ป้ายขอพร “เอมะ” ในศาลเจ้าญี่ปุ่นคืออะไร? มาเรียนรู้ที่มาและวิธีการเขียนคำอธิษฐานที่คุณอาจยังไม่รู้กัน
ป้ายขอพร “เอมะ” (絵馬) เป็นแผ่นไม้ขนาดเท่าฝ่ามือ มีไว้สำหรับเขียนคำอธิษฐานให้สมหวังหรือเขียนขอบคุณหลังคำอธิษฐานสมหวัง ซึ่งจะได้รับเมื่อเราทำบุญให้วัดหรือศาลเจ้าในลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่น โดยในอดีต แผ่นป้ายขอพรเอมะจะมีภาพวาดรูป “ม้า” ปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและลวดลายของป้ายขอพรเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
นอกจากชาวญี่ปุ่นแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งชาวไทยก็นิยมเขียนคำอธิษฐานลงบนป้ายขอพรเอมะด้วยเช่นกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องลงมือเขียนจริง ๆ หลายคนอาจรู้สึกลังเลใจว่า “เราควรเขียนคำอธิษฐานอย่างไรดี?”, “เราสามารถนำป้ายขอพรเอมะกลับบ้านได้หรือไม่?” ฯลฯ
ครั้งนี้ เราจึงอยากนำผู้อ่านทุกคนไปหาคำตอบและทำความรู้จักกับป้ายขอพรเอมะ เจาะลึกถึงที่มาและความหมาย รวมทั้งวิธีการเขียนอธิษฐานที่ถูกต้องอีกด้วย!
ที่มาและความหมายของป้ายขอพรเอมะ
ป้ายขอพรเอมะ เป็นเครื่องสักการะตามขนมธรรมเนียมญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคอาซูกะ เขียนด้วยอักษรคันจิว่า “絵馬” (เอมะ) โดย 絵 (เอะ) แปลว่า รูป, รูปวาด และ “馬” (อุมะ) แปลว่า ม้า
โดยเชื่อกันว่า ม้าเป็นสัตว์พาหนะศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าในลัทธิชินโตมาแต่โบราณ และมีการใช้ม้าตัวเป็น ๆ เป็นเครื่องสักการะในพิธีทางศาสนาชินโตอีกด้วย แต่ไม่ใช่ว่าผู้นับถือศาสนาทุกคนจะสามารถนำม้าตัวเป็น ๆ มาถวายเป็นเครื่องสักการะได้ จึงมีการนำไม้, ดิน หรือกระดาษ ที่มีรูปทรงม้ามาใช้เป็นเครื่องสักการะแทน
จากนั้น ผู้นับถือศาสนาชินโตก็นิยมใช้แผ่นไม้ที่มีรูปวาดม้าเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้ามากขึ้นในยุคเฮอัน โดยยุคมุโรมาจิก็มีการปรับเปลี่ยนมาใช้แผ่นไม้ที่มีขนาดเล็กลง จนถึงยุคเอโดะ ขนมธรรมเนียมการสักการะเทพเจ้าด้วยป้ายขอพรเอมะก็เริ่มแพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป โดยชาวบ้านนิยมเขียนคำอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว เช่น ขอให้ครอบครัวปลอดภัย, ขอให้ค้าขายรุ่งเรือง เป็นต้น
วิธีเขียนคำอธิษฐานและการเก็บป้ายขอพรเอมะ
วิธีเขียนคำอธิษฐาน
เราควรเขียนคำอธิษฐานบนป้ายขอพรเอมะฝั่งที่ไม่มีรูปวาด และควรใช้ปากกาที่มีหมึกกันน้ำเพื่อไม่ให้ข้อความอธิษฐานของเราเลือนหายไปกับน้ำฝน ซึ่งวัดและศาลเจ้าส่วนใหญ่มักจะเตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียนที่เหมาะสมไว้ให้เราแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องพกปากกาไปเองก็ได้
และเพื่อให้พระเจ้าหรือพระพุทธเจ้าทราบว่าเราคือใคร จึงควรเขียนชื่อของเราลงไปด้วย ซึ่งอันที่จริงเราควรเขียนที่อยู่และวันเดือนปีเกิดลงไปด้วย แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาล่วงละเมิดข้อมูลสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น จึงอาจเลี่ยงการเขียนข้อมูลเหล่านี้ไปก็ได้ แต่สำหรับใครอยากเขียนที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หรือข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ก็สามารถเขียนได้โดยเราแนะนำให้เขียนด้วยอักษรย่อหรือเขียนเฉพาะตัวอักษรขึ้นต้นก็เพียงพอแล้ว
เราสามารถนำป้ายขอพรเอมะกลับบ้านได้หรือไม่?
คนส่วนใหญ่มักจะแขวนป้ายขอพรเอมะไว้ในพื้นที่ที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ เพราะถ้าหากเรานำป้ายขอพรที่อุตส่าห์ตั้งใจเขียนคำอธิษฐานกลับบ้านไปโดยไม่ถวายเป็นเครื่องสักการะที่วัด คำอธิษฐานนั้นอาจส่งไปไม่ถึงเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้า
แต่สำหรับใครที่อยากจะนำป้ายขอพรเอมะกลับบ้านไปเป็นที่ระลึก ก็ขอแนะนะว่า ควรนำไปวางไว้บนแท่นบูชาหรือห้องพระในบ้าน หรือนำไปแขวนไว้ในที่ที่สูงกว่าระดับสายตาจะเหมาะสมกว่า
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและลวดลายของป้ายขอพรเอมะ
เพราะไม่มีกฎหรือข้อกำหนดตายตัวว่า “ป้ายขอพรเอมะจะต้องมีลักษณะแบบนี้เท่านั้น!” จึงไม่แปลกใจเลยว่า ป้ายขอพรเอมะของญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและลวดลายตามแต่เขตพื้นที่ของวัดแห่งนั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ศาลเจ้าโทโยคุนิในเกียวโต จะใช้ป้ายขอพรเอมะเป็นรูปทรงน้ำเต้า เนื่องจากเป็นศาลเจ้าที่ไดเมียวคนสำคัญของญี่ปุ่น “โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ” บูชาสักการะเทพเจ้าด้านโชคลาภและความสำเร็จ มาตั้งแต่ยังเป็นเพียงพลทหารจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นไทโค (太閤) หรือผู้สำเร็จราชการที่สละตำแหน่งแล้ว ทางศาลเจ้าโทโยคุนิจึงนำเอาธงสัญลักษณ์ หรือ “อุมะ จิรุชิ” (馬印) ที่เป็นรูปน้ำเต้าของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิมาใช้ในป้ายขอพรเอมะด้วย
นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าฟูชิมิอินาริในเกียวโต ใช้ป้ายขอพรเอมะเป็นรูปจิ้งจอก เนื่องจากจิ้งจอกเป็นผู้รับใช้ส่งสารของเทพอินาริ รวมทั้งยังมีป้ายขอพรเอมะที่มีภาพวาดคาแรคเตอร์การ์ตูนอีกมากมายหลายรูปแบบด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าป้ายขอพรเอมะจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผู้อธิษฐานต้องเขียนขอพรด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ และไม่ควรลืมที่จะกลับมาสักการะบูชาที่วัดอีกครั้งเมื่อคำอธิษฐานบรรลุผลตามที่หวังไว้