11 สิ่งที่ต้องทำในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดย ซินแสปิง ฮวงจุ้ยสั่งได้
ในวันตรุษจีนนับได้ว่าเป็นวันปีใหม่ของจีนที่คนไทยเองก็ได้มีการปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน วันนี้เรามี 11 สิ่งที่ต้องทำในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อเสริมสิริมงคลให้ทุกคนมาฝาก
1. ทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่
เป็นการทำความสะอาด เพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีนนั่นเอง โดยจะต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันไหว้ คือ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ชาวจีนจะให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ก่อนวันตรุษจีนมาก และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องทำให้เสร็จก่อนปีใหม่ และหากเจอข้าวของเครื่องใช้ชิ้นไหนที่ชำรุดเสียหายก็จะนิยมเปลี่ยนใหม่ไปด้วยเลย เพราะชาวจีนไม่นิยมเก็บของที่ชำรุด หรือเสียหายเอาไว้ในบ้าน และในวันตรุษจีนชาวจีนจะห้ามเช็ด ถู กวาด หรือทำความสะอาดบ้านโดยเด็ดขาด เพราะชาวจีนเชื่อกันว่า การเช็ด ถู กวาด หรือทำความสะอาดบ้านในวันตรุษจีน จะเป็นการกวาดไล่สิ่งมงคลออกไปจากบ้าน
2. ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ผีไม่มีญาติ
วันซาจั๊บ หรือวันสิ้นปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564
ช่วงเช้าหลังจากไหว้เจ้าในบ้าน คือ “ตี่จู๊เอี๊ย” ไหว้บรรพบุรุษแล้ว ในตอนเที่ยงจึงไหว้ผีไม่มีญาติ ซึ่งของไหว้จะมีทั้งของคาว-หวาน รวมทั้งเป็ด-ไก่ มากหรือน้อยแล้วแต่ฐานะของผู้ไหว้ และมีเครื่องกระป๋อง ข้าวสาร เกลือ เพื่อให้ผีไม่มีญาติพกไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องจุดขี้ไต้ 2 ชิ้นไว้ด้วย เมื่อไหว้เสร็จจะจุดประทัด จากนั้นจะโปรยข้าวสารผสมเกลือ ขับไล่สิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป
3. รวมญาติกินเกี๊ยว
ประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของวันตรุษจีน คือ การรวมญาติ
โดยทุกคนจะเดินทางมาร่วมโต๊ะกินเกี๊ยวในวันซาจั๊บมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่
และที่ต้องเป็น “เกี๊ยว” ก็เพราะลักษณะของเกี๊ยวจะเหมือนกับ “ก้อนเงินโบราณ” ของจีน
ดังนั้น เกี๊ยว จึงเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง และมั่งมีเงินทอง
4. กินเจมื้อเช้าในวันตรุษจีน ซึ่งถือเป็นมื้อแรกของปี
วันตรุษจีน หรือวันชิวอิก อาหารมื้อแรกต้อนรับตรุษจีน ชาวจีนจะนิยมกินเจในมื้อแรกของปี เพราะเชื่อกันว่าจะได้บุญเหมือนกับกินเจตลอดทั้งปี และในวันที่ 7 ของตรุษจีน คือ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จะถือเป็น วันกินผัก 7 อย่างเพื่อเป็นการพักท้องจากการกินดื่ม เฉลิมฉลองอย่างเต็มที่ และเพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเราเองด้วย
5. ทำพิธีไหว้รับ “ไช่ซิงเอี้ย”
“ไช่ซิงเอี้ย” เป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ส่วนใหญ่จะทำพิธีระหว่างก่อนเที่ยงคืนของวันซาจั๊บจนถึงก่อนตี 1 สำหรับปี 2564 ฤกษ์ไหว้จะตรงกับเวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 11 ก.พ. ถึง 01.00 น. ของวันที่ 12 ก.พ. หรือเริ่มไหว้เวลา 23:01 น. ของวันพฤหัสที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไปแต่ไหว้เสร็จไม่เกินตีหนึ่งของวันที่ 12 กพ. 2564 โดยผู้ไหว้ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
6. ติด “ตุ๊ยเลี้ยง” หรือคำอวยพรปีใหม่
เมื่อก่อนชาวจีนที่พอมีความรู้จะเขียน “ตุ๊ยเลี้ยง” หรือคำอวยพรปีใหม่เอง โดยใช้หมึกสีดำหรือสีทอง
เขียนคำอวยพรที่เป็นมงคลลงบนกระดาษสีแดง หรือไปจ้างมืออาชีพเขียนให้ ซึ่งในประเทศไทยก็คือ ที่เยาวราชบนถนนฝั่งวัดมังกร คำอวยพรที่เขียนจะประกอบด้วยตัวอักษรตั้งแต่ 4-8 ตัว คู่กัน 2 แผ่น เรียกว่า กลอนคู่ตรุษจีน เขียนเป็นคำกลอนโดยเน้นเรื่องการงาน การเงิน และสุขภาพ คู่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ แปลว่า เริ่มต้นปีใหม่สุขสมหวัง และมั่งคั่งตลอดปี และบางบ้านก็จะติดภาพเด็กผู้หญิง-เด็กผู้ชาย ที่เรียกว่า “หนี่อ่วย” ซึ่งเป็นภาพมงคลของจีน ถือเป็นงานศิลปะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน
7. ใส่เสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส
เป็นอีกหนึ่งธรรมนียมปฏิบัติตรุษจีนที่คนนิยมกันมากที่สุด ก็คือ การใส่เสื้อผ้าใหม่ สีสันสดใส โดยเฉพาะเสื้อผ้าสีแดง ชาวจีนถือเป็นสีที่เป็นมงคลมาก เพราะสีแดงเป็นตัวแทนของความโชคดี เป็นสิริมงคล เสริมอำนาจ บารมี เสริมความร่ำรวย และมั่งคั่ง และสีที่ควรหลีกเลี่ยง ก็คือ สีขาว และสีดำ เพราะเป็นสีที่เป็นตัวแทนของความตาย และโชคร้าย
8. เอาส้ม 4 ผล ไปอวยพรผู้ใหญ่
ในวันตรุษจีน หรือวันชิวอิก ซึ่งตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ลูกหลานทุกคนจะนำส้ม 4 ผล ไปหาพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่ที่เราเคารพ เพื่อขอพร ส่วนเจ้าของบ้านจะเตรียมเมล็ดแตงโมย้อมสีแดงไว้ 1 พาน และลูกสมอจีนไว้รับแขก เมื่อมีผู้มาอวยพร เจ้าของบ้านจะรับส้มขึ้นมา 2 ผล และนำส้มในบ้านที่เตรียมไว้วางคืนลงไป 2 ผล ถือเป็นส้มมงคลนำกลับไปบ้าน
9. รับซองแดง หรือเงินอั่งเปา
ถือเป็นธรรมเนียมนิยมที่เด็กๆ หรือผู้น้อยจะมีความสุขมากๆ เพราะเมื่อเราไปหาผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะมอบเงินอั่งเปาใส่ซองแดงให้กับเด็กๆ แต่ละคน ซึ่งจำนวนเงินก็ขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครอบครัวว่าจะมากหรือน้อย แต่โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นจำนวนเลขคู่
10. ไหว้แก้ชง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
เป็นการไปไหว้ขอพร และฝากดวงเอาไว้กับองค์ไท้ส่วยประจำปี ซึ่งทุกคน ทุกนักษัตรสามารถที่จะไหว้ได้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะชงหรือไม่ชงก็ขอแนะนำให้ไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง โดยเฉพาะคนที่เกิดนักษัตรฉลู มะโรง มะเมีย มะแม และจอ
สำหรับฤกษ์ไหว้แก้ชงในปี 2564 คือ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 28 กุมภาพันธ์ 2564 ไปไหว้ไม่เกิน 11.00 น. ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีองค์ไท้ส่วยประจำปี ซึ่งในปีนี้จะเป็นองค์ไท้ส่วยลำดับที่ 38 ชื่อว่า ขุนพลหยางซิ่นต้าเจียงจวิน หรือภาษาแต้จิ๋วว่า ขุนพลเอี่ยสิ่งไต่เจียงกุง ซึ่งเป็นองค์ไท้ส่วยประจำปีเกิดของคนที่เกิดในปีพ.ศ. 2444 / 2504 และ 2564
11. ติดโคมแดงหน้าบ้าน
และธรรมเนียมนิยมอีกหนึ่งอย่างที่ชาวจีนนิยมทำกันมาก ก็คือ การเปลี่ยนโคมตรุษจีน หรือเต็งลั้ง ที่แขวนเอาไว้หน้าประตูบ้าน ถึงแม้ว่าปัจจุบัน เราจะไม่ได้ใช้โคมแดงเหล่านี้ให้แสงสว่างยามค่ำคืนเหมือนในอดีตแล้วก็ตาม เพราะชาวจีนมีความเชื่อที่ว่า โคมไฟสีแดงสด จะเป็นตัวดึงดูด และนำทางให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเข้ามาอยู่ในบ้านเรือนของเรา เพื่อคคุ้มครอง และเป็นสิริมงคลกับทุกคนในบ้าน