ตามรอย "บุพเพสันนิวาส" รู้จักวัฒนธรรมและประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา
"บุพเพสันนิวาส" ที่นำพาดวงใจสองดวงให้มาบรรจบกัน
เรื่องราวจากละครละครแนวพีเรียด-คอมเมดี้ที่กำลังเป็นกระแสมาแรง นอกจากความสนุกก็ยังมีในเรื่องของประวัติศาสตร์ ที่สอดแทรกสาระความรู้ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างในสมัยอยุธยา ซึ่ง Sanook! Horoscope ขอนำท่านมาย้อนรอย รู้จักวัฒนธรรมและประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าเป็นเช่นไร
ย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. 2225 หรือย้อนไปประมาณ 300 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงครองราชย์ ในรูปสังคมนั้นโดยทั่วไปเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ มีลักษณะดังนี้
ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างสมัยอยุธยา
การก่อรูปสังคมนั้น โดยทั่วไปย่อมเป็นหมู่บ้านตามที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ ลักษณะการก่อรูปของสังคมไทยโบราณก็เป็นไปลักษณะนี้
1. บ้านเรือนสมัยอยุธยา สร้างเป็นหลังขนาดย่อมๆ
2. ผู้หญิงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่าผู้ชาย
3. ชอบเล่นการพนันกันอย่างกว้างขวาง
4. ชอบสูบยาเส้น และสูบกันอย่างกว้างขวาง
5. นิยมให้ลูกชายได้ศึกษาเล่าเรียนโดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา
การเลื่อนชนชั้นในสังคมอยุธยาแม้ไม่มีกฎข้อห้ามในทางทฤษฎีว่าเลื่อนชั้นไม่ได้แบบอินเดีย แต่ในทางปฏิบัติ มักจะทำได้ยากเพราะขุนนางย่อมไม่สนับสนุนไพร่ให้เข้ารับราชการซ้ำยังกีดกันเพราะอำนาจ อภิสิทธิ์ เกียรติยศที่ขุนนางได้รับได้มาเพราะตำแหน่งราชการ เมื่อออกจากราชการก็จะหมดทั้งอำนาจ อภิสิทธิ์และเกียรติยศ จึงไม่สนับสนุนบุคคลอื่นให้เข้ารับราชการนอกจากลูกหลานของตนเอง
ทาสสมัยอยุธยา
เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมอยุธยามีทาสไว้ใช้ ทาสเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมสมัยอยุธยาและกฎหมายอยุธยาก็ได้ยอมรับการมีทาส มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทาสไว้มากมายและได้แบ่งประเภทของทาสไว้ ๗ พวกด้วยกันคือ
1. ทาส
2. ทาสเกิดในเรือนเบี้ยสินไถ่
3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา
4. ทาสท่านให้
5. ทาสอันได้ช่วยเหลือในยามโทษทัณฑ์
6. ทาสอันได้เลี้ยงมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย
7. ทาสอันได้ด้วยเชลย
จะเห็นว่า ทาสในสมัยอยุธยานั้น เป็นทาสที่ถูกกฎหมายคุ้มครอง เป็นทาสที่มีสภาพเป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของชาติอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นคนไทยในสมัยอยุธยาจึงสมัครใจจะเป็นทาสมากกว่าจะเป็นขอทาน เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกิน มีที่อยู่อาศัยโดยไม่เดือดร้อน
CH3 Thailand
ศิลปะและวัฒนธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา
ปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม คือ สภาพความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ของประชาชนพลเมือง เนื่องด้วยดินดี มีปุ๋ยธรรมชาติ ปลูกข้าวได้ดี และข้าวก็มีรสอร่อยได้ผลเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากร และเหลือส่งไปขายเมืองจีน และเมืองอื่น ๆ ปีละไม่น้อย การเกษตรให้ผลดีด้วยดินดี บางแห่งแม้อยู่บนเขา ก็มีคนไปปลูกพืชทำไร่ให้เขียวชอุ่มไปทั่ว ความอุดมสมบูรณ์ของกรุงศรีอยุธยาดังเช่นที่ว่ามานี้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความร่มเย็นผาสุก ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาศิลปวัฒนธรรมให้เจริญรุ่งเรือง
วัฒนธรรมและประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา
ดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้มีความเป็นมายาวนาน จึงมีวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจากจีน อินเดีย ขอม มอญ และประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ วัฒนธรรมสมัยอยุธยาจึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยแท้ และวัฒนธรรมที่รับจากต่างชาติ แล้วนำมาดัดแปลงให้เหมาะสม วัฒนธรรมต่างชาติที่รับเข้ามามากที่สุด คือ วัฒนธรรมอินเดีย แต่มิได้รับโดยตรง รับต่อจากขอม มอญ และจากพวกพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายต่อ ๆ กันมาอีกทีหนึ่ง บางอย่างยังปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้ ที่เห็นได้เด่นชัด คือ วัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นอยุธยายังรับวัฒนธรรมจากอาณาจักรไทยอื่น ๆ เช่น รับเอารูปแบบตัวอักษรและการเขียนหนังสือจากสุโขทัยวัฒนธรรมที่สำคัญมีดังนี้
1. วัฒนธรรมการแต่งกาย การแต่งกายมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในการสร้างความสุขใจได้ทางหนึ่ง ด้วยเหตุที่มนุษย์รักงาม และเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากนัก วัฒนธรรมการแต่งกายของคนในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยภาวะของบ้านเมือง สมัยอยุธยามีการแต่งกายดังนี้
1.1 การแต่งกายของคนชั้นสูง คนชั้นสูงแต่งกายตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชการ ซึ่งเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายใช้กัน และพวกผู้ดีมีสกุล ผู้หญิงทั้งหลายถือเป็นแบบอย่างเพราะแสดงให้เห็นว่าอยู่ในสังคมชั้นสูง
1.2 การแต่งกายของชาวบ้าน ชาวบ้านจะนุ่งโจงกระเบน พวกทางเหนือ ผู้ชายมักไว้ผมยาว ส่วนพวกทางใต้มักตัดผมให้สั้น สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผู้ชายตัดผมทรงมหาดไทย ส่วนผู้หญิงคงไว้ผมยาวและห่มผ่าสไบ
1.3 การแต่งกายยามเกิดสงคราม ยามสงครามผู้หญิงอาจต้องช่วยสู้รบหรือให้การสนับสนุน มีการเปลี่ยนทรงผมตัดผมให้สั้นดูคล้ายชาย ทะมัดทะแมงเข้มแข็งขึ้น การนุ่งห่มต้องให้รัดกุม แน่นไม่รุ่มร่าม เคลื่อนไหวได้สะดวก ห่มผ้าแบบตะเบ็งมาน ส่วนผู้ชายไม่เปลี่ยนแปลง
CH3 Thailand
ประเพณีการแต่งผมสตรีชาวอยุธยา ผมชาวสยามนั้นดำหนาและสลวย และทั้งชายหญิงไว้ผมสั้นมาก ผมที่ขอดรอบกระหม่อมยาวเพียงถึงชั่วแค่ปลายใบหูข้างบนเท่านั้น ผมข้างล่างจนถึงท้ายทอยนั้น ผู้ชายโกนเกลี้ยงและความนิยมกันอย่างว่านี้เป็นที่พอใจชาวสยามมาก แต่ผู้หญิงปล่อยผมกลางกระหม่อมยาวหน่อย ไปล่ขึ้นเป็นปีกตรงหน้าผาก กระนั้นก็ยังไม่รวมเข้าเกล้ากระหมวดเกศ
2. กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประเพณีสำคัญที่นับเป็นพระราชพิธีสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งควรจะนำมาระบุไว้ได้แก่ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เป็นประเพณีที่จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี และในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด ทางราชการได้จัดกระบวนพยุหยาตราเต็มยศขึ้นเรียกว่า กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ปรากฏว่าต้องใช้คนตั้งแต่ 10,000 คนเข้าริ้วกระบวน อันนับเป็นริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่และมโหฬารที่สุด เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลของเราเล็งเห็นความสำคัญของการจัดกระบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค ซึ่งกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดให้มีขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ เท่ากับเป็นการรักษาประเพณีประจำชาติไว้โดยแท้
3. ประเพณีเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบเอ็ดนี้ สมัยกรุงศรีอยุธยามีพิธีแผ่นดินที่สำคัญมากอยู่พิธีหนึ่ง คือพิธีแข่งเรือ เรือหลวงที่เข้าแข่งชื่อเรือสมรรถไชยของพระเจ้าอยู่หัว กับเรือไกรสรสุข ของสมเด็จพระมเหสี การแข่งเรือนี้ยังเป็นการเสี่ยงทายอีกด้วย คือถ้าเรือสมรรถไชยแพ้ก็แสดงว่าข้าวเหลือเกลืออิ่ม พลเมืองเป็นสุข ถ้าสมรรถไชยชนะ บ้านเมืองก็จะมีเรื่องเดือดร้อน
4. ประเพณีเดือนสิบสอง ประเพณีลอยกระทงในเดือนสิบสองเป็นประเพณีที่ประชาชนไทยนิยมชื่นชมกันหนักหนา เพราะก่อให้เกิดความสุขการสุขใจเป็นพิเศษนั่นเอง ก่อนที่จะนำคำประพันธ์ของ นายมี ที่บรรยายถึงเดือนสิบสองมาลงไว้ประกอบเรื่องก็ใคร่จะเขียนเสนอท่านผู้อ่าน ให้ทราบว่าในเดือนสิบสอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีประเพณีพระราชพิธีอะไรบ้าง มี (1) พระราชพิธีจองเปรียงตามประทีป (ชักโคม) ในพระราชวังแลตามบ้านเรือนทั้งในรพระนครและนอกพระนครทั่วกัน กำหนด 15 วัน (2) ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ โปรดให้ทำจุลกฐิน คือทอดผ้าให้เสร็จในวันเดียวแล้ว (เอาผ้าผืนนั้นพระราชทานกฐิน)
5. ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสงกรานต์แต่ละแห่งย่อมผิดแผกแตกต่างกันไป และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากจะกล่าวถึงพระราชพิธีละแลงสุก(เถลิงศก) เมื่อสงกรานต์แทน (1) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จไป สรงน้ำพระพุทธปฏิมากร ศรีสรรเพชญ์ พระพิฆเนศวร (2) โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำ รับพระราชทานอาหารบิณฑบาต จตุปัจจัยทาน ที่ในพระราชวังทั้ง 3 วัน (3) ทรงก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีการฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย (4) ตั้งโรงท่อทานเลี้ยงพระแลราษฎรซึ่งมาแต่จตุรทิศ มีเครื่องโภชนาอาหารคาวหวาน น้ำกิน น้ำอาบและยารักษาโรค พระราชทานทั้ง 3 วัน
6. ประเพณีการลงแขกทำนา ประเพณีลงแขกทำนานับเป็นประเพณีอีกประเพณีหนึ่งที่ชาวกรุงศรีอยุธยารักษาเอา ไว้ คือ เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนาก็ช่วยกันเก็บเกี่ยว ร้องรำทำเพลงกันไปบ้าง ได้ทั้งงานได้ทั้งความเบิกบานสำราญใจและไมตรีจิตมิตรภาพ ทุกวันนี้ก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง ความรักพวกพ้องของชาวกรุงศรีอยุธยา เป็นการปฏิบัติเข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า โบราณว่า ถ้าเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันถึงลักษณะนิสัยใจคอของคนไทยในสมัยก่อนอีกกรณีหนึ่ง
7. วัฒนธรรมทางวรรณกรรม ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองมากที่สุดสุดจะพรรณนาให้จบสิ้นได้จะขอยกมากล่าวเฉพาะ วัฒนธรรมทางวรรณกรรมแต่อย่างเดียว ผู้เขียนวรรณกรรมสมัยเก่ามักจะขึ้นต้นเรื่องด้วยคำยกย่องพระเกียรติยศของพระ มหากษัตริย์ไทย และสรรเสริญความงามความเจริญของเมืองไทย เช่น ลิลิตพระลอ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีชิ้นเอก สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และขุนช้างขุนแผน จัดเป็นวรรณกรรมที่มีความหมายเกี่ยวกับความเป็นระเบียบในการกินอยู่ ซึ่งนับเป็นความเจริญทางวัตถุ เช่นตอนชมเรือนขุนช้าง