ทุกข์ คือ อะไร ?

ทุกข์ คือ อะไร ?

ทุกข์ คือ อะไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนนี้สภาวะน้ำท่วมลามไปหลายพื้นที่ทำให้ประชาชนคนธรรดาอย่างเราๆ เกิดความเครียด ความกังวลใจและท้ายสุดสิ่งที่ตามมาคือ ความทุกข์ วันนี้เราจึงมีวิธีการดับทุกข์ในใจ ที่ทั้งผู้ประสบภัย หรือคนอื่นๆ ทั่วไปสามารถนำไปใช้ดับทุกข์ในกายในใจได้ค่ะ

ขึ้นชื่อว่า "ความทุกข์" ไม่น่าจะมีใครไม่รู้จัก แต่พอลองสอบถามเข้าจริงๆ ก็ได้คำตอบที่ชวนฉงนว่า แม้แต่คนใกล้ตัวก็ยังมีคนที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาความทุกข์ ไม่รู้วิธีจัดการกับความทุกข์ เลยปล่อยให้ความทุกข์เข้าๆ ออกๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงราวกับว่าเป็นเซเว่นฯ ก็ไม่ปาน....วันนี้เราจึงได้กราบเรียนถามพระอาจารย์มานพเกี่ยวกับเรื่องทุกข์ๆ มาดูกันว่าเรื่องธรรมดาของความทุกข์ เรารู้จักดีแค่ไหน

พุทธศาสนามีการแบ่งประเภทของความทุกข์อย่างไรบ้างคะ

ถ้าพูดในภาพรวม ความทุกข์เป็นเรื่องที่เราต้องเจอะเจอกันทุกคน ดังคำกล่าวที่ว่า "ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง" ทุกข์เพราะการเกิด ทุกข์เพราะความแก่ ทุกข์เพราะความตาย หรือจะเรียกว่าทุกข์ประจำก็ได้ นอกจากนั้นความทุกข์ก็ยังมีทุกข์จร เช่น ทุกข์เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์เพราะความไม่สบายกายไม่สบายใจ หวังแล้วไม่ได้สิ่งที่หวัง เป็นต้น

แต่ถ้าจะลงรายละเอียด อรรถของทุกข์มี 3 อย่างเรียกว่า ทุกขตา 3 อย่าง คือ หนึ่ง ทุกขทุกข์ คือสภาพของความทุกข์ ได้แก่ ทุกข์ทางกายกับทุกข์ทางใจ สอง วิปริณามทุกข์ คือเป็นทุกข์ที่เกิดจากความแปรปรวน และสาม สังขารทุกข์ คือความทุกข์เพราะสังขาร ตัวสภาวะของสังขาร กล่าวคือสิ่งทั้งปวงเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายไป ทำให้คงสภาพอยู่ไม่ได้ พร่องอยู่เสมอ และทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้ที่ยึดถือ เช่น หากยังยึดกาย ก็ทุกข์กาย หากยึดใจ ก็ยังเป็นทุกข์ทางใจนั่นเอง

 

 

ถ้าอย่างนั้นความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์ แต่ทำไมหลายๆ คนจึงนั่งยันยืนยันว่า เขาไม่มีความทุกข์

นั่นเป็นเพราะเขาไม่รู้จักความทุกข์ ถ้าเขารู้จักความทุกข์ เขาจะเข้าใจว่าชีวิตเป็นทุกข์ ใครบ้างไม่เคยเจ็บป่วย ใครบ้างไม่เคยผิดหวัง ใครบ้างไม่เคยรู้สึกขัดใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ หรือถ้าจะดูอาการยืน เดิน นั่ง นอน ใครบ้างเดินแล้วไม่เมื่อย ใครบ้างนั่งแล้วไม่เมื่อย หรือต่อให้นอน ก็ไปดูเถอะว่า นอนไม่กี่ชั่วโมงยังพอไหว แต่ถ้าให้นอนสักสองวัน คงไม่มีใครทนได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือความทุกข์ แม้แต่คนที่ร่ำรวยมากๆ บางคนก็อาจจะทุกข์ยิ่งกว่าคนธรรมดาด้วยซ้ำไป เพราะคนไม่มีสตางค์จะมีความอดทนเป็นธรรมดา แต่คนมีสตางค์ มีคนคอยเอาใจอยู่ตลอด จะรู้สึกขัดใจง่าย อะไรนิดอะไรหน่อยก็ขัดใจ หงุดหงิด รำคาญ ฟุ้งซ่าน ขัดเคือง ใจยังเร่าร้อน ยังทุรนทุราย ยังกวัดแกว่ง และยังหนีความทุกข์ไม่พ้นเหมือนกันบางคนอาจรู้สึกว่าทุกข์กายทนได้ยากกว่าทุกข์ใจ

อันที่จริงทุกข์ทางกายยังพอทนได้ แต่ทุกข์ทางใจ เวลาเจอจังๆ มันหมดเลยนะ ต่อให้มีสมบัติร้อยล้านพันล้าน ก็ไม่อยากจะครองสมบัติร้อยล้านพันล้านนั้น ต่อให้เป็นพระราชามหากษัตริย์ ถ้าลองผิดหวังขึ้นมาละก็ อาจจะไม่อยากอยู่ในพระราชบัลลังก์อีกต่อไป

แต่ความทุกข์ใจ แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการ เมื่อเวลาผ่านไปก็จางไปเอง ความทุกข์ทางกายเสียอีกยิ่งนานวัน อาการก็มีแต่จะแย่ลง จะทุกข์กายหรือทุกข์ใจ ถ้าปล่อยให้กาลเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็เจือจางไปได้ คนที่เจอความทุกข์ใหม่ๆ ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น ต้องพยายามทำใจให้สงบให้ได้ก่อน ความทุกข์เป็นของทนได้ยาก แต่ถ้าฝึกฝนไว้ล่วงหน้าก็จะช่วยให้ทนได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นทุกข์ทางกาย ก็ไม่จำเป็นว่าใจจะต้องทุกข์ตามไปด้วย คนที่ไม่เคยฝึกใจ พอกายทุกข์ ใจก็ทุกข์ กลายเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์

จริงอยู่ทุกข์ใจ เราดับที่ใจได้ แต่ก็มีคนมากมายที่ดับทุกข์ไม่ทัน ชิงฆ่าตัวตายไปก่อน เราจะเห็นว่าคนที่ฆ่าตัวตายก็เพราะมีความทุกข์ทางใจกันทั้งนั้น ทั้งๆ ที่คนย่อมเห็นชีวิตของตัวเองน่ารักที่สุด น่าหวงแหนที่สุด แต่ความทุกข์ทางใจกลับทำให้คนเรายอมสละชีวิตของตัวเองได้ ที่จริงความทุกข์ทางใจนี่แหละที่เราต้องเข้าไปรู้จักมันให้มากๆ ทางที่ถูกควรจะตีสนิทกับความทุกข์ไปเลย ไปทำความคุ้นเคยกับความทุกข์ ไปอยู่กับความทุกข์ แล้วเราจะใช้ทุกข์ดับทุกข์ได้

ไปขลุกอยู่กับความทุกข์แล้วใจจะไม่หมองเศร้ากันไปใหญ่เหรอคะ

เวลาใจอยู่กับความทุกข์ ก็จะไม่ไปอยู่กับสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เวลาคนเราเป็นทุกข์ก็ต้องมีสาเหตุ มีสิ่งที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ยกตัวอย่างความทุกข์ที่เกิดจากคนรักจากเราไป เวลาคิดถึงคนรัก ใจก็เป็นทุกข์ใช่ไหม แต่ถ้าเรา "มองใจ"ที่มันเป็นทุกข์ "อยู่กับใจ" ที่เป็นทุกข์ "ดูใจ" ที่เป็นทุกข์ ใจก็จะไม่คิดถึงคนรัก เมื่อไม่คิดถึง ใจก็คลายจากความทุกข์ได้เอง

ถ้าถามว่าความทุกข์ดีหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่า ไม่ดี ใครๆ ก็ไม่อยากได้ แต่ถ้าเราสามารถเข้าไป "มองดูรู้ทัน" ความทุกข์นั้นก็มีประโยชน์ เอาทุกข์มาดู มาเป็นมุมมองจนรู้เท่าทัน ก็ทำให้ใจเราพ้นจากความทุกข์ได้

 

 

เราจะพ้นทุกข์โดยไม่ต้องทุกข์เลยไม่ได้เหรอคะ

ถ้าไม่ทุกข์ เราก็คงไม่คิดถึงการพ้นทุกข์ แต่เกิดมาแล้วไม่มีทุกข์เลย คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดมา เราก็ได้ร่างกายและจิตใจมา ร่างกายและจิตใจเป็นตัวทุกข์อยู่แล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าชีวิตคือความทุกข์ ก็จะอยากหาวิธีบรรเทาทุกข์ จะว่าไปแล้วตัวทุกข์ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราตะเกียกตะกายไปสู่การพ้นทุกข์นั่นเอง

ในอริยสัจสี่เริ่มด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การบรรลุในอริยสัจธรรม ก็คือเข้าไปรู้ เข้าไปเห็น เข้าไปแจ้งในอริยสัจสี่ประการ ถ้าไปดูเรื่องการปฏิบัติธรรม เราจะเห็นว่า ต้องนำตัวทุกข์ซึ่งก็คือตัวกายตัวใจของเรามาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เห็นทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ มรรคเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ นั่นคือหนทางแก้ทุกข์ที่ได้ผลอย่างแท้จริง

แก้ทุกข์ด้วยอริยสัจสี่

อริยสัจ 4 หมายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) มรรค (หนทางแห่งการดับทุกข์) เราจะดับทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อได้ทำหน้าที่อันพึงทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่

หน้าที่ต่อทุกข์ คือการกำหนดรู้ ศึกษาทำความเข้าใจความทุกข์ตามสภาพความเป็นจริง (ปริญญา)

หน้าที่ต่อสมุทัย คือ การละ วิเคราะห์วินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ไขหรือกำจัดให้หมดสิ้นไป (ปหานะ)

หน้าที่ต่อนิโรธ คือ การทำให้แจ้ง เข้าถึงสภาวะที่ปราศจากปัญหาหรือเห็นภาพจุดหมายที่ต้องการ เพื่อให้ตระหนักว่าการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ (สัจฉิกิริยะกิจ)

หน้าที่ต่อมรรค คือ การเจริญ คือการฝึกอบรม และลงมือปฏิบัติตามทางแห่งการดับทุกข์หรือมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ (ภาวนา)

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook