กราบพระทั้ง 9 องค์ สิริมงคล เสริมสร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่!
ความเป็นสิริมงคล ก็คือ พลังดี ที่จะคอยช่วยเหลือ ค้ำจุนให้ คนที่ได้กระทำความดีมีพลังงานเพิ่มขึ้นในการดำรงชีวิตคือ ชีวิตประสบผลสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม การนำสิ่งที่เป็นสิริมงคลเข้าชีวิต เริ่มต้น จากการบูชาสิ่งที่เป็น สิริมงคล คือ การกราบ พระทั้ง 9 องค์ ดังต่อไปนี้
กราบพระทั้ง 9 องค์ สิริมงคลในใจ
1. กราบพระพุทธคุณ ( พระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้า นี่แหละ คือ สิ่งที่เป็น สิริมงคลสูงสุด เป็นผู้สร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทุกคนควรจะกราบไหว้ก่อน เพราะ พระองค์ท่านเป็นผู้ตรัสรู้หลักธรรมอันยังประโยชน์แก่ชาวโลก ขอให้เชื่อในหลักพระธรรมและ ตัวของพระองค์ ว่า สิ่งที่เรากราบไหว้นั้น คือ สิ่งที่เป็นสิริมงคลสูงสุด ทำใจให้สงบ เอาจิตที่ผ่องใสเป็นกุศลเป็นที่ตั้ง น้อมจิตรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และ เริ่มสวดมนต์เปล่งเสียงออกมาตามบทบูชาพระพุทธคุณว่า
“อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”.
หรือ บางคนอาจจะกล่าว สั้น ๆ เพียงคำว่า “ พุทธานัง คุณัง วันทามิ” เป็นการสื่อความหมายว่า เราก้มลงกราบพระพุทธองค์ด้วยความเคารพนบนอบอย่างจริงใจ ขณะที่ก้มลงกราบ ก็ให้ภาวนาในใจว่า “ พุทโธ เม นาโถ” และระลึกภายในใจต่อไปอีกว่า
“ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาจนถึงวันนี้ ขอ พระคุณอันมากมายเหลือคณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีมหาเมตตาคุณ ช่วยปกปักรักษาให้ข้าพเจ้ามีความสุขความเจริญ ยิ่ง ๆขึ้นไป อย่าได้มีอันตรายจากหมู่มาร หรือ เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายเลย” เพื่อให้อานุภาพแห่งการบูชาพระพุทธคุณ ส่งผลแรงยิ่งขึ้น ควร “พิจารณา” คำสอนของพระองค์ไว้เสมอ ๆ ด้วยการตั้งใจแน่วแน่ว่า จะไม่ทำบาปทั้งปวงไม่ว่าบาปเล็ก หรือ บาปใหญ่
จะทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้ผ่องใส ถือความอดทนอดกลั้นซึ่งเป็นธรรมในการบำเพ็ญตบะเข้าถึงนิพพาน ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ไม่กล่าวร้ายโกหกใด ๆ รู้จักประมาณในการรับประทานอาหารอยู่เสมอ ประกอบสัมมาอาชีพ และ อยู่ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมไม่ฟุ้งเฟ้อ คำสอนเหล่านี้เป็น คำสอนที่สำคัญและเป็นหลักในการดำรงชีวิตทั้งในทางโลก และทางธรรมหากเป็นในทางโลก ก็จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างร่มเย็นตลอดไป หากในทางธรรม ก็จะมีโอกาสเข้าถึงนิพพานโดยเร็ว
2. กราบพระธรรมคุณ ( พระคุณแห่งพระธรรมวินัย)
หลักคำสอนของพระองค์ คือ สิ่งสิริมงคลที่จะช่วยเสริมสร้างให้บุญบารมีเกิดขึ้น ที่เราก็ควรกราบไหว้ และให้ความสำคัญไม่ต่างไปจากพระพุทธองค์ เพราะ ในสมัยพุทธกาล ก่อนที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน ที่ สาละวโนทยาน เมือง กุสินารา แล้วนั้น พระอานนท์ได้ทูลถาม เกี่ยวกับ พระบรมศาสดาองค์ต่อไป ว่า หาก สิ้นพระองค์แล้ว จะให้ยึดมั่นในสิ่งใด พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่พระอานนท์ ว่า
“ดูกร อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอทั้งหลายอาจคิดว่า บัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้วจะพึงว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง อานนท์เอย พึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า ธรรมวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็น ศาสดาของพวกเธอ แทนเราต่อไป เธอทั้งหลายจงมีพระธรรมวินัยเป็นที่พึ่งเถิด อย่าได้มีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย”
ขอให้เราได้เชื่อในพระธรรมสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว และ ปฎิบัติดีแล้วเถิดว่า เป็นสิ่งที่ดีจริง และ น้อมจิตรำลึกถึงพระคุณของพระธรรมวินัยและ เริ่มสวมนต์บูชา พระธรรมคุณ เปล่งเสียงออกมาว่า
“สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ”
หรือ บางคน อาจกล่าวสั้น ๆเพียงว่า “ ธัมมานัง คุณัง วันทามิ” เป็นการสื่อความหมายว่า เราก้มลงกราบพระธรรมวินัย ด้วยความเคารพนบนอบอย่างจริงใจ ขณะที่ก้มลงกราบ ครั้งที่ 2 นี้ก็ให้ภาวนาในใจว่า “ ธัมโม เม นาโถ” และระลึกภายในใจต่อไปอีกว่า
“ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาจนถึงวันนี้ ขอ พระคุณอันมากมายเหลือคณาของพระธรรม ช่วยปกปักรักษาให้ข้าพเจ้ามีความสุขความเจริญ ยิ่ง ๆขึ้นไป อย่าให้ เราต้อง พ่ายแพ้ต่อ กิเลสความชั่วร้ายที่อาจเกิดขึ้นในใจทั้งมวลด้วยเถิด” เพื่อให้อานุภาพแห่งการบูชาพระธรรมคุณ ส่งผลแรงยิ่งขึ้น เพียรพยายาม “ปฎิบัติ” ตามพระธรรมของพระพุทธองค์ ที่พระองค์เปรียบเสมือน เป็นจินดามหารัตนะอันเป็นยอดแห่งธรรมคือ
1. สติปัฎฐาน 4
แปลว่า สตินั้นเป็นที่ตั้งสำคัญแห่งจิต ใช้สติพิจารณาให้รู้เท่าทันว่า ไม่ว่า ร่างกาย ความทุกข์ ความสุข ความวางเฉย จิตใจ หรือ ธรรมอื่นที่เป็นกุศล หรือ อกุศล ทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติเท่านั้น ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา ไม่จีรัง ทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไปเหมือนกันทั้งหมด
2. สัมมัปปธาน 4
สัมมัปปธาน แปลว่า ความเพียร ในธรรมทั้ง 4 ได้แก่ เพียรระวัง คือ เพียรระวังยับยั้งบาปกรรมที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้นมา (สังวรปธาน), เพียรละ หรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปหรืออกุศลธรรมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน), เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น (ภาวนาปธาน) และ เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนสมบรูณ์ในธรรม (อนุรักขนาปธาน)
3. อิทธิบาท 4
อิทธิบาท แปลว่า เครื่องคุณอันวิเศษที่จะทำให้การงานสำเร็จตามความประสงค์ คือ พอใจรักในสิ่งที่ทำ ( ฉันทะ) เพียรหมั่นประกอบการในสิ่งนั้น ( วิริยะ) เอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่วางธุระง่าย ๆ ( จิตตะ) และ หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งเหล่านั้น ( วิมังสา) ผู้ที่ถือหลักข้อนี้จะทำงานได้บรรลุผลทุกประการ
4. อินทรีย์ 5
อินทรีย์ ในที่นี้ แปลว่า ความเชื่อมั่นศรัทธาแห่งพระธรรม อินทรีย์ 5 จึงประกอบด้วย มีความเป็นใหญ่ในสภาพธัมมะของตนคือ น้อมใจเชื่อในพระธรรม (สัทธินทรีย์) ,มีความเป็นใหญ่ในจิตใจในการประคองพระธรรมไว้ให้คงอยู่ (วิริยินทรีย์) , มีความเป็นใหญ่ในการระลึกถึงพระธรรม (สตินทรีย์) มีความเป็นใหญ่ในการไม่คิดฟุ้งซ่านถึงสิ่งไม่ดีอื่น ๆ (สมาธินทรีย์) และ สุดท้ายคือ มีความเป็นใหญ่ในการเห็นพระธรรมตามความเป็นจริง (ปัญญินทรีย์)
5. พละ 5
พละ แปลว่า มีกำลังใจในการประกอบกิจ ธรรมใด ๆ ต้องมีพลังจึงจะประสบผลสำเร็จประกอบด้วย มีความไม่หวั่นไหวในการไม่มีศรัทธาในธรรม (สัทธาพละ), มีความไม่หวั่นไหวต่อการเกียจคร้านในธรรม (วิริยะพละ) , มีความไม่หวั่นไหวในความไม่ประมาทในธรรม (สติพละ) มีความไม่หวั่นไหวเพราะความฟุ้งซ่าน (สมาธิพละ) และ มีความไม่หวั่นไหวในความไม่รู้ (ปัญญาพละ)
ดูแล้ว ธรรมใน พละ5 และอินทรีย์ 5 โดยองค์ธรรมแล้วมีความเหมือนกัน เพียงแต่อธิบายคนละนัย คือ ความเป็นใหญ่และความไม่หวั่นไหว เปรียบเหมือน แม่น้ำ มีเกาะอยู่ตรงกลาง แม่น้ำสองสาย ที่แบ่งโดยเกาะตรงกลาง ก็เป็นสายน้ำเดียวกันและก็ย่อมไหลบรรจบกัน ดังเช่น อินทรีย์ 5 และพละ 5
6. โพชฌงค์ 7
โพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งเป็นปัญญาจะเป็นเครื่องมือให้บรรลุธรรม มีสติรอบคอบแล้วเลือกเอาธรรมเพื่อตั้งใจบำเพ็ญความดี ประกอบด้วย ความระลึกได้ ( สติ) ,ความสอดส่องในธรรม( ธัมมวิจยะ),ความเพียร ( วิริยะ), ความอิ่มใจ (ปิติ), ความสงบใจและอารมณ์ (ปัสสัทธิ), ความตั้งใจมั่น ( สมาธิ) และ ความวางเฉย ( อุเบกขา)
การใช้หลักธรรมก็คือ ถ้ารู้สึกว่า กายและใจอ่อนลงก็ให้เพิ่มกำลังด้วย ความอิ่มใจ (ปิติ) หรือ ถ้าความยินดีมีมากเกินไปก็ตัดกำลังลงด้วย ความสงบใจ (ปัสสัทธิ) ให้คงอยู่แต่พอดี จนไม่ต้องพยุงมันหรือ ข่มมันไว้ ให้ตั้งมั่นแน่วแน่ด้วยสมาธิ และ เพ่งใจดูด้วยความวางเฉย จึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ระลึกธรรม
7. อริยมรรค มี องค์ 8
มรรค แปล ว่า ทางแห่งความเจริญ คือทางแห่งการปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ มรรค 8 ก็คือ ธรรมะแปดประการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และมอบให้ชาวโลก หากใครประพฤติตามได้ครบถ้วน ก็จะบรรลุธรรมอันเป็นที่สุด ประกอบด้วย ความเห็นชอบในอริยสัจ 4 ( สัมมาทิฐิ), ความ ดำริชอบ ( สัมมาสังกัปปะ), เจรจาชอบ (สัมมาจาจา), ทำงานสุจริตชอบ ( สัมมากัมมันตะ), เลี้ยงชีพชอบ ( สัมมาอาชีวะ), มีความเพียรชอบ ( สัมมาวายามะ), มีความระลึกชอบ ( สัมมาสติ) และ มีความตั้งตนไว้ชอบด้วยธรรมด้วยการหมั่นเจริญ วิปัสสนา ( สัมมาสมาธิ)
ธรรมทั้ง 7 กลุ่มนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกโดยรวมว่า “โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (รวมข้อธรรมทั้งหมด 7 กลุ่มได้ 37 ข้อ) เปรียบเหมือนเพชรนิลจินดามหามณีรัตนะ ซึ่งขอให้เรานำกลุ่มธรรมทั้ง 37 ข้อนี้ ไปปฏิบัติให้เป็นวิสัย เพื่อเป็นการขัดเกลาตนเอง สิ่งที่เป็นสิริมงคลและคุณงามความดีจะบังเกิดกับตัวเราอย่างแน่นอน