"ลักพระศพ" ธรรมเนียมปฏิบัติจากอดีตสู่ปัจจุบัน
คำว่า “ลักพระศพ” เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าพนักงานภูษามาลา ที่ใช้พูดถึงขั้นตอนการอัญเชิญพระศพไปยังพระเมรุก่อนงานพระราชพิธี จะรีบกระทำในเวลากลางคืน หรือเช้ามืดก่อนงานพระราชพิธี โดยจะอัญเชิญพระโกศทรงพระศพออกจากตำหนัก หรือวังที่ประทับ ขึ้นยังพระราชยานรถม้า หรือราชยานคนหาม ไปยังสถานที่ใดที่หนึ่ง เพื่อตั้งรอริ้วขบวนงานพระราชพิธีที่จะเกิดขึ้นในตอนเช้า ดังตัวอย่างเหตุการณ์ลักพระศพที่เคยบันทึกเอาไว้ คือ
เมื่อปี พ.ศ. 2430 ในงานพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา องค์ต้นราชสกุล มาลากุล ได้จัดขึ้นที่วังถนนหน้าพระลาน บริเวณท่าพระ เมื่อถึงกำหนดต้องพระราชทานเพลิงนั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพลงยังเรือพระประเทียบในเช้ามืดของวันนั้น จากนั้นล่องพระศพโดยขบวนเรือจากท่าพระไปยังท่าเตียน โดยบนเรือนั้นมีเหล่าพระโอรสเข้าประคองพระโกศอยู่ ขบวนเรือล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปถึงท่าเตียน จึงชักพระศพขึ้นบนท่า จากนั้นอัญเชิญพระศพไปยังท้ายวัดพระเชตุพนฯ ณ ที่นั้นขบวนราชยันตรารถรอรับอยู่เพื่อเข้าพิธีออกพระเมรุในช่วงสาย
อนึ่ง การลักพระศพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกพระศพ แต่จะเกิดขึ้นกับบางกรณีเท่านั้น เช่น วังที่ตั้งพระศพนั้นอยู่ไกล หรือ อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ห่างไกลจากวัดจากพระเมรุ ที่จะทำการพระราชทานเพลิง ดังนั้นการลักพระศพก็คือ การอัญเชิญพระศพมายังสถานที่ ที่สะดวกต่อการจัดริ้วขบวน เเละที่สำคัญคือเป็นการย่นเวลาให้เร็วขึ้น
มาถึงยุคปัจจุบัน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ธรรมเนียมการปฏิบัติเกี่ยวกับพระบรมศพ และพระศพของพระราชวงศ์นั้นได้มีการปรับเปลี่ยนไปมากจากอดีต เห็นได้อย่างชัดเจนเรื่องหนึ่งก็คือ มีการนำหีบมาใช้ทรงพระศพแทนการใช้พระโกศ ดังนั้นเมื่อพระศพประดิษฐานลงหีบ พอถึงวันแห่จึงทำให้บนพระมหาราชรถนั้นมีเพียงพระโกศเปล่า
เนื่องจากพระมหาราชรถสร้างไว้ตั้งแต่ต้นกรุงออกแบบให้วางได้เฉพาะพระโกศเท่านั้น หีบทรงพระศพจึงไม่สามารถขึ้นวางบนพระมหาราชรถได้ เจ้าพนักงานจึงต้องทำการลักพระศพล่วงหน้าไปก่อนในเวลากลางคืน โดยอัญเชิญหีบทรงพระศพเข้ายังรถตู้ยนต์พระที่นั่ง จากนั้นตั้งขบวนเคลื่อนไปยังท้องสนามหลวง พอถึงก็ชักพระศพขึ้นยังพระเมรุเพื่อรอริ้วขบวนพระราชพิธี ที่จะแห่พระโกศเปล่าตามมาในภายหลังดังหมายกำหนดการ
จากภาพซ้ายคือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ประสูติแต่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี
จากภาพขวาคือ การอัญเชิญพระบรมศพ และพระศพในอดีต