผู้ที่เรานับถือที่จะดำเนินการทำพิธีให้เป็นผู้กำหนด แต่ในที่นี้เราจะอ้างอิงจาก "ศาสนพิธี" ในหนังสือพุทธศาสตร์ ปีที่ 43 อันดับที่ 1/2543 โดยการเตรียมของใช้ในพิธียกเสาเอกมีดังนี้
1. จัดโต๊ะหมู่บูชา 1 ชุด พร้อมเครื่องสักการะ (ถ้าประสงค์)
2. จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ 1 ชุด (กรณีนิมนต์พระมาประพรมน้ำมนต์ที่หลุม และเจริญชัยมงคลคาถา)
3. เครื่องบูชาฤกษ์หรือสังเวยเทวดา (จัดย่อส่วนก็ได้ ดูพิธีวางศิลาฤกษ์)
4. ใบทอง นาก เงิน อย่างละ 3 ใบ
5. ทอง เงิน อย่างละ 9 เหรียญ
6. ทรายเสก 1 ขัน
7. น้ำมนต์ 1 ขัน (พร้อมกำหญ้าคา 1 กำ)
8. ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วนเล็ก
9. ทองคำเปลว 3 แผ่น
10. ผ้าแพรสีแดง ห่มเสา หรือผ้าขาวม้า 1 ผืน
11. หน่อกล้วย อ้อย อย่างละ 1 หน่อ
12. ไม้มงคล 9 ชนิด ได้แก่ กันเกรา ทรงบาดาล ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ขนุน สักทอง ทองหลาง ไผ่สีสุก พยุง
13. แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ 1 แผ่น
14. ข้าวตอกดอกไม้ 1 ขัน
ลำดับพิธีในการยกเสาเอก
การทำพิธียกเสาเอกก็มีหลายตำรา แล้วแต่ผู้ดำเนินพิธี แต่ในที่นี้เราก็จะอ้างอิงจาก "ศาสนพิธี" ในหนังสือพุทธศาสตร์ ปีที่ 43 อันดับที่ 1/2543 เช่นกัน โดยลำดับพิธีขอบงการยกเสาเอกมีดังนี้
1. วางสายสิญจน์ เริ่มจากโต๊ะบูชาไปโต๊ะสังเวยขวา บริเวณสถานที่ก่อสร้างเข้าสู่เสาเอก (ก่อนเวลาฤกษ์พอสมควร)
2. จุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานเพื่อเกิดสิริมงคล กราบพระ
3. จุดเทียนธูปที่โต๊ะสังเวย บูชาเทวดาให้คุ้มครอง
4. กล่าวสังเวยเทวดา
5. โปรยดอกไม้มงคล 9 ชนิด ลงในหลุมเสาเอก (ถ้ามี)
6. วางแผ่นทอง นาก เงินในหลุมเสาเอก (ถ้ามี)
7. นำใบทอง นาก เงิน และเหรียญทอง เงิน ลงก้นหลุมแล้วนิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์โปรยทรายเสกที่หลุมเสา
8. เจิมและปิดทองเสาเอก
9. ผูกหน่อกล้วย อ้อย และผ้าสีแดงหรือผ้าขาวม้าที่เสาเอก
10. ถือด้ายสายสิญจน์ พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี
11. ช่วยกันยกเสาเอก จนตั้งเรียบร้อย (ขณะยกเสานั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา) (ถ้ามี)
12. โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงหลุมเสาเอก พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธีเสร็จพิธี
- ถ้ายกเสาเอกในเดือนอ้าย ยี่ สาม เสาเอก อยู่ทิศอีสาน
- ถ้ายกเสาเอกในเดือน 4 - 5 - 6 เสาเอก อยู่ทิศอาคเนย์
- ถ้ายกเสาเอกในเดือน 7 - 8 - 9 เสาเอก อยู่ทิศหรดี
- ถ้ายกเสาเอกในเดือน 10 - 11 - 12 เสาเอก อยู่ทิศพายัพ
13. เมื่อธูปที่โต๊ะสังเวยไหม้หมดดอก ให้ลาเครื่องสังเวยได้ว่า "เสสัง มังคะลัง ยาจามิ"
14. หน่อกล้วย อ้อย เมื่อช่างเอาลงจากเสาแล้ว ให้นำไปปลูกไว้ในที่ต้องการ เพื่อเสี่ยงทายว่าจะงอกงามเพียงใด
- ถ้าจัดโต๊ะสังเวยไม่ได้ จะจัดเป็นสำรับบูชาพระภูมิเจ้าที่ธรรมดาก็ได้ และสิ่งประกอบอื่นๆ ก็เลือกเอาเท่าที่จำเป็นและหาได้ง่าย
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก www.89homebuilder.com (NewDesign V.1)