เปิดประวัติ “มิโกะ” อดีตร่างทรงแห่งองค์เทพ

เปิดประวัติ “มิโกะ” อดีตร่างทรงแห่งองค์เทพ

เปิดประวัติ “มิโกะ” อดีตร่างทรงแห่งองค์เทพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายท่านคงจะเคยเห็น “มิโกะ” (巫女) หญิงสาวที่สวมเครื่องแต่งกายสีขาวแดง ทำหน้าที่จำหน่ายเครื่องราง และคอยต้อนรับดูแลผู้คนที่เข้ามากราบไหว้ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในศาลเจ้าชินโตอันเงียบสงบกันใช่ไหมครับ แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่า จริงๆ แล้วในสมัยโบราณและปัจจุบันมิโกะมีหน้าที่อะไรบ้าง และการจะเป็นมิโกะนั้นต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง วันนี้ผมจะขอเล่าประวัติความเป็นมาของมิโกะแบบคร่าวๆ ให้เพื่อนๆ ได้ทราบกันครับ

 

หญิงสาวผู้รับใช้เหล่าทวยเทพ

มิโกะ ตามความเชื่อในสมัยโบราณ คือหญิงสาวที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า เช่น การเต้นระบำบวงสรวง และการสวดมนต์บูชาเทพเจ้า เป็นต้น นอกจากนี้ มิโกะยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือการเป็นร่างทรงของเทพเจ้าเพื่อรับคำพยากรณ์ แล้วนำไปประกาศให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ยกตัวอย่างเช่น จักรพรรดินีฮิมิโกะ แห่งอาณาจักรยามะไต ก็มีฐานะเป็นมิโกะเช่นกัน เพราะกล่าวกันว่านอกจากพระนางจะปกครองบ้านเมืองด้วยมนต์ดำแล้วพระนางยังทำหน้าที่รับคำพยากรณ์จากเทพเจ้า แล้วนำคำพยากรณ์นั้นไปประกาศให้ประชาชนได้รับทราบอีกด้วย

นอกจากนี้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น “โคะคิจิ” (古事記) ที่เขียนขึ้นราวปี ค.ศ. 712 และ นิฮงโชะกิ (日本書紀) ที่เขียนขึ้นราว ปี ค.ศ. 720 ก็ได้มีการบันทึกเรื่องราวการทำพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเทพเจ้า โดยหญิงสาวที่ได้รับการเรียกว่ามิโกะเอาไว้เช่นกัน แต่ทว่า เมื่อเข้าสู้ยุคเมจิ (ปี ค.ศ. 1868 ถึงประมาณ ปี ค.ศ. 1912) ก็ได้เริ่มมีการพิจารณาทบทวนถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับการทำพิธีกรรมต่างๆ เช่นว่านั้น และท้ายที่สุดก็ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการพยากรณ์ และการสวดบูชาเทพเจ้าโดยมิโกะอีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้มิโกะแทบจะสูญหายออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ศาลเจ้าชินโตบางแห่งได้เริ่มมีการจ้างมิโกะเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยของนักบวชในศาลเจ้า

 

ในปัจจุบัน นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของนักบวชในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แล้ว มิโกะยังทำหน้าที่เต้นระบำบวงสรวงที่เรียกว่า “คากุระ” (神楽) เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาชินโตอีกด้วย

ตำแหน่ง “ไซโอ” และคุณสมบัติการเป็นมิโกะ

ต้องขอกล่าวให้ชัดเจนไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่าปัจจุบัน ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติของหญิงที่จะเป็นมิโกะเอาไว้แต่อย่างใด ดังนั้น ศาลเจ้าชินโตแต่ละแห่งจึงสามารถกำหนดคุณสมบัติของหญิงที่จะเป็นมิโกะได้ตามที่เห็นสมควร แต่กลับมีผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่าหญิงที่จะเป็นมิโกะได้นั้น จะต้องเป็นโสดและยังคงความบริสุทธิ์อยู่ หญิงที่ทำการสมรสแล้ว จะไม่สามารถเป็นมิโกะได้ ความเข้าใจเหล่านี้มีที่มาจากธรรมเนียมการคัดเลือกตำแหน่งที่เรียกว่า “ไซโอ” (斎王) หรือ “อิสึคิโนะมิโกะ” (斎皇女) คือ ตำแหน่งที่เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ซึ่งยังไม่ได้เข้าพิธีสมรส จะทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้องค์เทพอะมะเทระสุแทนองค์จักรพรรดิ อีกทั้งยังต้องอุทิศตนให้กับการปฏิหน้าที่ในฐานะมิโกะแห่งศาลเจ้าอิเซะ (ศาลเจ้าที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดมิเอะ) และ ศาลเจ้าคาโมะ (ศาลเจ้าที่มีอายุกว่า 1,500 ปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดเกียวโต) อีกด้วย ดังนั้น คนจำนวนมากจึงเข้าใจว่าสำหรับหญิงที่รับหน้าที่เป็นมิโกะแล้ว การมีความรักหรือการมีความสัมพันธ์กับชายอื่นย่อมเป็นเรื่องต้องห้ามไปโดยปริยาย เพราะอาจทำให้หญิงนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะมิโกะได้อย่างเต็มความสามารถนั่นเอง

 

แม้ปัจจุบันตำแหน่ง ไซโอ หรือ อิสึคิโนะมิโกะ จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยแนวความคิดเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของตำแหน่งไซโอที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงเป็นสาเหตุให้ศาลเจ้าชินโตบางแห่งกำหนดคุณสมบัติของมิโกะว่าจะต้องเป็นหญิงซึ่งยังไม่ได้ทำการสมรสเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ศาลเจ้าชินโตบางแห่งถึงกับกำหนดว่าหญิงที่จะเป็นมิโกะได้จะต้องไม่เคยมีประสบการณ์คบหากับชายใดมาก่อนด้วย กล่าวคือ แม้เป็นหญิงที่ยังไม่ได้ทำการสมรส แต่หากเคยคบหากับชายใดมาก่อนก็ไม่สามารถเป็นมิโกะได้นั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการเป็นมิโกะนั้นไม่ได้มีหลักเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติเอาไว้แต่อย่างใด ศาลเจ้าชินโตบางแห่งจึงอนุญาตให้หญิงที่ทำการสมรสแล้วหรือหญิงที่เป็นผู้สูงอายุสามารถเป็นมิโกะได้เช่นกัน

 

บทสรุปของอดีตร่างทรงแห่งองค์เทพ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในสมัยโบราณหน้าที่หลักของมิโกะคือการทำพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า อีกทั้งเป็นร่างทรงของเทพเจ้าเพื่อรับคำพยากรณ์และนำไปประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ แต่ในปัจุบันหน้าที่หลักของมิโกะคงเหลือเพียงการเป็นผู้ช่วยนักบวชในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ และแสดงระบำบวงสรวงเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาชินโตเท่านั้น นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติในการเป็นมิโกะเอาไว้ จึงทำให้ศาลเจ้าชินโตแต่ละแห่งสามารถกำหนดคุณสมบัติของหญิงที่จะเข้ามาทำหน้าที่มิโกะได้ตามที่เห็นสมควร แต่ด้วยแนวความคิดที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจึงทำให้ศาลเจ้าชินโตบางแห่งกำหนดคุณสมบัติของมิโกะว่าต้องเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ทำการสมรสเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook