ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการผูกเซียมซีในศาลเจ้าญี่ปุ่น
ที่ญี่ปุ่นมีศาลเจ้าลัทธิชินโตอยู่มากมายทั่วทุกที่ แม้วิธีการไหว้ขอพรจะไม่เหมือนกับวัดของไทยเรา แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันก็คือ การเสี่ยงเซียมซีของศาลเจ้าญี่ปุ่นหรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอมิกุจิ” ก็เหมือนๆกับบ้านเราที่จะมีคำทำนายทั้งดีและไม่ดี หลายคนมีความเชื่อว่าถ้าได้เซียมซีที่ไม่ดีก็ให้เอาผูกทิ้งไว้ที่ศาลเจ้า อย่าเอาโชคร้ายกลับไป ส่วนใบไหนที่ดีก็เก็บไว้เอากับตัวใช่ไหมละคะ แต่ที่จริงแล้วตามความเชื่อญี่ปุ่น “การผูก” เซียมซีคือ “การผูก” โชคชะตาเข้ากับพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเซียมซีที่ดีหรือไม่ดีสุดท้ายแล้วก็จะต้องนำมาผูกคืนไว้กับพระเจ้า คราวนี้เราก็เลยจะนำรายละเอียดเกี่ยวกับการผูกเซียมซีมาฝากเพื่อนๆที่ชอบไปไหว้พระตามศาลเจ้านะคะ
ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรกับเซียมซีก็ได้
ว่ากันว่าในเซียมซีมีจิตวิญญาณของเทพเจ้าหลายๆองค์สถิตอยู่เหมือนกับเครื่องรางอื่นๆ ดังนั้นจะนำไปทิ้งตามถังขยะไม่ได้เป็นอันขาด
สักวันหนึ่งจะต้องเอากลับไปคืนที่วัดหรือศาลเจ้า
สำหรับใครที่เอาเซียมซีกลับบ้าน จะต้องรักษาให้ดี เช่น ใส่ในกระเป๋าสตางค์และพกพาไปไหนมาไหนด้วย ถึงแม้จะไม่มีระยะเวลากำหนดไว้แน่ชัดว่าจะต้องเอาเซียมซีไปคืนที่ศาลเจ้าเมื่อไร แต่จะต้องพับแล้วเอาไปคืนในที่ที่ศาลเจ้าเตรียมไว้ ซึ่งการเอาเซียมซีโชคดีไปคืนที่ศาลเจ้านี้ถือว่าเป็นการนำความรู้สึกขอบคุณกลับไปตอบแทนนั่นเอง
ถ้าไม่มีที่ให้ผูกเซียมซี “โชคร้าย” จะทำอย่างไร
หากวัดหรือศาลเจ้าไหนไม่มีที่ให้ผูกเซียมซีที่ไม่ดีละก็ อย่าฝืนที่จะทิ้งไว้ที่นั่นเลยนะคะ ตามหลักแล้วให้เพื่อนๆเอากลับบ้านไปก่อน เพราะเซียมซีถือเป็น “คำแนะนำจากพระเจ้า” เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้เราพยายามหาทางนำพาชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่าไม่อยากเอาเซียมซีที่ไม่ดีพกติดตัว ก็สามารถนำไปผูกคืนไว้ที่วัดหรือศาลเจ้าที่อยู่ใกล้เคียงกันก็ได้ เพราะที่ศาลเจ้าก็จะรับเอาเซียมซีคืนไป หรือไม่ก็ทำพิธีจัดการเผา (O Takiage) ให้เรา
สิ่งที่สำคัญสำหรับการเสี่ยงเซียมซี ไม่ว่าจะออกมาดวงดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่เราต้องนำเอาคำชี้แนะในเซียมซีมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะเซียมซีก็เปรียบเสมือนเป็นข้อความจากพระเจ้า ไม่สำคัญที่ว่าจะทิ้งไว้ที่ศาลเจ้า หรือพกติดตัวเอาไว้ แต่ตัวเรานี่แหละจะปฏิบัติตนต่อคำแนะนำเหล่านั้นอย่างไรเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นโดยมีตัวเองเป็นผู้กำหนดหนทาง