บทแผ่เมตตา แบบพรหมวิหารสี่ แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร
สวดมนต์ "บทแผ่เมตตา" เป็นการตั้งและส่งความปราถนาดีไปยังหมู่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ ตลอดจนเทพเทวา ภูติ ผีปีศาจไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขตกำหนด ไร้ซึ่งพรมแดนขวางกั้น ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้น หรือสรรพสัตว์นั้นๆ จะมีเชื้อชาติใด ศาสนาใด จะเกี่ยวข้องกับเราโดยความเป็นญาติ หรือสิ่งใดก็ตามแต่ จุดประสงค์ คือ ขอให้เขาได้มีความสุข อย่าได้มีความทุกข์ระทมขมขื่น
หากย้อนความตามหลักการแผ่เมตตาในทางพระพุทธศาสนานั้น ในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งต่างมีสิ่งที่ตนปราถนาคล้ายกัน คือ ความสุข รวมถึงการหลีกเลี่ยงจากภัยอันตรายต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ หากตนมีความปราถนาในความสุขฉันใด ผู้อื่น หรือสรรพสัตว์อื่นๆ ต่างก็ต้องการความสุขฉันนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้สอนให้เรานำความรู้สึกของตนเองเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เข้าใจผู้อื่น จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ มีเมตตาต่อผู้อื่นและสรรพสัตว์ที่มีอยู่บนโลกมากขึ้น ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การแผ่เมตตาจึงสมควรกระทำให้แก่ตนเองและผู้อื่น ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยตั้งความปราถนาดี ความปราถนาที่จะให้ทุกชีวิตมีความสุขเสมอกัน
วันนี้ Sanook Horoscope จึงได้นำเอา บทแผ่เมตตา ที่เป็นแบบพรหมวิหารสี่มาฝากกัน ซึ่ง พรหมวิหาร หมายถึง ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ ซึ่งคนทั่วไปมักจะคุ้นเคยกันในชื่อเรียกที่ว่า "พรหมวิหารสี่" อันได้แก่ เมตตา , กรุณา , มุฑิตา และ อุเบกขา อาจอธิบายความหมายหลักทั้ง 4 ได้ดังนี้
- เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
- กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
- มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
- อุเบกขา การรู้จักวางเฉย
ก่อนที่จะเริ่ม บทแผ่เมตตา ควรนั่งสมาธิอย่างน้อย 3 - 5 นาทีตามโอกาส เพื่อให้จิตใจของเราเกิดความอ่อนโยน สะอาด ผ่องแผ้ว อันเกิดมาจากการทำสมาธิ ที่ถึงแม้ว่าจะใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่ก็เป็นจิตที่ว่างจากการความพยาบาทอาฆาต ความอิจฉาริษยา กามราคะ และว่างเว้นจากความเศร้าซึม การนั่งสมาธิจะช่วยเสริมให้จิตมีพลัง เหมาะเป็นอย่างยิ่งก่อนการเริ่มปฏิบัติโดย บทแผ่เมตตา นั้นถูกแบ่งออกเป็น 4 บท ดังนี้
บทแผ่เมตตา แบบพรหมวิหารสี่
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกันเถิด
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กาย ทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงเป็นผู้มีสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
บทกรุณา
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ จงพ้นจากทุกข์เถิด
บทมุทิตา
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
มา ลัทธะสัมปัตติโต วิมุจจันตุ จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันตนได้แล้วเถิด
บทอุเบกขา
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสิ้น
กัมมัสสะกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน
กัมมะทายาทา เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนิ เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ กระทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
ในการแผ่เมตตาแต่ละครั้งอาจไม่จำเป็นต้องกล่าวเป็นภาษาบาลีเสมอไป การสวดบทแผ่เมตตาเป็นภาษาไทยก็สามารถทำได้ ขอให้เป็นภาษาของความรู้สึกนึกคิด นึกถึงสิ่งๆ นั้นที่เป็นสิ่งที่ดีจริงๆ มีความเมตตาต่อการเกิดของตนเองที่ในบางครั้งอาจต้องเผชิญกับความทุกข์ ความเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และต้องเผชิญกับความแก่ ความเจ็บ ความตายวนเวียนไปเป็นวัฐจักร หากการแผ่เมตตานั้นถึงแม้จะใช้ถ้อยคำเป็นภาษาบาลี แต่ความรู้สึกนึกคิดในระหว่างการแผ่เมตตานั้นไม่ได้เป็นไปตามภาษาที่กล่าว การแผ่เมตตาก็จะไม่มีประโยชน์อะไร
อานิสงส์จากการสวดบทแผ่เมตตา
- นอนหลับเป็นสุข
- ตื่นขึ้นก็เป็นสุข
- ไม่ฝันร้าย
- เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
- เป็นที่รักของอมนุษย์(ยักษ์)
- เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา
- ศัสตราวุธ ไฟป่า ยาพิษ ไม่อาจทำอันตรายได้
- เมื่อได้ปฏิบัติธรรมสมาธิจะเกิดเร็ว
- มีหน้าตาผ่องใสเบิกบานเป็นปกติ
- ไม่หลงตาย
- เมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดในพรหมโลก
ทำไมต้องกรวดน้ำหลังแผ่เมตตา
การกรวดน้ำเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล แต่ก็ไม่อาจจะระบุเป็นช่วงเวลาได้ ในสมัยก่อนเวลาที่จะมอบสิ่งของใดๆ ให้แก่กัน หากเป็นของใหญ่ที่ไม่สามารถยกมอบให้ได้ ผู้คนในสมัยนั้นก็มักจะใช้สิ่งแทน หรือสิ่งอื่นซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการมอบให้ โดยเป็นสิ่งที่สามารถหาได้ง่ายรอบตัว อย่างเช่น น้ำ ผู้คนโบราณมักจะพกน้ำติดตัวไปไหนมาไหนอยู่เสมอ เพราะเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย ฉะนั้น คนโบราณจะให้ น้ำ เป็นสิ่งแทนการให้สิ่งของใหญ่ๆ ที่ยกไม่ไหว มักเรียกน้ำนั้นกันว่า น้ำทักขิโณทก หรือ ทักษิโณทก แม้ในการถวายที่ดิน ถวายอาราม หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ ไม่สามารถยกมอบให้ได้ ก็ใช้วิธีการเทน้ำลงมือผู้รับก็เป็นอันเสร็จ
หากเป็นปัจจุบัน คนเราอาจใช้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่น้ำเป็นสิ่งแทนในการมอบของ เช่น มอบรถ ก็อาจใช้กุญแจรถ หรือป้ายทะเบียนรถ มอบบ้าน ก็อาจใช้เป็นกระดาษโฉนดที่ดิน ซึ่งทั้งหมดแล้วก็แตกต่างกันไปตามยุคสมัย เพราะฉะนั้นแล้ว การกรวดน้ำ เปรียบเสมือนเป็นการทำสัญลักษณ์การมอบสิ่งของให้แก่ผู้รับ เป็นเรื่องของพิธีการ หรือการสื่อความหมายที่ชัดเจน ประมาณว่า “ข้าพเจ้าให้ท่านแล้วนะ” โดยเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา นับว่าเป็นการให้ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เมื่อวกกลับเข้ามาที่เรื่องของการทำบุญแล้วกรวดน้ำ ก็เพื่อทำให้เป็นการแผ่เมตตาที่แน้นแฟ้น เป็นรูปธรรมมาขึ้นเช่นเดียวกัน
จุดประสงค์ของการกรวดน้ำ
การกรวดน้ำ ทำเพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล หรือเป็นการแผ่เมตตาไปยังผีเจ้ากรรมนายเวร ผีเปรตทั่วไป หรือผีเปรตที่เป็นญาตของเรา ไปจนถึงสรรพสัตว์อื่นๆ ทั้งหลายที่เราต้องการจะแบ่งส่วนบุญให้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้รับ หรือผู้ที่เราจะอุทิศให้หากอยู่ในสถานะที่พึงจะได้รับแล้วล่ะก็ ต่อให้เราไม่กรวดน้ำเขาก็ได้รับอยู่ดี แต่หากผู้รับไม่ได้อยู่ในสถานะที่พึงจะได้รับ แม้จะกรวดน้ำให้เขาก็อาจไม่ได้รับ อาจมองในภาพรวมได้ว่าการกรวดน้ำเป็นการให้ผลทางใจ เพื่อให้การอุทิศส่วนบุญนั้นมีความแน่นแฟ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนั้นเราก็ควรเปล่งวาจาเพื่ออุทิศส่วนบุญนั้นด้วย แสดงออกถึงใจที่มอบให้ เปล่งวาจาออกมาให้ตนและผู้อื่นได้ยิน มีน้ำที่เทลงดินให้ตนและผู้อื่นเห็น นับเป็นการให้ที่สมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการให้ทานน้ำแก่พวกสัตว์เล็ก ๆ มีมด และไส้เดือน รวมถึงทำให้ดินชุ่มชื้น เป็นประโยชน์แก่พืชต่าง ๆ อีกด้วย ที่สำคัญการกรวดน้ำเพื่อแผ่เมตตานั้น น้ำที่เทลงไปจะเทที่ไหนก็ได้ที่ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
ข้อมูลเพิ่มเติม Jariyatam.com
ขอบคุณข้อมูลจาก www.tlcthai.com
ขอบคุณภาพประกอบจาก Photos.com