ตำนานเรื่องเล่า "ศาลหลักเมือง" กรุงเทพมหานคร

ตำนานเรื่องเล่า "ศาลหลักเมือง" กรุงเทพมหานคร

ตำนานเรื่องเล่า "ศาลหลักเมือง" กรุงเทพมหานคร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเพณีไทยแต่โบราณ เมื่อจะมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่ใดก็ตามสิ่งที่จะต้องทำเป็นประการแรกก็คือการหาฤกษ์ยามดี สำหรับฝังเสาหลักเมือง แล้วหลังจากนั้นจึงจะดำเนินการสร้างบ้านสร้างเมืองกันต่อไป เสาหลักเมือง ที่ได้รับการฝังไว้เป็นปฐมนั้น ไม่ว่าที่เมืองไหน ๆ ก็ตาม เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วก็มักจะเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองนั้น ๆ ตลอดไป

รวมทั้งชาวเมืองอื่น ๆ ที่พากันเดินทางมายังเมืองนั้น ๆ ก็มักจะต้องแวะไหว้เสาหลักเมือง หรือ เจ้าพ่อหลักเมืองกันจนถือเป็นประเพณี เจ้าพ่อหลักเมืองในหลาย ๆ จังหวัดของไทย ก็มีเรื่องราวเล่าลือถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์กันมากมาย ทำให้เป็นที่เคารพบูชาของผู้คน เสาหลักเมืองเป็นประเพณีโบราณที่จำเป็นจะต้องตั้งเสาหลักเมืองก่อนจะมีการลงมือสร้างเมืองใหม่


เสาหลักเมือง กรุงเทพฯ

เสาหลักเมืองนั้นส่วนใหญ่จะสร้างด้วย ไม้มงคล เช่น ไม้ชัยพฤษ์ ไม้ราชพฤษ์เสาหลักเมืองหนึ่งที่น่าสนใจคือ “เสาหลักเมืองของกรุงเทพฯ” เนื่องจากเป็นแห่งเดียวที่มีเสาหลักเมือง 2 ต้น และวางอยู่ใกล้กัน เสาหลักเมืองต้นแรกสร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2324 โดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์ ลงรักปิดทอง ส่วนยอดนั้นเป็นรูปบัวตูม ภายในเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

ฝังเสาหลักเมืองเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น ได้เกิดอวมงคลนิมิตขึ้น คือเมื่อถึงมหาพิชัยฤกษ์อัญเชิญเสาลงสู่หลุม ปรากฏว่ามีงูเล็ก 4 ตัวเลื้อยลงหลุมในขณะเคลื่อนเสา จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลย โดยปล่อยเสาลงหลุมและกลบงูทั้ง 4 ตัวตายอยู่ภายในก้นหลุม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทำนายชะตาเมืองว่า

จะอยู่ในเกณฑ์ร้ายนับจากวันยกเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน จึงสิ้นพระเคราะห์ ทั้งยังทรงทำนายว่า จักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลา 150 ปี ชะตาแผ่นดินที่ร้ายถึงเจ็ดปีเศษนั้น เป็นช่วงที่ไทยติดพันศึกพม่าจนถึงศึกเก้าทัพ ซึ่งสิ้นสุดการพันตูหลังครบห้วงเวลาดังกล่าว ส่วนคำทำนายว่าจักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไป 150 ปีนั้น ไปครบเอาปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี

กรณี คำทำนายการดำรงวงศ์กษัตริย์เป็นเวลา 150 ปี ไม่เป็นไปตามคำทำนาย เพียงเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข กรณีนี้โหราจารย์ให้ความเห็นว่า คงเนื่องด้วยพระบารมีของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงแก้อาถรรพณ์ถอนเสาหลักเมืองและวางดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรง ตรวจดวงพระชะตาและพบว่า เป็นอริกับลัคนาดวงเมือง ประกอบกับเสาหลักเมืองต้นเดิมชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง เสาหลักเมืองขึ้นใหม่ โดยมีแกนเป็นไม้สัก และประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ส่วนยอดเป็นทรงมัณฑ์ และทำพิธีในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395 พร้อมกันนั้นได้บูรณะ “ศาลหลักเมือง” ขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่นั้นมา เสาหลักเมืองของกรุงเทพฯ จึงมี 2 ต้น โดยต้นเดิมจะสูงกว่าต้นใหม่

ด้วยเหตุนี้ เสาหลักเมืองที่ประดิษฐาน ณ ศาลพระหลักเมืองจึงมีสองต้น เสาเดิมครั้งรัชกาลที่ 1 คือต้นสูง ที่ได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว แต่หาที่เก็บที่เหมาะสมไม่ได้ จึงคงไว้ แกนในเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้จันทน์ประดับนอก ลงรักปิดทอง หัวเสาเป็นทรงบัวตูม ภายในกลวงสำหรับบรรจุชะตาพระนคร ดวงนี้อยู่ใจกลางยันต์สุริยาทรงกลด จารึกในแผ่นทอง เงิน นาก


ในการตั้งเสาหลักเมืองของไทยทุกเมืองนั้น มิใช่ว่าจะเป็นเพียงเสาหลักเมืองหรือเสาไม้ เสาหิน ธรรมดาต้นหนึ่งเท่านั้นก็หาไม่ แต่ความจริงนั้นในปลายเสาหลักเมือง ซึ่งมักจะทำเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์นั้น เขาจะบรรจุดวงชะตาของเมืองที่จะสร้างขึ้นใหม่ไว้ด้วย การวางชะตาเมืองนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว ซึ่งโหรหลวงจะต้องผูกชะตาเมืองถวาย พร้อมกับทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองล่วงหน้าได้

มีเรื่องเล่ากันมาว่า.....เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้โหรผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯ ที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบคือดวงเมืองแบบหนึ่ง บ้างเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ทว่าจะต้องมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่ประเทศไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ส่วนอีกดวงเมืองหนึ่งนั้น ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป

ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเลือกดวงเมืองตามแบบหลัง เพราะพระองค์คงจะทรงเห็นว่าการที่จะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหนก็ไม่ความหมายอันใด เมื่อสิ้นความเป็นไทย เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์อยู่ไม่น้อย ที่ในสมัยในรัชกาลที่ 4 – 5 นั้น บ้านเมืองต่าง ๆ โดยรอบประเทศไทย ไม่ว่าลาว เขมร พม่า มลายู ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสและอังกฤษจนหมดสิ้น แม้แต่ประเทศใหญ่อย่างอินเดีย ก็ยังตกเป็นของอังกฤษ มีแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่รักษาเอกราชคงความเป็นไทมาได้


เรื่องของการตั้งเสาหลักเมือง ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเล่ากันมาอยู่เสมอว่า เพื่อให้หลักเมืองศักดิ์สิทธิ์และเฮี้ยน มักจะมีการนำคนมาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสาหลักเมืองด้วย (เหมือนกับประเพณีบูชายันต์ของศาสนาพราหมณ์ในอดีต ที่ให้ฆ่าสัตว์เป็น ๆ 10 ชนิด มี เด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง ช้าง ม้า ฯลฯ บูชายันต์ ซึ่งพระพุทธศาสนาสอนให้เลิกพิธีแบบนี้ หันมาพระราชทานสิ่งของดีกว่า – ดูในพระไตรปิฎก มีหลายสูตร) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแก่ที่เล่ากันมาแพร่หลายจริง ๆ ไม่แต่เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสาหลักเมืองในเมืองอื่น ๆ ของไทยอีกด้วย

เสาหลักเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีเรื่องเล่าว่า นำสามเณร ชื่อ มั่น และ คง มาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสา เล่ากันมาว่าก่อนจะตั้งเสาหลักเมืองนั้น เจ้าเมืองได้ป่าวร้องหาคนที่ชื่อ มั่น และ คง เพื่อจะนำตัวมาฝังพร้อมกับเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ปรากฏว่าไปเจอสามเณรพี่น้องสององค์ชื่อมั่นและคงตามที่ต้องการพอดี

จึงให้นำสามเณรมั่นและสามเณรคง มาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อให้บ้านเมืองมั่นคงตามเคล็ดที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ เรื่องนี้จะเท็จจริงประการใดไม่ทราบได้ เพราะเป็นตำนานเก่าแก่ ที่ชาวเมืองเพชรบูรณ์เล่าสืบกันมา แต่ก็น่าแปลกที่ว่า ศาลหลักเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ในทุกวันนี้ ทำเป็นสองหลังแฝดติดกัน เพื่อให้ตรงกับตำนานที่เล่ามาถึงสามเณรมั่นและสามเณรคงนั่นเอง

ในปัจจุบันนี้ ภายในศาลพระหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้นนอกจากพระหลักเมืองแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์สำคัญ 5 องค์ที่ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาราษฏร์ทั้งปวง การที่เทวรูปต่าง ๆ มารวมกันอยู่ที่ศาลหลักเมือง ทำให้ศาลหลักเมืองกลายเป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ

เสาหลักเมือง มักจะเป็นที่บนบานศาลกล่าว ใครปรารถนาหรือต้องการอะไร ก็ไปบนกับเจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อสมปรารถนาแล้วก็ไปแก้บน อย่างที่เห็นอยู่ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ก็มีการแก้บนกันทุกวัน ทั้งด้วยหัวหมู บายศรี ของคาวหวาน และละครชาตรี หรือในต่างจังหวัดนั้น นิยมบนบานถวายพาหนะให้เจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อสมคิดแล้วก็นำช้างไม้บ้าง ม้าไม้บ้าง ไปถวายเจ้าพ่อหลักเมืองเต็มศาลอย่างหนาแน่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook