13 คำถาม 13 คำตอบ ที่ต้องรู้ถ้าอยากแก้ชง โดย ซินแสปิงฮวงจุ้ยสั่งได้
วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการชงที่ถูกต้อง ก่อนปีใหม่ 2564 ไม่ใช่แค่เค้าบอกว่า แล้วเราก็ทำตามโดยที่ยังไม่เข้าใจ ว่ามีอะไรกันบ้าง
1. ชง คือ อะไร
“ชง” มาจากภาษจีนว่า 相冲 แปลว่า การปะทะ
การชง คือ การถูกพลังของธรรมชาติปะทะโดยตรง ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวาย ตัดสินใจทำอะไรผิด ๆ จนนำมาซึ่งความเสียหายในที่สุด โดยอาศัยตัวนักษัตรมาเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นนักษัตรประจำเวลาเกิด นักษัตรประจำวันเกิด นักษัตรประจำเดือนเกิด และนักษัตรประจำปีเกิด
2. ปีชงจะนับอย่างไร
การนับเริ่มปีชงของแต่ละปีเราจะเริ่มจากวันตรุษจีนที่เป็นวันปีใหม่ของจีน และถือเป็นวันเริ่มต้นของปีนักษัตรต่าง ๆ ทั้ง 12 นักษัตรเช่นกัน ซึ่งในปี 2564 เป็นปีฉลู ธาตุทอง จะตรงกับ
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 – 31 มกราคม 2565
3. ปี 2564 นักษัตรปีไหนบ้างที่ควรไหว้แก้ชง
ปีนักษัตรที่ชง ได้แก่ คนที่เกิดนักษัตรมะแม (แพะ)
ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปีฉลูชงกับมะแม ก็คือ
นักษัตรมะโรง (งูใหญ่) ที่ถูกเฮ้ง หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ถูกชง 75%
ผลกระทบ คือ ถูกเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ
นักษัตรมะเมีย (ม้า) ที่ถูกไห่ หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ถูกชง 50%
ผลกระทบ คือ ถูกนินทา ใส่ร้าย ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
นักษัตรจอ (หมา) ที่ถูกผั่ว หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ถูกชง 25%
ผลกระทบ คือ ถูกหมางเมิน ทำคุณคนไม่ขึ้น เจ็บป่วย
4. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าปีไหนชงปีไหนไม่ชง
การชงนักษัตรจะมีคู่การชงดังต่อไปนี้
นักษัตรชวด ชงกับ นักษัตรมะเมีย
นักษัตรฉลู ชงกับ นักษัตรมะแม
นักษัตรขาล ชงกับ นักษัตรวอก
นักษัตรเถาะ ชงกับ นักษัตรระกา
นักษัตรมะโรง ชงกับ นักษัตรจอ
นักษัตรมะเส็ง ชงกับ นักษัตรกุน
ทั้ง 12 นักษัตรจะมีการจับคู่ชงของตัวเองตามรายละเอียด
ข้างบน ตัวอย่างเช่น
ในปีชวดคนที่ชงคือ คนที่เกิดเวลามะเมีย วันมะเมีย เดือนมะเมีย และปีมะเมีย
ส่วนในปีมะเมียคนที่ชงคือ คนที่เกิดเวลาชวด วันชวด เดือนชวด และปีชวด
5. เรามีโอกาสชงในแต่ละปีมากกว่าน้อยแค่ไหน
ในแต่ละปีเราทุกคนมีโอกาสที่จะชงได้ทั้งนั้น เพราะการชงไม่ได้ดูแค่ปีอย่างเดียว แต่เราจะดูตั้งแต่เวลาเกิด วันเกิด เดือนเกิด และปีเกิด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้เราควรไหว้องค์ไท้ส่วยเพื่อเป็นการเสริมดวง และแก้ชงทุกปี
6. การชงร่วมคือ อะไร
การชงมีเพียงปีละ 1 นักษัตรเท่านั้น ไม่มีการชงร่วม และไม่มีการชงแบบเปอร์เซ็นต์อย่างที่หลายคนกล่าวอ้าง แต่ในเรื่องของเคราะห์ภัยนอกจากการชงแล้ว ยังผลกระทบที่เกิดขึ้นอีก 3 ประเภท คือ เฮ้ง , ไห่ , ผั่ว
นักษัตรที่ถูกเฮ้ง หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ถูกชง 75%
ผลกระทบ คือ ถูกเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ
นักษัตรที่ถูกไห่ หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ถูกชง 50%
ผลกระทบ คือ ถูกนินทา ใส่ร้าย ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
นักษัตรที่ถูกผั่ว หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่า ถูกชง 25%
ผลกระทบ คือ ถูกหมางเมิน ทำคุณคนไม่ขึ้น เจ็บป่วย
เพราะฉะนั้น แล้วทั้ง 3 อิทธิพลนี้ เราจะไม่เรียกว่า “ชง”
เพราะการชงนั้น คือ การปะทะชนแบบเต็มๆ
แต่เพื่อลดความยุ่งยากในการอธิบาย และทำให้เข้าใจง่ายๆ ก็เลยเอามารวมกัน เรียกว่า “ชง” นั่นเอง
และที่สำคัญ คือ ปีนักษัตรนั้น ๆ ไม่ได้ชงตัวเองนะครับ
เราไม่ได้แพ้ภัยตัวเองแต่เราไหว้เพื่อหนุนตัวเอง เปรียบเหมือนการอุทิศบุญให้กับเทวดา หรือแม่ซื้อประจำตัวเองนั่นเอง
7. แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเกิดนักษัตรอะไรบ้าง
ตามที่บอกเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า การคำนวณนักษัตรของจีนทั้ง 12 นักษัตรมีทั้งการคำนวณด้วยเวลาเกิด วันเกิด เดือนเกิด และปีเกิด และนึคือหลักเกณฑ์คร่าวๆ ในการตรวจสอบว่า
เรามีนักษัตรไหนมาเกี่ยวข้องบ้าง
เวลาเกิด
05.01 – 07.00 เป็นเวลาของนักษัตรเถาะ
07.01 – 09.00 เป็นเวลาของนักษัตรมะโรง
09.01 – 11.00 เป็นเวลาของนักษัตรมะเส็ง
11.01 – 13.00 เป็นเวลาของนักษัตรมะเมีย
13.01 – 15.00 เป็นเวลาของนักษัตรมะแม
15.01 – 17.00 เป็นเวลาของนักษัตรวอก
17.01 – 19.00 เป็นเวลาของนักษัตรระกา
19.01 – 21.00 เป็นเวลาของนักษัตรจอ
21.01 – 23.00 เป็นเวลาของนักษัตรกุน
23.01 – 01.00 เป็นเวลาของนักษัตรชวด
01.01 – 03.00 เป็นเวลาของนักษัตรฉลู
03.01 - 05.00 เป็นเวลาของนักษัตรขาล
วันเกิด
หลักเกณฑ์นี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้การคำนวณ และตรวจสอบจากปฏิทินจีนในแต่ละปี เพราะการนับวันของจีนจะแตกต่างการนับวันสากลที่ปรากฏในปฏิทินปัจจุบัน และนี่คือสาเหตุที่วันสำคัญต่าง ๆ ของจีนไม่เคยตรงกันในแต่ละปี
เดือนเกิด
5 กุมภาพันธ์- 4 มีนาคม เป็นเดือนเกิดของนักษัตรขาล
5 มีนาคม- 4 เมษายน เป็นเดือนเกิดของนักษัตรเถาะ
5 เมษายน- 4 พฤษภาคม เป็นเดือนเกิดของนักษัตรมะโรง
5 พฤษภาคม- 4 มิถุนายน เป็นเดือนเกิดของนักษัตรมะเส็ง
5 มิถุนายน- 4 กรกฎาคม เป็นเดือนเกิดของนักษัตรมะเมีย
5 กรกฎาคม- 4 สิงหาคม เป็นเดือนเกิดของนักษัตรมะแม
5 สิงหาคม- 4 กันยายน เป็นเดือนเกิดของนักษัตรวอก
5 กันยายน- 4 ตุลาคม เป็นเดือนเกิดของนักษัตรระกา
5 ตุลาคม- 4 พฤศจิกายน เป็นเดือนเกิดของนักษัตรจอ
5 พฤศจิกายน- 4 ธันวาคม เป็นเดือนเกิดของนักษัตรกุน
5 ธันวาคม- 4 มกราคม เป็นเดือนเกิดของนักษัตรชวด
5 มกราคม- 4 กุมภาพันธ์ เป็นเดือนเกิดของนักษัตรฉลู
8. เราจะแก้ชงได้อย่างไรบ้าง
ให้เราไปไหว้องค์ไท้ส่วย (เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา)
“ไท้ส่วยเอี้ย” หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา”
ไท้ แปลว่า ใหญ่กว่า หรือ กว่า
ส่วย แปลว่า วัย หรือ อายุ
เอี้ย แปลว่า เทพเจ้า หรือ คนที่มีอำนาจบารมี
ซึ่งเป็นเทพผู้มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละปี ซึ่งแต่ละปีจะมีองค์ไท้ส่วยประจำปี รวมทั้งสิ้น 60 องค์ ที่ทำหน้าที่รักษา มีอำนาจให้คุณ และโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับปีนั้น ๆ เพราะฉะนั้น เราจะต้องไหว้ให้ถูกองค์ด้วย ซึ่งในปีนี้จะเป็นองค์ไท้ส่วยลำดับที่ 38 ชื่อว่า ขุนพลเอี่ยสิ่งไต่เจียงกุง (หยางซิ่นต้าเจียงจวิน) เทพคุ้มครองดวงชะตาประจำปีซิงทิ่ว หรือปี พ.ศ. 2444, 2504, 2564
การไหว้องค์ไท้ส่วย โดยการฝากดวงชะตา ขอให้องค์เทพช่วยปกปักคุ้มครองรักษาชีวิตของเรา ให้พบแต่ความราบรื่น และแคล้วคลาดปลอดภัย
9. แล้วเราจะไปไหว้องค์ไท้ส่วยได้ตอนไหน และที่ไหนบ้าง
ตามธรรมเนียมจีนการไหว้เทพเจ้าไท่ส่วยจะเริ่มต้นไหว้กันตั้งแต่ 9 ค่ำเดือน 1 ถึง15 ค่ำเดือน 1 ของจีน
ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 20 - 26 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับคนที่ไม่สะดวก หรือไม่อยากไปเบียดเสียดกับคนอื่นก็สามารถไหว้เทพเจ้าไท่ส่วยก่อน หรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้ โดยให้ไปไหว้ที่วัดจีน หรือศาลเจ้าที่มีเทพเจ้าไท้ส่วยครบทั้ง 60 องค์ ซึ่งในปีนี้จะเป็นองค์ไท้ส่วยลำดับที่ 38 ชื่อว่า ขุนพลเอี่ยสิ่งไต่เจียงกุง (หยางซิ่นต้าเจียงจวิน) ซึ่งเป็นเทพคุ้มครองดวงชะตาประจำปีซิงทิ่ว ได้แก่
1. ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ (ชลบุรี)
2. มูลนิธิสว่างบูชาธรรมสถาน (อุบลราชธานี)
3. วัดแชกงหมิว (ฮ่องกง)
หรือวัดจีนในไทยที่มีองค์ไท่ส่วยเอี๊ย ได้แก่
1. วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส เจริญกรุง)
2. วัดโพธิ์แมนคุณาราม
3. ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า
4. วัดซำปอกง (วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี)
5. วัดเล่งเนยยี่ 2 (วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์) บางบัวทอง
6. วัดทิพยวารีวิหาร วังบูรพา
หรือโรงเจต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ หรือต่างจังหวัดทุกแห่ง โดยให้สอบถามหาเทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ย จากพระในวัดเลยครับ
ส่วนคนที่เฮ้ง, ไห่ หรือผั่ว หรือแม้แต่คนที่ไม่โดนอะไรเลยก็สามารถไปทำสังฆทานที่วัดใกล้บ้านท่านได้เลยทุกวัด และหลังจากทำบุญแล้วให้อุทิศบุญให้กับเทวดาประจำตัวเราให้ท่านคุ้มครองเราตลอดปี 2564
10. การแก้ชงสามารถให้คนอื่นไปไหว้แทนได้มั้ย
สามารถให้คนอื่นทำแทนได้ครับ แต่เค้าต้องรู้ชื่อ-นามสกุล และวันเดือนปีเกิด และเวลาเกิดของคนที่จะต้องไหว้แทน แต่สิ่งที่คนไปไหว้แทนทำให้ไม่ได้ก็คือ การปัดเป่า ด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง ซึ่งขั้นตอนนี้คนที่ไปไหว้แทนจะทำได้แค่เพียงการขอพรให้เท่านั้น ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองจะต้องนำกลับมาให้เจ้าตัวปัดเอง และก็ทำการเผา
11. การไหว้องค์ไท้ส่วยต้องเตรียมของไหว้อะไรบ้าง
ของไหว้องค์ไท้ส่วยเอี๊ยที่ต้องมี คือ
1. ดอกไม้สด 1 คู่
2. เทียนแดง 1 คู่
3. ธูป 3 ดอก
4. หงึ่งเตี่ย (กระดาษเงินกระดาษทอง) 13 ชุด
5. เทียงเถ่าจี้ (กระดาษแดงเขียนอักษรมงคล) 1 คู่
6. กิมหงิ่งเต้า (กระดาษถังเงินถังทอง) 1 คู่
7. อาหารเจ 5 อย่าง เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู เต้าหู้ วุ้นเส้น เป็นต้น
8. ถั่วลิสง 25 เม็ด
9. พุทราแดง 25 เม็ด
10. ขนมโก๋ 5 ชิ้น
11. น้ำชา 5 ถ้วย
12. ข้าวสวย 5 ถ้วย
13. ส้ม 5 ผล
14. น้ำมันพืช 1 ขวด
แต่ถ้าใครไม่สะดวกให้เตรียมส้ม 5 ผล น้ำมันพืช 1 ขวด แล้วไปซื้อชุดสะเดาะเคราะห์ที่วัดที่เราไปไหว้ก็ได้
12. ขั้นตอนการไหว้องค์ไท้ส่วยมีอะไรบ้าง
1. ซื้อชุดสะเดาะเคราะห์แก้ปีชง ซึ่งในชุดนี้จะมีใบฝากดวงแก้ปีชงให้กรอกรายละเอียดด้วย
2. เขียนชื่อ-นามสกุล อายุ วัน เดือน ปีเกิด และเวลาตกฟาก ลงในใบฝากดวงแก้ปีชง ถ้าช่องไหนไม่รู้ให้เขียนคำว่า "ดี" ลงไปแทน
3. ไหว้องค์ไท้ส่วยเอี้ย โดยอธิษฐานขอบารมีองค์ท่านช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้แคล้วคลาดปลอดภัยตลอดทั้งปี (สามารถอ่านคำอธิษฐานได้ในใบฝากดวง)
4. นำใบฝากดวงแก้ปีชง พร้อมกระดาษเงินกระดาษทองปัดออกจากตัวเอง 12 ครั้ง (การปัด 1 ครั้ง เท่ากับ 1 เดือน ปัด 12 ครั้ง เท่ากับการปัดเป่าทั้งปี) ในกรณีที่ทำแทนคนอื่น ไม่ต้องปัด ให้อธิษฐานแทน
5. เมื่อปัดเสร็จแล้วก็ให้นำใบฝากดวงวางไว้ที่ด้านหน้าไท้ส่วยเอี้ย ซึ่งจะมีกล่องรับวางอยู่ สำหรับคนที่ทำแทนจะต้องนำใบฝากดวง และกระดาษเงินกระดาษทองไปให้เจ้าตัวปัดด้วยตัวเอง แล้วนำกระดาษเงินกระดาษทองไปเผา ส่วนใบฝากดวงให้นำไปไว้ข้างฐานองค์พระประธานในบ้านครบปีแล้วค่อยนำไปเผา
13. สิ่งที่คนชงต้องหลีกเลี่ยงคือ อะไรบ้าง
สิ่งที่คนชงไม่ควรทำ ก็คือ ให้หลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมคนเจ็บป่วย และไม่แนะนำให้ไปร่วมงานศพ หรือพิธีฝังศพ เพราะคุณจะสามารถดึงดูดพลังชั่วร้าย ที่จะทำให้คุณเจ็บป่วยกะทันหัน จนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลได้เลย
หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้คุณหมั่นไปบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ และถือเป็นการให้ชีวิตกับคนอื่นได้ด้วย และเป็นการลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมาในภายหลัง