เครื่องรางหุ่นพยนต์ และผี โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
หุ่นพยนต์ คืออะไร ถ้าจะให้ตอบอย่างเป็นทางการ ก็คงต้องอธิบายว่า หุ่นพยนต์ จัดเป็นเครื่องรางไสยเวทชั้นสูงอย่างหนึ่ง โดยจัดทำได้จากวัสดุหลากหลาย ตั้งแต่ไม้ หญ้า หวาย ขี้ผึ้ง ดิน โลหะ ตะกั่ว เงิน ฯลฯ และผสมมวลสารต่างๆ ตามแต่ผู้ทรงวิทยาคมจะกำหนด สิ่งสำคัญของหุ่นพยนต์ คือการปลุกเสกให้วัสดุ และมวลสารนั้น มีชีวิตจิตใจ หรือบรรจุพลังเข้าไว้ภายในตัวหุ่น
อุปเท่ห์ในการใช้งาน หุ่นพยนต์แบ่งหลักๆ เป็น 2 สาย เรียกให้เข้าใจง่ายว่า สายเทพ สายพราย หรือสายขาว สายดำ
“สายขาว” หรือสายเทพนั้น มักเป็นหุ่นพยนต์ที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติ เน้นการปลุกเสกเพื่อใช้งานในทางปกป้องคุ้มครอง การตั้งรับ ดูแลเจ้าของ
“สายดำ” หรือสายพราย จะมีการบรรจุมวลสารอาถรรพ์ต่างๆ เพื่อให้มีฤทธิ์เดชมากกว่าปกติ มวลสารดังกล่าวก็มีตั้งแต่ของที่เกี่ยวกับวิญญาณ ศพ ป่าช้า น้ำมันพราย ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับหุ่นพยนต์ที่ฉันคุ้นเคย จะเป็นหุ่นพยนต์สายขาว หรือสายเทพ เพื่อเน้นในการปกปักรักษา คุ้มครองเจ้าของ ดูแลคนในบ้านเรือน เปรียบเหมือนบอดี้การ์ดที่มีความซื่อสัตย์ และภักดีต่อเจ้าของ หากจะแสดงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ก็เพื่อการดูแลเจ้าของให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง จะไม่หวนกลับมาทำร้ายเจ้าของโดยเด็ดขาด
สำหรับในบ้านเรา ตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว ที่ฉันจะคุ้นเคยกับตัวตุ๊กตาต่างๆ ทั้งจากดินปั้น ไม้แกะสลัก หุ่นฟาง หรือจากวัสดุอื่นๆ เช่น ใบไม้ ไม้ไผ่สาน
แรกๆ นั้น ก็ยังเคยนึกว่าพวกตุ๊กตานั้นมีเพียงไว้ใส่ “สะตวง” หรือเครื่องเซ่น ของพลี ของประกอบพิธีกรรมทางล้านนา ซึ่งจะมีทั้งแบบเป็นรูปคน วัว ควาย โดยใช้ตามวาระ เช่น การส่งแถน ส่งจน ส่งเคราะห์ สืบชะตา
(หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำด่ากระทบกระเทียบกันว่า “อ้ายควายสะตวง!” อันมีนัยะถึงการเป็นคนใช้การอะไรไม่ได้ โง่เขลาเบาปัญญา เพราะขนาดจะเป็นควาย ยังเป็นเพียงควายดินเหนียวปั้นยืนทื่ออยู่ในสะตวง จะช่วยงานอะไรก็ไม่ได้)
แต่พอเติบโตมา จึงค่อยหวนกลับไปสังเกตว่า ในบรรดาตุ๊กตาหุ่นต่างๆ นั้น นอกจากกลุ่มใส่ลงในสะตวง ยังมีกลุ่มที่พ่อทำมอบให้บุคคลต่างๆ โดยบางครั้งก็มีแม่เป็นผู้ช่วย และในช่วงบั้นปลายชีวิตของพ่อ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า มันคือพวกหุ่นตุ๊กตาที่บรรจุจิตวิญญาณเข้าไปได้
วัวธนู ควายธนู อิ่น งั่ง แม่เป๋อ กุมาร หรือตุ๊กตาเฝ้าบ้าน คือกลุ่มของจำลองขนาดเล็กเหล่านี้ ที่ในภาคกลางเรียกกันว่า หุ่นพยนต์
หากใครค้นดูในเรื่องของศัพท์ภาษา ก็จะพบการอธิบายไว้ว่า หุ่นพยนต์ คือ “รูปที่ผู้ทรงวิทยาคมเอาวัตถุมาผูกขึ้นแล้วเสกเป่าให้เป็นเหมือนรูปที่มีชีวิต เป็นความเชื่อในวิชาไสยศาสตร์ไทยโบราณ”
และในปี พ.ศ. 2556 เมื่อมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับจุดกำเนิดภาพยนตร์ในยุคสมัยต่างๆ โดยความร่วมมือของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) กับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ก็มีคำอธิบายชื่องานไว้ว่า
“เพลินพยนต์ มาจาก…Play + Learn = Plearn หรือ เพลิน มาผสมกับ พยนต์ ที่มีความหมายว่า ปลุกเสกให้เคลื่อนไหวได้ดุจมีชีวิต
“(เพราะว่า) ...ชาวสยามมีการแสดง หรือการละเล่นที่ใช้เครื่องกลไก หรือกลเม็ด ที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์หรือการละเล่นนั้นกระดุกกระดิกได้เหมือนมีชีวิต โดยเรียกวิธีการละเล่นอย่างนี้ว่า พยนต์ ซึ่งเป็นคำไทยที่แปลว่าปลุกเสกหรือชุบให้มีชีวิต เช่น การแสดงหุ่นที่มีกลไกชักโยงให้เคลื่อนได้ ก็เรียกว่า หุ่นพยนต์ เมื่อมีการนำภาพนิ่งเกิดการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องราวได้จึงเรียกว่า ภาพยนต์ โดยตัวสะกดลงท้ายด้วยรอเรือการันต์ กลายเป็นคำว่า ภาพยนตร์ ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน”
ในพจนานุกรมเอง ก็ระบุความหมายไว้ว่า พยนต์ / พะยน / คำนาม : สิ่งที่ผู้ทรงอาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้นมาเพื่อใช้งาน
ส่วนถ้าเราจะหาความหมายของคำว่า “ยนต์, ยนตร์” ก็คือ “เครื่องกลไก, เครื่องจักรที่ทำให้เกิดพลังงาน หรือทำให้วัตถุเคลื่อนที่” (เช่น รถยนต์ เรือยนต์)
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่มีคำศัพท์ระบุถึงการ “เสกเป่าของให้เป็นรูปที่มีชีวิต” บรรจุอยู่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ แสดงว่าการมีอยู่ของ “หุ่นพยนต์” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ประการใด
ย้อนกลับไปในอดีตสมัยยังเด็ก จากภาพจำหลายครั้ง ที่ได้เห็นพ่อกับแม่ช่วยกันทำหุ่นดิน บางครั้ง มีบางตัวถูกพันด้วยด้ายสายสิญจน์มัดคู่ ขณะที่บางครั้งเป็นพวกตัวแยกห่าง มีคาถากำกับ บางตัวมีสิ่งละอันพันละน้อยตกแต่ง
พ่อเล่าให้ฟังภายหลังว่า ถ้าเรานำหุ่นตุ๊กตาสองตัวไปทิ้งลงน้ำ ในจุดที่ลำน้ำแยกจากกันเป็นสองสาย ในช่วงฤกษ์เวลากำหนด จะเป็นการ “ผ่าจ้าน” คือการให้เจ้าชะตาที่ผูกดวงไว้กับหุ่น เลิกราหย่าร้างจากกันเสีย
ส่วนถ้านำเอาหุ่นสองตัวมาผูกมัดเคียงคู่ จะเป็นการทำเสน่ห์รักใคร่ ผูกใจต่อกัน
หรือถ้าใช้เข็มเข้าปักแทง ใช้ของมีคมกรีดเฉือน หรือเอาไปเผาไฟ เอาไปฝังในป่าช้า จะเป็นการกระทำให้เจ้าของดวงชะตาที่ผูกไว้ได้รับความเจ็บปวด ป่วยไข้ ตกในความพินาศหายนะ จนถึงแก่ชีวิตก็ได้
อย่างไรก็ตาม พ่อบอกว่า ในชีวิตของพ่อนั้น จะไม่ใช้ในทางที่ผิด และ “ตราบใดที่น้ำตาไม่ตกลงถึงหลังตีนอย่าทำ”
แน่นอนว่า มีคนมาขอให้พ่อทำหุ่นในลักษณะต่างๆ ให้ ด้วยจุดประสงค์ต่างๆ กันไป แต่พ่อก็บอกเสมอว่า แม้จะเรียนวิชาไสยศาสตร์มาครบถ้วนดี ดังที่จะได้สอนให้ไว้ ทำให้ดีก็ได้ ทำให้ร้ายก็ต้องทำเป็น แต่เราไม่จำเป็นต้องทำในเรื่องที่ปราศจากผลดี
ผลที่ดี คือผลที่ได้กับตัวเจ้าชะตาใดๆ ที่ไม่ใช่การเอารัดเอาเปรียบใคร ไม่ได้ทำลายล้างใคร ไม่ได้เป็นการมุ่งร้ายหมายขวัญ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่ากรณีไหนควรทำ ไม่ควรทำ
พ่อว่า ก็ต้องสอบทานเอาให้ถ่องแท้ เป็นต้นว่า ถ้าจะขอให้เลิกร้างเพราะอะไร หากเขารักกันดี แต่ตัวเป็นพ่อแม่ญาติพี่น้อง มือที่สองที่สาม อยากจะให้เขาเลิกกันย่อมทำไม่ได้ แต่ถ้าเพราะอีกฝ่ายทุบตีข่มเหง ทำร้ายกายใจ หรืออยู่แล้วตกทุกข์ได้ยากจนอาจจะพากันวอดวาย ก็พิจารณาได้ตามเหตุผล เพราะการ “พ้นกัน” เสียโดยเรียบง่าย คือสิ่งที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ถือว่าทำได้
หรือกรณีเรื่องรักใคร่เมตตา เช่นว่า เป็นเขย เป็นสะใภ้ ไปอยู่ในบ้านเขาแล้วถูกเขาห่มเหงรังแก ก็ทำได้ ให้ผู้ใหญ่มีใจรักเมตตา หรือไปทำมาค้าขาย อยู่ในครอบครัวที่มีเรื่องร้อนร้าย ทำให้คนใจร่มเย็นแก่กัน รักกัน พึ่งพากัน เรียกแขกเรียกลูกค้าช่วยกัน อย่างนั้นทำได้
แต่จะใช้เพื่อไปข่มเหงทางเพศ ไปลวนลามล่วงละเมิด ไปครอบงำจิตใจเอามาเป็นผัวเป็นเมีย อย่างนั้นทำไม่ได้
หุ่นที่ได้ทำมากที่สุด จึงเป็นหุ่นในสายเสน่ห์เมตตาอย่างกว้าง ดั่งเช่น อิ่น หรือหุ่นสายปกป้องคุ้มครอง เช่น วัวธนู ควายธนู และตุ๊กตาเฝ้าบ้าน
ฉะนั้น การที่ในบ้านของเราจะมี “หุ่น” เกิดขึ้นและจากไป มี “อิ่น, ตุ๊กตา, วัวควายธนู” ได้ไปอยู่ตามที่ต่างๆ จึงเป็นเรื่องปกติ และการจะมี “ดวงจิตวิญญาณ” ผลัดกันมาอยู่แล้วไป จึงเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน
การถามว่า บ้านเรามีผีกี่ตัว?
หากจะเรียกดวงจิตวิญญาณเหล่านั้นว่าผี จึงคงจะมีเป็นจำนวนมาก และอย่างที่ได้เล่าไปในตอนก่อนหน้านั้นว่า พ่อไม่ได้อยู่สายดาร์ก จึงไม่ใช่สไตล์บังคับวิญญาณใครมาอยู่
แล้ววิญญาณมาได้อย่างไร? และอะไรคือ “ดวงจิต” ที่ใส่ไว้ในหุ่น
“ผีที่รอไปภพภูมิใหม่ ก็เหมือนคนที่มักไปรออยู่ตามท่ารถบ้าง ชุมสายทางแยกบ้าง หาจังหวะจะโดยสารไปยังที่หมาย” พ่อว่าอย่างนั้น “แต่การที่เขายังไม่มีตั๋ว ไม่มีทุน ก็ต้องรอให้ตัวเองได้ทุนมาเป็นค่ารถรา หรือมีคนช่วยเหลือหยิบยื่นให้
“ลูกสังเกตไหมว่า สัมภเวสี หรือผีเร่ร่อน จึงมักจะอยู่ตามถนนหนทาง ตามทางแยกทางเบี่ยง เพราะเขาเองก็รอจังหวะจะเอาคนเป็นๆ มาเป็นพาหนะโดยสาร แต่บางครั้งก็เร่ร่อนเรื่อยไป บ้านไหนเจ้าที่เจ้าทางไม่มีเขาก็เข้าไปได้ หรือบางทีเขามาเจอเราเข้า (หัวเราะ) เราเห็นเขา เขาเห็นเรา เมื่อเราอนุญาตให้เขาพักพิงได้ เขาก็อาจจะตกลงใจอยู่อาศัยกับเรา”
ฟังจากพ่อแล้ว สัมภเวสีก็คือผีเร่ร่อน คล้ายๆ คนไร้บ้าน (Homeless) เรานี่เอง
“เราให้โอกาสคนได้ ก็ต้องให้โอกาสผีได้” พ่อพูดอีก “เราส่งเสริมให้เขาได้ทำกิจกรรมดีๆ เพียงแต่สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนมันเป็นส่วนบุญกุศล ไม่ใช่เงินทองอย่างของมนุษย์เรา ให้เขาได้อิ่มข้าวอิ่มน้ำ มีบุญสะสมเป็นทุนติดตัวไป พอเขาสามารถไปต่อได้ ข้ามด่านได้ เขาก็จะไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ก็เป็นเรื่องดีแก่ทุกฝ่าย”
แล้วถ้าเขาไม่ใช่ผีดีล่ะพ่อ ถ้าเขาเอาพลังไปใช้ในทางที่ผิด ฉันอดถามไม่ได้
“เราถึงต้องอบรมบ่มนิสัยเขาไง” พ่อตอบ “แรกๆ ก็กำกับด้วยเวทมนตร์คาถาไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ฝึกผีฝึกคนก็อย่างเดียวกัน อยู่ดีอยู่ได้ อยู่ร้ายก็ต้องมีกติกา ถ้าอยู่กันไม่ไหวก็ต่างคนต่างไปเสีย หนักมากก็เอาขังคอกอย่างคนเรานี่แหละ”
แต่ฉันก็ยังสงสัยอยู่
“พ่อ แล้วพวกอิ่น พวกตุ๊กตาน่ารักๆ เอาผีแบบไหนใส่ไป ในพวกนั้นก็เป็นผีเหรอ”
พ่อ : “คำว่าผีคือการเรียกตัวเขาทั้งหมดทั้งมวล แต่การจะเอาเขาผูกเข้าไปกับหุ่น เราเอามาแค่บางส่วนของจิตเขา เป็นจิตที่ผ่านการขัดเกลา รับคำสั่ง เข้าใจว่าต้องไปทำงานแบบไหนยังไง ถ้าเขาทำอะไรนอกลู่นอกทาง เราจะเรียกกลับเมื่อไหร่ก็ได้”
“พ่อ แล้วงั้นอย่างตัวอิ่นมีเพศมั้ย” (ฉันจำได้ว่า มีคนบอกว่าเคยเห็น *อิ่น* ในบ้านเราเป็นผู้หญิง)
“ไม่มี” พ่อตอบทันที “ตัวที่เอามาแต่จิตไม่มีเพศแล้ว จิตเป็นของไม่มีเพศ มีแต่จิตแต่ใจ จิตที่ได้ผ่านการขัดเกลาก็เหมือนน้ำที่กรองใสมาแล้ว เอาไปใช้ได้เต็มที่ แต่ถ้าจะมีเหตุเภทภัยเพราะน้ำนั้น อยู่ที่การใช้น้ำของเจ้าของแล้วล่ะ”