ผีม้าบ้อง จากประสบการณ์ของแม่และเพื่อน โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

ผีม้าบ้อง จากประสบการณ์ของแม่และเพื่อน โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

ผีม้าบ้อง จากประสบการณ์ของแม่และเพื่อน โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเรื่องเล่าของชาวเหนือ ตำนาน "ผีม้าบ้อง" มีด้วยกันหลายสำนวน เรื่องที่สุดฮิตก็คือ มีชาย 2 คนเป็นเพื่อนรักกัน สนิทสนมกลมเกลียว จนนับถือกันเป็น "เสี่ยว" ซึ่งโดยทั่วไป คำว่า "เสี่ยว"  นี้ มีความหมายสองอย่าง

 

1) เรียกเพราะเกิดปีนักษัตรเดียวกัน เช่น ปีไก่ ปีหมา หรือถ้าตรงวันตรงเดือน จะยิ่งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  เพราะถือว่าเกิดมาร่วมบุญร่วมภพชาติ

 

2) สนิทสนมรักกันจนเหมือนญาติ แม้เกิดห่างวันเดือนปี ก็นับเป็นเสี่ยวกันได้

  

ในยุคสมัยก่อนโน้น เมื่อบ้านเรือนชาวเหนือส่วนใหญ่ยังตั้งอยู่ในแวดล้อมป่าดง ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทางเหนือนั้นมีประเพณี "แอ่วสาว-อู้สาว" ซึ่งเป็นการสานสัมพันธ์ไมตรีระหว่างชายหญิง เป็นเรื่องสามัญในประเพณี

 

เมื่อบ้านใดมีลูกสาว โตมาเป็นสาวแรกรุ่น ก็จะมีหนุ่มๆ มาแอ่ว (เที่ยว) หา

 

ในการแอ่วนั้น มีกติกาที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า หนุ่มแต่ละคนจะขึ้นแอ่วบ้านใดก็ได้ บางคืนอาจจะไปสองสามบ้าน  หากพึงพอใจก็ไปติดๆ กันต่อจากนั้น หรือหากไม่พอใจ ก็ไม่ขึ้นแอ่วเรือนนั้นอีก

 

ส่วนฝ่ายหญิง ตกยามค่ำแลง ก็จะอาบน้ำทาแป้งแต่งตัว ออกมานั่งรอที่ห้องโถง (ทางเหนือเรียก "เติ๋น") ข้างพ่อแม่ที่รู้ธรรมเนียมก็จะรีบเข้าห้องนอนเสีย ลงเรือนไปบ้านญาติพี่น้องก่อน เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พูดคุยกันเป็นการส่วนตัว

 

พ่อแม่คนใดที่จามๆ ไอๆ อยู่ในห้องนอน หรือไม่ยอมลุกออกจากห้องนอก ก็จะถูกครานินทาว่า เป็นพ่อแม่ขี้หวงขี้ขาง ใจแคบ ส่งผลต่อการพิจารณาว่าจะเข้าไปเขยกันหรือไม่

 

แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการแอ่วอู้ของบ่าวสาว คือการมีระยะห่างที่เหมาะสม การให้เกียรติ ไม่ฉวยโอกาส ห้ามปากว่ามือถึง ต้องไม่มีการลวนลาม ล่วงละเมิดทางเพศ

 

ตามธรรมเนียมเดิมนั้น  เมื่อหนุ่มขึ้นบ้านสาว ก็จะต้องนั่งห่างๆ ก่อน บ้างจึงจะนั่งใกล้หัวบันไดบ้าง นั่งขอบเติ๋นบ้าง ดูทีท่าว่า เจ้าบ้านเองเต็มใจต้อนรับตนหรือไม่

 

หากสาวใดพอใจคนมาเยือน ก็จะต้อนรับขับสู้ เชิญชวนกินน้ำกินบุหรี่  แต่ถ้าไม่พึงใจ ก็มักถามคำตอบคำ และอ้างว่าต้องเข้านอนแล้ว พอหนุ่มลงเรือนก็ดับไฟทันควัน เป็นสัญญาณว่า ไม่ต้องมาอีกแล้ว

 

ในแต่ละคืน สาวบางบ้านจึงได้ต้อนรับหนุ่มๆ มากหน้าหลายตา ส่วนหนุ่มบางคน ได้ยินว่าบ้านไหนมีคนงามก็ไปตามเสาะหา บางคืนก็ไปหลายบ้าน บางครั้งไปถึงต่างหมู่บ้านก็มี เรียกว่า ออนทัวร์กันเป็นที่สนุกสนาน

 

จะว่าไป ก็เป็นการเลือกคู่ที่เท่าเทียมกันดีทั้งสองฝ่าย เพราะเมื่อยังอยู่ระหว่างแอ่วอู้หากัน ไม่ได้ตกลงปลงใจเป็นแฟนกัน ก็จะหึงหวงกันไม่ได้

 

แต่เมื่อไหร่ที่ตกลงแล้วว่าจะเป็นแฟนกันแล้ว ผู้ชายก็ต้องหยุดการไปแอ่วหาสาวอื่น ส่วนผู้หญิงก็จะไม่รับชายอื่นขึ้นเรือนแล้วเช่นกัน ต่อจากนั้น การหมั้นหมายเตรียมแต่งงานก็จะตามมา

 

กลับมาที่เรื่องผีม้าบ้องในตำนาน ที่อธิบายเรื่องการแอ่วอู้ของบ่าวสาว เพราะในยุคสมัยนี้ ประเพณีเหล่านี้แทบจะหายสาบสูญไปหมดแล้ว ชีวิตในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนแปลกหน้าจะเข้าบ้านใคร    และการรอต้อนรับผู้ชายเพียงลำพังในบ้าน ก็เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม

 

แต่ในยุคสมัยโน้น  ลองย้อนกลับไปถึงภาพค่ำคืนมืดดำ  มีหนุ่มๆ ที่อกใจไหวเต้น เพราะมีสาวงามคนนั้นคนนี้อยู่ในจินตนาการ การได้ออกจากบ้านไปแอ่วสาวย่อมคือความสุขหาใดเหมือน

 

และในภาพจำเหล่านั้น เรื่องเล่าผีม้าบ้องก็เริ่มจากตรงนี้

 

เล่าขานสืบต่อกันมาว่า เคยมีหนุ่ม 2 คน สมมุติว่าชื่ออ้ายแก้ว กับอ้ายคำ เป็นเพื่อนกัน เวลาไปแอ่วสาวที่ไหนก็ไปด้วยกัน จนกระทั่งมีช่วงหนึ่ง พอออกจากหมู่บ้านไปได้สักระยะ จะถึงทางแยกเข้าป่าละเมาะรกร้าง ถึงตรงนั้นเมื่อไหร่ อ้ายคำก็จะบอกว่า ให้อ้ายแก้วล่วงหน้าไปก่อน แล้วจะตามไป

 

หลังจากนั้น ก็มีเหตุการณ์แบบเดิมเกิดซ้ำๆ คือพอมาถึงที่ดังกล่าว อ้ายคำก็จะขอแยกไปทำธุระก่อน จนอ้ายแก้วนึกสงสัย เพราะเมื่อเลียบเคียงทางบ้านผู้หญิงว่าเพื่อนตนไปแอ่วหาผู้หญิงทางใด ก็ไม่มีใครพบปะสักรายในละแวกนั้น

 

จนวันหนึ่ง เพราะสงสัยจนทนไม่ไหว อ้ายแก้วจึงลอบสะกดรอยตามอ้ายคำ และก็พบว่า...

 

เมื่อเดินลึกเข้าไปในป่าละเมาะ ท่ามกลางความมืดของยามราตรี มีกลิ่นเหม็นเน่าสาบสางโชยมา และพอปรับสายตาชินกับความมืดทีละน้อยก็ได้เห็น...

 

อ้ายคำกำลังแลบลิ้นเลียกินน้ำเลือดน้ำหนองจากซากกะโหลกหัวควายอยู่

 

เมื่อเห็นดังนั้น อ้ายแก้วก็ตกใจมาก  วันต่อมาจึงไปปรึกษากับครูบาอาจารย์ว่า อ้ายคำถูกผีพรายเข้าสิงหรือไร

 

ปู่จารย์กลับแนะนำว่า ถ้าอยากจะว่าอะไรเป็นอะไร ให้เอาพริกไปทากะโหลกหัวควายไว้ แล้วให้เอาไข่ไก่เสกติดตัวไป หากถูกใครไล่ ให้โยนไข่ให้เขาทีละฟอง แล้วรีบเข้าเรือน เมื่อถึงเรือน ให้ยกกะไดบ้านเปลี่ยนสลับหัวล่างเสีย

 

หมายเหตุอีกนิดว่า ในบ้านเรือนคนเหนือสมัยก่อน มักยกพื้นสูงไม่มาก เพื่อป้องกันเสือสางเข้าบ้าน ตกค่ำคืนก็จะนิยมชักกะไดเก็บกัน

 

และแล้ว เหตุการณ์ลำดับต่อมาก็คือ เมื่ออ้ายคำเข้าไปกินซากหัวควาย ก็เจอความเผ็ดรุนแรงอย่างไม่คาดฝัน พอเผ่นโผนออกมาก็เจอกับอ้ายแก้วที่ยืนตะลึงอยู่ ข้างอ้ายแก้วไม่รอช้า รีบออกวิ่งทันที

 

อ้ายแก้ววิ่งจนสุดฝีเท้า แต่ราวอ้ายคำเป็นอีกคนหนึ่งไปแล้ว ตาแดงเป็นแสงไฟ วิ่งไล่ตามมาติดๆ นึกได้ถึงคำอาจารย์ว่า อ้ายแก้วจึงรีบคว้าไข่ไก่ในถุงย่ามสะพายโยนใส่

 

ปรากฏว่า พอไข่ตกถึงพื้น อ้ายคำก็ถลาลงไปกอบไข่ดิบกินอย่างมูมมาม กินหมดก็ผุดลุกขึ้นและกระโจนเข้าไล่ต่อ อ้ายแก้วเห็นดังนั้นจึงโยนไข่ให้เป็นช่วงๆ ถ่วงเวลาจนกระทั่งเข้าถึงบ้านตนเอง

 

เมื่อกระโดดขึ้นบนบ้านแล้ว อ้ายแก้วไม่รอช้า รีบชักบันไดขึ้นสลับด้านเสีย แล้วขึ้นไปซ่อนตัวอยู่ในเรือน มองผ่านความมืดลงมา เห็นอ้ายคำงุ่นง่านโกรธจัด เดินวนรอบเรือน พลางพูดซ้ำๆ ว่า

 

“บ้านใช่ บันไดไม่ใช่”

“บ้านใช่ บันไดไม่ใช่”

 

ทว่า ใบหน้าและหัวเป็นของอ้ายคำ แต่ลำตัวเป็นม้า

 

ตกรุ่งเช้า ที่ลานดินรอบบ้าน ก็ปรากฏเป็นดั่งรอยตีนม้าย่ำแวดล้อม และพอรวบรวมสติได้ อ้ายแก้วก็รีบไปบอกญาติพี่น้อง พากันไปยังบ้านอ้ายคำ

 

ถึงตรงนี้ บางสำนวนก็เล่าว่า ได้พบอ้ายคำนอนตายกลายเป็นศพอยู่บนที่นอน น้ำลายฟูมปากจากการกินไข่คาถาเข้าไป แต่บางสำนวนก็ว่า เห็นเป็นม้าตัวย่อมๆ นอนตายอยู่ในเรือนนั้น

 

สำหรับที่บ้านเรานั้น เรื่องของผีม้าบ้องก็เป็นหนึ่งในนิทานที่เล่าต่อจากรุ่นสู่รุ่น เวลาตกกลางค่ำกลางคืน สมัยที่บันไดยึดติดถาวรแล้ว ก็ยังมีคำสอนว่า ระวังจะลงไปเจอผีม้าบ้องซุ่มอยู่

 

และว่ากันว่า ผีม้าบ้องยังมักจะออกมาเที่ยวเล่นในคืนเดือนดับและเดือนออก (เดือนเพ็ญ) และถ้าได้พบเห็นอย่าได้ทักถามพูดจา ไม่เช่นนั้นจะถูกทำร้ายได้

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตอนยังเด็กๆ นั้น พ่อกับแม่ก็เล่าตำนานเรื่องผีม้าบ้องนี้ให้ฟังอยู่ พลางว่าเป็นเรื่องที่เขาเล่าต่อกันมา แต่ว่า แม่กับยายมีประสบการณ์ได้เจอผีม้าบ้องด้วยตนเอง !

 

 

 

แม่เล่าว่า ในตอนที่แม่เป็นสาว ยุคนั้นหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แถบแถวหมู่บ้านเรานั้นผู้คนยังนิยมปลูกต้นฝ้ายปั่นเอาด้าย และใช้นุ่นมายัดหมอน ยัดฟูกนอน ในบางคืนจึงจะไปช่วยกันเป็นหมู่ๆ ตามบ้านเพื่อน

 

มีคืนหนึ่ง แม่นัดเพื่อนว่าจะไปช่วยกันปั่นด้าย (ปัจจุบัน ที่ตั้งของบ้านหลังนั้นก็ยังอยู่) แม่เล่าว่า เป็นคืนเดือนหงาย ฟ้าแจ้งกระจ่าง แสงเดือนงามตา แม่ออกจากบ้านที่อยู่กับยาย เดินขึ้นไปตามถนนเพียงลำพัง เพราะแม่ไม่ใช่คนกลัวผีสางอะไร

 

แต่ขณะที่เดินไปได้สักครึ่งทางใกล้ถึงบ้านเพื่อน ก็ได้ยินเสียงฝีเท้าม้า เหมือนมีม้ากำลังควบมาทางข้างหลัง แต่พอเหลียวหลัง ก็ไม่เห็นอะไรสักอย่าง

 

แม่คิดว่าตัวเองอาจจะหูฝาด จึงออกเดินต่อ แล้วก็ได้ยินเสียงเหมือนม้าควบมาจากข้างหน้าอีก แต่เพ่งมองไป ก็ไม่มีอะไรบนถนน

 

จนสักพักหนึ่งก็ถึงบ้านเพื่อน แต่ทันทีทันใด ขณะกำลังจะเดินเข้าประตูรั้วบ้าน ก็ได้ยินเสียงควบม้าอีก แล้วมีแรงลมปะทะตัวแม่ เหมือนมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดผ่านตัวไป

 

แม่ว่า นั่นคือเวลาที่แม่คิดได้อย่างเดียวว่า นั่นน่าจะเป็นผีม้าบ้อง เพราะลำพังได้ยินแต่เสียงก็ยังว่าตัวเองอาจจะหูฝาดได้ แต่แรงลมอุ่นๆ และการเจอสัมผัสในระยะประชิด ที่ผ่านแผ่นหลังแม่ไป แม่ว่า ด้วยสติสัมปชัญญะครบถ้วน สิ่งนั้นปราศจากตัวตน แต่มีอยู่จริง

 

แม่ได้เล่าเรื่องให้เพื่อนๆ ฟังในคืนนั้น และถัดจากนั้นก็กลับมาเล่าให้ยายฟังที่บ้าน ยายบอกแม่ว่า อย่าแปลกใจไปเลย นั่นคือผีม้าบ้อง และยายก็เจอเห็นตัวเป็นๆ มาแล้ว

 

แม่ถามว่า ยายเห็นผีม้าบ้องแบบไหน ยายบอกว่า มันเป็นม้าตัวย่อมๆ บางครั้งก็จะมาเดินอยู่กลางข่วงบ้าน

 

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์เรื่องเล่าจากแม่และยาย ก็ยังดูเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์ เพราะผ่านมาหลายสิบปี นานเหลือเกิน แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อตอนอายุสัก 20 กว่านี้เอง ฉันกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ชื่อเล็ก เคยเปิดร้านขายของกิฟท์ช็อปด้วยกัน ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

 

ในคืนแรกก่อนจะเปิดร้าน หรือคืนสุดท้ายของการจัดเตรียมสิ่งของในร้าน เราทำงานกันอยู่สองคนจนดึก

 

ร้านที่เราไปเปิดกิจการตอนนั้น สถานที่เป็นห้องไม้ชั้นเดียวให้เช่า ด้านหน้าเป็นประตูบานเฟี้ยม อยู่ติดกับถนน ถ้าเปิดประตูกว้าง ก็จะมองทะลุตลอดร้านได้

 

ขณะที่กำลังจัดของกันโค้งสุดท้าย เป็นเวลาสักประมาณใกล้ๆ เที่ยงคืนได้ ในปีนั้นแถบแถวนั้นก็ถือว่ายังเป็นบ้านนอกอยู่มาก เพียง 3-4 ทุ่ม ผู้คนก็ปิดบ้านนอนกันหมดแล้ว

 

แล้ว...เล็กก็ได้ยินเสียงม้าวิ่งควบอยู่ข้างนอก เหมือนมีม้าหลุดออกมากลางถนน แต่ความที่มันดึกมากๆ แล้ว และพอชะโงกมองไป ก็ไม่มีสิ่งใดเลย ตลอดสองฟากทางว่างเปล่า

 

และที่น่าแปลกใจคือ ฉันเองก็จัดของอยู่ด้วยกัน กลับไม่ได้ยินอะไรสักอย่าง

 

เรื่องนี้ เล็กก็ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ และยืนยันว่า ได้ยินเสียงม้าชัดเจนเต็มสองหู ซึ่งในครั้งนั้นเมื่อเล็กบอกให้ฟัง ฉันก็หวนคิดทันทีว่า มันอาจจะเป็น “ผีม้าบ้อง”

 

อ้อ! พอมาเขียนเล่าย้อนหลังถึงแม่กับยาย ก็ทำให้หวนคิดได้อีกอย่างว่า การที่พี่สาวเคยเห็นม้าตัวหนึ่งขึ้นมาเดินอยู่บนบ้านในคืนที่ยายตาย (เล่าไว้ในตอนก่อนหน้า)  จะเกี่ยวอะไรกันไหมนะ หรือว่า ผีม้าบ้องจะมาส่องดูศพยาย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook