เจาะลึกเรื่อง “ชีซ่า” เทพเจ้าผู้ปกปักษ์คุ้มครองโอกินาว่า

เจาะลึกเรื่อง “ชีซ่า” เทพเจ้าผู้ปกปักษ์คุ้มครองโอกินาว่า

เจาะลึกเรื่อง “ชีซ่า” เทพเจ้าผู้ปกปักษ์คุ้มครองโอกินาว่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอกินาว่าเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและเต็มไปด้วยของดีและที่เที่ยวดังมากมาย และสิ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “ชีซ่า” รูปปั้นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายสิงโตที่พบเห็นได้ทั่วไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในโอกินาว่า ว่าแต่เพื่อน ๆ รู้หรือเปล่าว่าชีซ่ามีความเป็นมายังไงบ้าง?

เพื่อไขข้อสงสัย ANNGLE จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับความเป็นมาของเทพเจ้าชีซ่าผู้ปกปักษ์คุ้มครองโอกินาว่า แบบรู้ลึกรู้จริงขนาดที่แม้แต่คนโอกินาว่าเองอาจจะไม่รู้เลยล่ะ!

ที่มาของคำว่า “ชีซ่า”

 

ชีซ่า คือชื่อเรียกสัตว์นำโชคในตำนานของโอกินาว่า ซึ่งชาวโอกินาว่าได้ให้คำอธิบายที่มาของคำว่า “ชีซ่า” เอาไว้ 2 ข้อ คือ

1. คำว่า สิงโต ในภาษาญี่ปุ่น อ่านว่า ชิชิ (獅子) ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาจีนที่ใช้กันเฉพาะในฝั่งตะวันตกของจีนเท่านั้น แต่ที่โอกินาว่าจะเรียกสิงโตว่า “ชีซ่า” หรือ “ชีชี” ในภาษาถิ่น ก็เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ “ชีซ่า”

2. ภาษาถิ่นของโอกินาว่าจะเรียก เนื้อ ว่า ชิชิ (シシ) ในสมัยที่ยังมีการล่าสัตว์อยู่นั้น สัตว์ที่ล่ามาได้ส่วนใหญ่จะเป็นหมูป่าและกวาง ซึ่งคนโอกินาว่าจะเรียกหมูป่าว่า “อิโนชิชิ” และเรียกกวางว่า “คาโนชิชิ” ไป ๆ มา ๆ ชื่อเรียกเนื้อก็กลายมาเป็นที่มาของ “ชีซ่า” ในที่สุด

ต้นกำเนิดและความเป็นมาของ “ชีซ่า” เทพเจ้าแห่งโอกินาว่า

หนังสือประวัติศาสตร์คิวโย (球陽) ในสมัยอาณาจักรริวกิวได้บันทึกเอาไว้ว่า ราวปีค.ศ. 1689 ที่หมู่บ้านโทมิโมริ (富森村) เมืองโคจินดะ (東風平) มักจะเกิดเพลิงไหม้ขึ้นบ่อย ๆ จึงได้ให้ปรมาจารย์ฮวงจุ้ยไซอนซุย (蔡王瑞) มาช่วยดูฮวงจุ้ย โดยให้วางรูปปั้นชีซ่าหินหันหน้าไปทางภูเขาไฟยาเอเสะ (八重瀬) ที่อยู่เหนือหมู่บ้านโทมิโมริขึ้นไปเป็นการแก้เคล็ดเพื่อป้องกันไฟไหม้ ซึ่งชีซ่าหินตัวนี้เองคือจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของเทพชีซ่าแห่งโอกินาว่า

ว่ากันว่าชีซ่าหินของหมู่บ้านโทมิโมรินี้เป็นชีซ่าที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน และได้รับการจดทะเบียนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของโอกินาว่า โดยมีความสูง 1.4 เมตร และความยาว 1.75 เมตร

ชีซ่าเพศชายและเพศหญิงกับความหมายที่แตกต่าง

รู้หรือไม่? รูปปั้นชีซ่าที่พบเห็นได้ทั่วไปในจังหวัดโอกินาว่านั้นมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย เพราะชีซ่าก็เปรียบได้กับสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งบนโลกใบนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีเพศเหมือนกับสัตว์ทั่วไป แต่เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าชีซ่าตัวไหนเป็นตัวผู้ ตัวไหนเป็นตัวเมีย?

ง่ายนิดเดียว ถ้าอยากรู้เพศของชีซ่า ให้สังเกตที่ “ปาก” ถ้าเป็นตัวผู้จะ “อ้าปาก” และถ้าเป็นตัวเมียจะ “ปิดปาก” นั่นเอง ชีซ่าตัวผู้จะคอยจับปีศาจและสิ่งชั่วร้ายที่เข้ามา ส่วนชีซ่าตัวเมียจะช่วยปกป้องเราจากภัยพิบัติและเก็บรักษาความสุขที่เรามีอยู่ไว้ไม่ให้หลุดลอยหายไป

ตำแหน่งและวิธีการวางชีซ่าที่เหมาะสม

ชีซ่าเปรียบได้กับเทพที่คอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านของเรา สำหรับใครที่ไปโอกินาว่าแล้วเลือกซื้อรูปปั้นชีซ่าตัวเล็ก ๆ กลับมาวางประดับบ้าน จึงควรรู้เรื่องของตำแหน่งและวิธีการวางชีซ่าที่เหมาะสมเอาไว้ด้วย ปกติแล้วเราสามารถวางชีซ่าไว้กี่ตัวก็ได้โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องวางตัวผู้และตัวเมียคู่กัน

แต่โดยทั่วไปมักจะวางไว้เป็นคู่ ๆ โดยวางตัวเมียไว้ทางซ้ายและวางตัวผู้ไว้ทางขวา (ยกเว้นกรณีที่วางไว้บนหลังคาส่วนใหญ่จะวางชีซ่าตัวผู้ไว้ตัวเดียว) ข้อควรระวังในการวางชีซ่าคือ ระวังอย่าหันหน้าชีซ่าตัวผู้และตัวเมียเข้าหากัน เพราะจะเป็นการลดพลังของชีซ่าลง

ชาวโอกินาว่ามีความเชื่อว่าปีศาจและสิ่งชั่วร้ายมักจะเคลื่อนที่ไปตามทางคนเดิน ดังนั้นจึงควรวางชีซ่าไว้ในที่ ๆ เราเดินผ่านประจำเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป เช่น หน้าทางเข้าบ้าน หรือบริเวณที่มีลมพัดผ่าน เช่น ระเบียง เป็นต้น  รู้ลึกรู้จริงเรื่องชีซ่ากันเลยทีเดียว ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวโอกินาว่าก็อย่าลืมลองสังเกตชีซ่าตามสถานที่ต่าง ๆ ดูนะว่าเป็นอย่างที่บอกหรือเปล่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook