รวมวัดศักดิ์สิทธิ์ประจำรัชกาลที่ ๑-๑๐ ที่ควรสักการะเพื่อความรุ่งเรือง
หากเอ่ยถึงวัดสำคัญ ๆ ของไทย เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมีวัดประจำรัชกาลด้วย ดังนั้นวันนี้โฮโรโซไซตี้ขอพาแฟน ๆ ไปรู้จักวัดเหล่านี้กันดีกว่าค่ะว่าแต่ละวัดจะมีความสำคัญกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์ไหนอย่างไรบ้าง เผื่อว่าแฟน ๆ อาจจะอยากเก็บไว้เป็นลายแทง แล้วตามไปสักการะกันค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 1 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
หรือที่ทุกคนมักจะเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” เป็นวัดเก่าแก่ประจำรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ถือว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนกว่า 99 องค์ และที่สำคัญคือทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้วัดนี้เป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และต่อมาก็ได้ขึ้นทะเบียนจารึกเป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติอีกด้วย
วัดประจำรัชกาลที่ 2 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชื่อเดิมแต่ก่อนเลยคือ “วัดมะกอก” จากนั้นได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดแจ้ง” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ แล้วพระราชทานชื่อใหม่ให้ว่า “วัดอรุณราชธาราม” และจากนั้นก็มีการเปลี่ยนชื่อใหม่มาอีกเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นชื่อปัจจุบันนั่นเองค่ะ ทั้งนี้หากเรียก “วัดแจ้ง” หรือ “วัดอรุณ” เราน่าจะคุ้นหูกันมากกว่า แต่ไม่ว่าจะชื่อไหนวัดแห่งนี้ก็ยังคงความศักดิ์สิทธิ์และมีความงดงามเสมอมาค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 3 วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
แต่ก่อนเคยมีชื่อว่า “วัดจอมทอง” โดยได้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ต่อมาได้ทรงพระราชทานนามใหม่ให้ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึงพระราชโอรส ซึ่งก็คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั่นเอง และเนื่องจากพระองค์ทรงนิยมศิลปะจีน ดังนั้นรูปทรงของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมต่าง ๆ ของวัดแห่งนี้จึงเป็นศิลปะประยุกต์แบบไทยผสมจีนค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 4 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีโบราณ ชื่อเดิมคือ “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” แต่เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” ซึ่งประโยชน์สองประการในการสร้างวัดนี้ขึ้นได้แก่ ให้เป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ และให้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง
วัดประจำรัชกาลที่ 5 และ 7 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง โดยมีลักษณะของการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับตะวันตก และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ โดยที่คำว่า “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ส่วนคำว่า “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด
วัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาล นอกจากนี้ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 อีกด้วย แม้ว่าในสมัยของพระองค์จะไม่ได้มีการสร้างวัด แต่ท่านก็ได้ทรงทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธแห่งนี้ ดังนั้นจึงถือเป็นวัดประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามนี่เป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีค่ะ
วัดประจำรัชกาลที่ 6 และ 9 วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร
ชื่อเดิมคือ “วัดใหม่” เป็นการสร้างแบบผสมผสานศิลปะไทยกับจีนเข้าด้วยกัน โดยถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พระองค์ก็ได้ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้ากับวัดบวรนิเวศวิหาร โดยภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญ ๆ อยู่มากมาย อีกทั้งยังมีความใหญ่โต และดูทันสมัยด้วย อย่างไรก็ตามวัดบวรนิเวศถือเป็นวัดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รวมทั้งรัชกาลที่ 9 ได้ทรงผนวช อีกทั้งหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ด้วย ดังนั้นก็ถือเป็นวัดประจำพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน
วัดประจำรัชกาลที่ 8 วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีชื่อเรียกอีกมากมาย อาทิ “วัดสุทัศน์” “วัดพระใหญ่” “วัดพระโต” แต่ที่เป็นที่คุ้นหูคนไทยและเรียกกันติดปากมากที่สุดจะเป็น “วัดเสาชิงช้า” เนื่องจากอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า ส่วนภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี และในวันที่ 9 มิถุนายนของทุก ๆ ปี จะมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่าน
วัดประจำรัชกาลที่ 9 วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในปีพ.ศ.2538 โดยมีที่มาจากสภาพสังคมไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ได้ส่งผลกระทบหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะปัญหาน้ำเน่าเสีย ดังนั้นจึงทรงให้มีการทดลองแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ เรื่อยมา จนดำเนินการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น นอกจากนี้วัดพระราม 9 แห่งนี้ ยังเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคมสีมา และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย ในส่วนของพระอุโบสถจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยโบราณกับสมัยใหม่ ดังนั้นจึงทำให้วัดนี้มีเอกลักษณ์ และยังยึดคำนึงถึงประโยชน์แห่งการใช้สอยอย่างพอเพียงเป็นสำคัญ
วัดประจำรัชกาลที่ 10 วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร
“วัดทุ่งสาธิต” ที่แต่ก่อนเคยถูกปล่อยให้เป็นวัดร้าง เนื่องจากเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายมรณภาพ จึงทำให้ไม่มีใครดูแลต่อ ต่อมาในปีพ.ศ.2506 วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ หรือรัชกาลที่ 10 ทรงรับวัดทุ่งสาธิตแห่งนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมพระราชทานนามใหม่ให้ว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร”
นี่เป็นประวัติของแต่ละวัดเพียงคร่าว ๆ ที่เรานำมาฝากกันนะคะ อย่างไรก็ตามบางสื่อได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมีเพียงรัชกาลที่ 1-5 เท่านั้น และได้ยกเลิกโบราณราชประเพณีนี้ไป แต่จริง ๆ แล้ววัดทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญกับทั้งประวัติศาสตร์ไทยและพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีค่ะ ดังนั้นใครที่กำลังตามหาลายแทงวัดสำคัญ ๆ ของไทยอยู่ ยังไงลองตามไปสักการะกันดูนะคะ นอกจากจะสวยงามและมีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว รับรองว่าชีวิตรุ่งเรืองขึ้นแน่นอนจ้า