รู้จักกับ “เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ตามความเชื่อของญี่ปุ่น

รู้จักกับ “เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ตามความเชื่อของญี่ปุ่น

รู้จักกับ “เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ตามความเชื่อของญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชิจิ ฟุคุจิน (七福神) คือเจ็ดเทพเจ้าตัวแทนแห่งโชคลาภ เป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลตามความเชื่อของประเทศญี่ปุ่น โดยเทพทั้งเจ็ดองค์นั้นมีที่มาจากหลากศาสนาหลายลัทธิ เช่น ศาสนาฮินดู, ศาสนาพุทธ, ลัทธิเต๋า และลัทธิชินโต เป็นต้น ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า เหล่าเทพเจ้าจะเดินทางจากสวรรค์ด้วย “เรือมหาสมบัติ” (宝船) นำพาโชคลาภ ความสุข และบันดาลให้คำอธิษฐานของผู้ที่ขอพรเป็นจริง

จึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะได้เห็น “สัญลักษณ์” ของเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องรางตามศาลเจ้าแห่งต่าง ๆ, บนการ์ดอวยพรวันปีใหม่, บนสินค้าหลากหลายประเภท ไปจนถึงตัวละครจากการ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่นบางเรื่อง ก็เคยมีการสร้างคาแรกเตอร์หรือสวมเสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภด้วยเช่นกัน

ครั้งนี้ เราจึงจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ “เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ว่าเทพองค์ใดชื่ออะไรในภาษาญี่ปุ่นบ้าง? เทพแต่ละองค์มีความพิเศษอย่างไร? และมีจุดสังเกตอะไรที่ทำให้เราสามารถจำเทพทั้งเจ็ดองค์ได้บ้าง? รับรองได้เลยว่า ถ้าอ่านบทความนี้จบแล้ว เพื่อน ๆ จะจำจุดเด่นของเทพทั้งเจ็ดได้แน่นอน!

ที่มาของเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ

 

ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นนั้น “ชิจิ ฟุคุจิน” หรือ “เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” คือเทพเจ้าผู้มอบโชคลาภและความสุขให้แก่ผู้ขอพร ตามประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น “คิตะ ซาดะคิจิ” กล่าวว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภเกิดขึ้นที่เมืองเกียวโตในช่วงปลายยุคมุโรมาจิ หรือราว ๆ 500 ปีก่อน

โดยมีความเชื่ออีกว่า เทพเจ้าทั้งเจ็ดจะเดินทางจากสวรรค์โดย “เรือมหาสมบัติ” (宝船) ซึ่งเป็นเรือที่บรรทุกเอาโชคลาภและวัตถุมงคลเอาไว้มากมาย ซึ่งในอดีตชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเรือมหาสมบัติจะบรรทุกรวงข้าวและกระสอบข้าว แต่ความเชื่อนั้นก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นความเชื่อว่า เรือมหาสมบัติได้บรรทุกวัตถุมงคลไว้มากมาย เช่น ค้อนวิเศษอุจิเดะ โนะ โคซุจิ (打出の小槌) , กล่องสมบัติเซ็นเรียว บาโกะ (千両箱) และซึรุคาเมะ (鶴亀) เป็นต้น

เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ชิจิ ฟุคุจิน” มีใครบ้าง?

เมื่อทราบถึงที่มาคร่าว ๆ กันแล้ว ต่อไปเรามาทำความรู้จักกับเทพทั้งเจ็ดองค์กันเลย! โดยจะแนะนำชื่อ จุดสังเกต และความพิเศษของเทพแต่ละองค์ไว้ ดังนี้

1. เบ็นไซเท็น (弁財天)

ชื่อ : เบ็นไซเท็น
จุดสังเกต : ในมือถือเครื่องดนตรี “พิณ”
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งปัญญา, การพูด และการจับคู่ตุนาหงัน

เบ็นไซเท็น คือ “เทพเจ้าองค์เดียวที่เป็นผู้หญิง” เป็นเทพแห่งศิลปะการแสดงและดนตรี มักพบในลักษณะของนางฟ้าสวมมงกุฎที่กำลังเล่นพิณ มีต้นกำเนิดมาจาก “พระสุรัสวดี” เทพแห่งน้ำตามความเชื่อของประเทศอินเดีย

2. บิชามอนเท็น (毘沙門天)

ชื่อ : บิชามอนเท็น
จุดสังเกต : มือขวาถือหอกสามง่าม มือซ้ายถือเจดีย์โฮโท (宝塔)
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งความสุข, ความมั่งคั่ง, ปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย

เทพเจ้าผู้สวมชุดเกราะ ถือหอกสามง่ามเป็นอาวุธ “เป็นเทพเจ้าองค์เดียวที่มีสีหน้าเกรี้ยวโกรธ” ตำนานอินเดียท่านเป็นหนึ่งในจตุโลกบาล หรือเทพผู้คุ้มครองทิศทั้งสี่ เป็นเทวดาประจำทิศเหนือ มีอีกชื่อคือ ท้าวเวสสุวรรณ

3. เอบิสุ (恵比寿)

ชื่อ : เอบิสุ
จุดสังเกต : มือข้างหนึ่งถือเบ็ดตกปลา อีกข้างหนึ่งอุ้ม “ปลาไท”
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งโชคด้านการค้าขายเจริญรุ่งเรือง และขอพรให้หาปลาได้จำนวนมาก

“เป็นเทพองค์เดียวที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นแท้” สวมชุดขุนนางในสมัยเฮอันที่เรียกว่า คาริงินุ (狩衣) สวมหมวกทรงสูงที่เรียกว่า เอะโบชิ (烏帽子) มักพบในลักษณะมือข้างหนึ่งถือคันเบ็ดตกปลา อีกข้างหนึ่งอุ้ม “ปลาไท” ปลามงคลตามความเชื่อญี่ปุ่น

4. ไดโคคุเท็น (大黒天)

ชื่อ : ไดโคคุเท็น
จุดสังเกต : ในมือถือค้อนวิเศษอุจิเดะ โนะ โคซุจิ (打出の小槌) แบกถุงขนาดใหญ่ไว้ที่หลัง นั่งอยู่บนกระสอบข้าว
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งโชคด้านความอุดมสมบูรณ์, สมบัติเงินทอง, ปัดเปาทุกข์โศก, ลูกหลานมั่งคั่ง

ไดโคคุเท็น มีต้นกำเนิดตามความเชื่อในตำนานอินเดีย คือ “พระมหากาฬ” ปางอวตารของพระศิวะ มหาเทพแห่งการทำลายผู้มีสีหน้าดุร้าย น่ากลัว แต่ตามความเชื่อญี่ปุ่นโบราณนั้น มีเทพเจ้านามว่า “โอคุนินุชิโนะคามิ” (大国主神) โดยเทพ “โอคุนิ” (大国) และ “ไดโคคุ” (大黒) มีความคล้ายคลึงจนคนโบราณจำปะปนกัน จึงทำให้ “ไดโคคุเท็น” กลายเป็นเทพผู้มีใบหน้ายิ้มแย้ม อ่อนโยนในปัจจุบัน

5. โฮเท (布袋)

ชื่อ : โฮเท
จุดสังเกต : เป็นพระสงฆ์ที่สวมเสื้อผ้าหลุดลุ่ย มีพุงใหญ่ แบกถุงไว้ด้านหลัง
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งความสุขและรอยยิ้ม, สามีภรรยารักใคร่ปรองดอง

“เป็นเทพองค์เดียวที่มีการอ้างอิงจากบุคคลจริง” มีตำนานมาจากพระในนิกายเซนนามว่า “ไคชิ” (契此) ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง ตำนานเล่าว่า พระไคชิ คือพระสงฆ์ผู้ใช้ชีวิตพเนจร ที่หลังแบกถุงขนาดใหญ่บรรจุอาหารและข้าวของที่ได้จากการทำบุญของชาวบ้าน ว่ากันว่าพระไคชิสามารถทำนายดวงได้อย่างแม่นยำ

6. ฟุคุโระคุจู (福禄寿)

ชื่อ : ฟุคุโระคุจู หรือ ฮก ลก ซิ่ว
จุดสังเกต : เป็นเทพอาวุโส ในมือถือไม้เท้า มืออีกข้างถือม้วนกระดาษ มีเครายาวสีขาว มาพร้อมกับนกกระเรียน
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งการมีอายุยืน, ประสบความสำเร็จในด้านการงาน, ลูกหลานมั่งคั่ง

เทพอาวุโส มีเครายาวสีขาว ในมือถือไม้เท้าและม้วนกระดาษ มักพบท่านพร้อมกับนกกระเรียน เป็นเทพที่มีต้นกำเนิดตามความเชื่อของลัทธิเต๋า เชื่อว่าท่านคือร่างอวตารของดาวคาโนปัส ซึ่งเป็นดาวขั้วฟ้าใต้ที่หาพบได้ยากในประเทศจีน จึงกลายเป็นดาวแห่งความมงคลและจะปรากฏต่อเมื่อโลกเกิดความสงบสุขเท่านั้น และยังเชื่ออีกว่า เป็นดาวที่ควบคุมอายุขัยของจักรพรรดิในยุคก่อนด้วย

7. จูโรจิน (寿老人)

ชื่อ : จูโรจิน
จุดสังเกต : เป็นเทพอาวุโส ในมือถือไม้เท้าที่เกี่ยวม้วนกระดาษไว้ มืออีกข้างถือลูกท้อ มีเครายาวสีขาว มาพร้อมกับกวาง
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งการมีอายุยืน, ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ

เทพจูโรจิน มักถูกจำสลับกับ เทพฟุคุโระคุจู เสมอด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เพราะจูโรจินมีต้นกำเนิดเป็นเทพองค์เดียวกันกับฟุคุโระคุจู โดยจุดสังเกตที่แตกต่างของจูโรจินก็คือ เรามักเห็นท่านมาพร้อมกับกวางนั่นเอง

อย่างไรก็ดี มีชาวญี่ปุ่นที่นับถือเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดอยู่จำนวนมาก ถึงขั้นมีการจัดทัวร์ไหว้เทพทั้งเจ็ดองค์ตามศาลเจ้าใน 1 วัน คล้าย ๆ การเดินสายทัวร์ไหว้พระ 9 วัดตามความเชื่อของชาวไทยเลยล่ะ โปรแกรมทัวร์ไหว้เทพทั้งเจ็ดองค์แบบเร่งรีบจะใช้เวลาราว ๆ 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าไปทัวร์แบบชิล ๆ มีเวลาเดินชมศาลเจ้า มีเวลาพักผ่อน ก็จะใช้เวลามากกว่านั้น 1.5-2 เท่าเลยทีเดียว

หวังว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ที่เรานำมาฝากจะมีประโยชน์และทำให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกับเทพเจ้าตัวแทนแห่งโชคลาภที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลตามความเชื่อของญี่ปุ่นไม่มากก็น้อยนะคะ ใครที่มีโอกาสได้ไปศาลเจ้าญี่ปุ่นหรือมีเครื่องรางญี่ปุ่นอยู่กับตัว ก็อย่าลืมสังเกตดูกันนะคะว่ามีหนึ่งในเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภอยู่ในเครื่องรางด้วยหรือเปล่า?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook