ราเซียไบ ชายแต่งหญิงในคังคุไบ ความเชื่อ และเพศที่สามผู้มาก่อนกาล

ราเซียไบ ชายแต่งหญิงในคังคุไบ ความเชื่อ และเพศที่สามผู้มาก่อนกาล

ราเซียไบ ชายแต่งหญิงในคังคุไบ ความเชื่อ และเพศที่สามผู้มาก่อนกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

           ถึงแม้ว่า “ราเซียไบ” ชายสวมชุดส่าหรีผู้ทรงอิทธิพลในภาพยนตร์อินเดียเรื่องคังคุไบ Gangubai Kathiawadi”  จะเป็นตัวละครสมมติ แต่การปรากฏตัวด้วยภาพของหญิงข้ามเพศบนภาพยนตร์ที่อ้างอิงจากเค้าโครงเรื่องจริง ได้สร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้ชมว่าอาจมีเรื่องราวบางอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ราเซียไบ ในภาพยนตร์อินเดียเรื่องคังคุไบ ราเซียไบ ในภาพยนตร์อินเดียเรื่องคังคุไบ

ราเซียไบ ในภาพยนตร์อินเดียเรื่องคังคุไบ ราเซียไบ ในภาพยนตร์อินเดียเรื่องคังคุไบ

           ลูกสาวบุญธรรมของคังคุไบตัวจริงให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เธอยืนยันว่า “ไม่มีคนชื่อราเซียไบอยู่ในกามธิปุระเท่าที่เธอรู้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีหญิงข้ามเพศอยู่ในยุคนั้นจริง”  เหตุเพราะเพศที่สามในอินเดียนั้นมีมาแล้วเนิ่นนานหลายพันปี ตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1858 อันเป็นจุดเริ่มของยุคอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษที่กินเวลานับร้อยปีกว่าจะปลดแอก

           เพศที่สามในอินเดียถูกเรียกว่า ฮิจรา หรือ ฮิจเราะห์ (Hijra) เป็นภาษาทางการที่ใช้ในการเรียกเพศที่ไม่ใช่เพศชายและเพศหญิง หมายความถึงกลุ่มขันทีที่ตัดตอนเครื่องเพศจากร่างกายแล้ว หลายข้อมูลระบุว่าในยุคอาณานิคมอังกฤษ ฮิจราโดนกีดกันจากสังคมทำให้หลายคนต้องหาทางอยู่รอดด้วยอาชีพค้าบริการเฉกเช่นราเซียไบ บางข้อมูลก็ชวนให้คิดได้ว่าเพศที่สามอาจเริ่มถูกกีดกันมาก่อนนั้น โดยเฉพาะยุคที่ผู้นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ รวมถึงศาสนาพุทธในอินเดียถูกกดขี่อย่างรุนแรง

            ช่วงเวลาทุกข์ยากที่สุดอาจเป็นยุคที่อังกฤษประกาศใช้ Criminal Tribes Act (1871) บทกฏหมายที่รวมบรรดากลุ่มยิปซี  คนเร่ร่อน และกลุ่มเพศที่สาม ตีตราเป็น “ชนเผ่าอาชญากร”  ช่วงนั้นรัฐบาลคิดมาดร้ายต่อกลุ่มฮิจราถึงขั้นสอดแนมตามชุมชนมุ่งหวัง “ล้างเผ่าพันธุ์” ให้สิ้น

            หากขุดค้นตามประวัติศาสตร์และความเชื่อย้อนไปไกลกว่านั้น พบว่าเรื่องราวของเพศที่สามในอินเดียก่อกำเนิดมานานหลายพันปีก่อนคริสต์ศักราช พวกเขาคือกลุ่มบุคคลหนึ่งที่แยกตัวออกจากสังคมแต่ได้รับการยอมรับตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู

            ฮิจราส่วนใหญ่อาศัยรวมกันเป็นชุมชนเฉพาะตน มีผู้นำและระเบียบปฏิบัติ เปิดรับเด็กที่มีจิตวิญญาณต่างจากเพศสภาพแต่ถูกครอบครัวขับไล่ แต่มีบางคนเท่านั้นที่ผู้นำจะเลือกให้เข้ารับพิธี “นิรวาน” หรือพิธีกำจัดเครื่องเพศชายออก เพื่อบ่งบอกถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในการเป็นฮิจราโดยสมบูรณ์ แต่พวกเขาไม่ได้มีปลายทางที่การเป็นโสเภณี ฮิจราหาเลี้ยงชีพด้วยการปรากฏตัวในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น งานแต่งงาน หรือวันแรกเกิดของทารก

             บรรดาฮิจราจะสวมชุดส่าหรีสีสันสดใส แต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางจัดจ้าน และตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับฉูดฉาด ร่ายรำและอวยพรคู่บ่าวสาวหรือทารกที่เพิ่งกำเนิด เจ้าของงานหรือผู้ที่มาร่วมงานจะบริจาคเงินให้ ด้วยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าการปรากฏตัวของพวกเขาช่วยป้องกันความชั่วร้าย คำอวยพรจะนำโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์มาให้ครอบครัว ในทางกลับกันหากฮิจรากล่าวสาปแช่งผู้ใดจะถือกันว่าเป็นความอัปมงคลในชีวิต

            ความเชื่อนี้สืบต่อมาช้านาน อาจมีมานับแต่ปรากฏในเทวตำนาน “รามายณะ” หรือ “รามเกียรติ์” ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรราว 400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช และฝังแน่นอยู่ในหัวใจคนอินเดียมาโดยตลอด เนื้อความฉบับอินเดียใต้ตอนหนึ่งเล่าถึงครั้งพระรามเดินทางไปอยู่บำเพ็ญพรตในป่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันไปส่งพระราม ก่อนเดินทางพระรามบอกให้ชายกับหญิงจงกลับเข้าเมืองไปเสีย แต่ผ่านไป 14 ปีกระทั่งพระรามกลับมา คนกลุ่มนั้นยังคงรออยู่ที่เดิม  เหตุเพราะพวกเขาไม่ใช่ทั้งชายและหญิง พระรามเห็นถึงความซื่อสัตย์และเคารพในคำพูดของตน จึงอวยพรให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิ์ให้พรและสาปใครก็ได้ ถือเป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ที่จะเป็นจริงเสมอ

พระแม่พหุชระ หรือ พระแม่มาตากีพระแม่พหุชระ หรือ พระแม่มาตากี เทวีภาคหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี

            นอกจากเทวตำนานนี้ ฮิจรายังเชื่อว่าตนมีเทพเทวีคอยพิทักษ์และปกป้อง พวกเขาบูชา “พระแม่พหุชระ” อย่างเคร่งครัด จนเป็นที่ยอมรับว่า พระแม่พหุชระ คือสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจของกลุ่มเพศที่สามรวมถึงเพศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หญิงชายแท้ตามกายภาพ  ในศาสนาฮินดู พระแม่พหุชระ หรือ พระแม่มาตากี เทวีภาคหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี ชายาพระศิวะ เชื่อกันว่าพระแม่พหุชระเกิดมาจากน้ำตาของพระแม่อุมาเทวีที่ร้องไห้เพราะความสงสารชีวิตฮิจรา ที่ไม่ถูกจัดอยู่ในวรรณะใด ๆ บางพื้นที่ในอินเดียเชื่อว่า พระแม่พหุชระมีพลังในการเปลี่ยนเพศได้ ทั้งยังมีอีกหลายตำนานที่หล่อหลอมให้พวกเขาเคารพบูชาพระแม่พหุชระด้วยความเชื่อความศรัทธา

            อีกหนึ่งเทพอุปถัมภ์ตามความเชื่อของชาวเพศที่สามก็คือ “พระอรรธนารีศวร” เทพเจ้าฮินดูปางสององค์ในร่างเดียว ขวาคือพระศิวะ และซ้ายคือพระแม่อุมา มีรูปเคารพเก่าแก่ตั้งแต่ยุคจักรวรรดิกุษาณะ หรือประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปัจจุบันพบงานสลักหินบนผนังเทวาลัยเก่าแก่ในอินเดียหลายแห่ง หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองยังพบประติมากรรมพระอรรถนารีศวรที่มีอายุราว 1500 ปี ปัจจุบันตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี สะท้อนถึงคติความเชื่อเรื่องการบูชาพระศิวะและพระแม่อุมาไปพร้อมกันในอดีต

พระอรรธนารีศวรพระอรรธนารีศวรบนผนังเทวาลัยในอินเดีย

ประติมากรรมพระอรรถนารีศวรประติมากรรมพระอรรถนารีศวรที่พบในประเทศไทย

            หลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฮิจราเริ่มได้รับความสนใจจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้สิทธิพื้นฐานในสังคมอินเดียมากขึ้น ขณะที่ทั่วโลกให้การยอมรับและเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศตามลำดับ แต่บางกลุ่มคนยังยืนกรานปฏิเสธและมองความแตกต่างเป็นเรื่องผิดบาป และยังมีเพศที่สามอีกมากมายที่จำต้องอาศัยงานบริการทางเพศหาเลี้ยงชีพ

            อย่างไรก็ตามท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ยังคงมีตำนานความเชื่อทางศาสนาและการเคารพบูชาเทพเทวีที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชาวเพศที่สาม เป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในตนเอง ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจไม่แตกต่างจากปถุชนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศสภาพ สามารถมีชีวิตอย่างรื่นรมย์และมีความสุขได้  

            ปัจจุบันฮิจรายังคงร่ายรำสร้างสีสันในงานเทศกาลในบทบาทที่ต่างออกไป ราวกับคำอำนวยพรที่พระรามมอบให้ในเรื่องรามายณะ...

             “พวกเจ้าจงเป็นพวกที่มีแต่ความสนุกสนานรื่นเริงอยู่เป็นนิตย์”

 ฮิจราฮิจรา ร่ายรำท่ามกลางสายตาฝูงชนในอินเดียตอนใต้

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook