ทำไมคนญี่ปุ่นชอบเล่าเรื่องผีในหน้าร้อน
อีกหนึ่งกิจกรรมหน้าร้อนของคนญี่ปุ่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือกิจกรรมผีๆ นั่นเองค่ะ! ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผี, การเที่ยวบ้านผีสิง, ตามรายการทีวีต่างๆ ก็มักจะฉายรายการพิเศษต่างๆ หรือมีกระทั่งจัดเป็นอิเวนต์เทศกาลเลยทีเดียว ทีนี้ชักสงสัยขึ้นมาแล้วใช่ไหมคะว่าทำไมถึงต้องจัดกรรมเหล่านี้ในช่วงหน้าร้อนด้วย?
ที่มาของเรื่องผีในหน้าร้อนญี่ปุ่น
ที่มานี้อาจจะคล้ายๆ วันปล่อยผีของต่างชาติอย่างวัน Halloween อยู่บ้าง แต่วัน Halloween นั้นตรงกับช่วงสิ้นปี แต่ของญี่ปุ่นกลับเป็นช่วงกลางปี หรือตรงกับช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นนั่นเอง เหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าฤดูร้อนเป็นฤดูที่วิญญาณของคนตายจะหวนกลับมา หรือที่เรารู้จักกันคือ “ช่วงเทศกาลโอบ้ง” นั่นเอง
ความหมายและกิจกรรมของเทศกาลโอบ้ง
โอบ้ง (お盆) เป็นประเพณีของญี่ปุ่นที่สืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นเทศกาลคล้ายๆ กับวันหยุดปีใหม่ เนื่องจากเป็นวันหยุดยาว ทุกคนก็จะเดินทางกลับบ้าน ต้อนรับบรรพบุรุษ และอยู่พร้อมหน้ากัน ร้านค้าส่วนใหญ่ก็จะปิดทำการเพราะผู้คนนิยมเดินทางกลับบ้าน
ช่วงโอบ้งนี้เป็นช่วงที่วิญญาณของเหล่าบรรพบุรุษจะกลับบ้าน ซึ่งมีเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ในช่วงเทศกาลนี้แต่ละบ้านจะจุดไฟต้อนรับไว้ที่หน้าบ้านเพื่อเป็นการนำทางดวงวิญญาณให้เดินทางกลับบ้านได้โดยไม่หลงทาง รวมถึงมีการจัดสำรับอาหาร ส่วนวันสุดท้ายของเทศกาลจะมีการทำพิธีส่งดวงวิญญาณกลับ ปกติแล้วเทศกาลโอบ้งจะจัดขึ้นช่วงวันที่ 13 – 16 กรกฎาคมหรือสิงหาคม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาคด้วย เช่น แถบคันโตจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม เป็นต้น
การตกแต่งด้วยแตงกวาและมะเขือยาว
ทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นเหมือนยานพาหนะที่ช่วยนำพาดวงวิญญาณบรรพบุรุษกลับมายังโลกมนุษย์ แตงกวาเปรียบเสมือนม้า และมะเขือยาวเปรียบเสมือนวัว ตอนประดับของ 2 สิ่งนี้ก็จะอธิษฐานขอให้บรรพบุรุษรีบเดินทางกลับมาโดยเร็วด้วย
ความหมายของบงโอโดริ
ในวันสุดท้ายของเทศกาลโอบ้งจะมีพิธีสังสรรค์เต้นรำที่ให้ฟีลคล้ายกับการรำวงของบ้านเรา บรรยากาศภายในงานจะครึกครื้นทีเดียว ซึ่งเป็นการส่งดวงวิญญาณบรรบุรุษกลับ เรียกว่า “บงโอโดริ”
นอกจากนี้ว่ากันว่าในบรรดาวิญญาณที่กลับมายังโลกมนุษย์นั้นบางดวงก็มีความโกรธแค้น, บางดวงเป็นวิญญาณไร้ญาติ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นได้จึงได้กลายเป็นผีเร่ร่อนที่ปรากฎตัวออกมาหลอกหลอนผู้คนในที่สุด ซึ่งนี่ก็อาจเป็นจุดกำเนิดสำหรับกิจกรรมผีๆ ช่วงหน้าร้อนด้วย
รู้หรือไม่ว่ามีวันของวิญญาณด้วยนะ
วันที่ 26 กรกฎาคม = วันของวิญญาณ ซึ่งที่มาของวันดังกล่าวนี้ย้อนกลับไปสู่สมัยเอโดะช่วงปีค.ศ. 1825 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมมีการแสดงละครคาบูกิที่ Nakamura-za ซึ่งถือว่าเป็น 1 ในโรงละครคาบุกิชื่อดังยุคนั้น ได้แสดงเรื่อง “Yotsuya Kaidan” ขึ้นเป็นครั้งแรก มีเนื่อเรื่องเกี่ยวกับโออิวะ ลูกสาวของโยสึยะ ซามง ที่ถูกสามีของเธอวางยาพิษ จึงกลายเป็นผีเพื่อแก้แค้น ซึ่งว่ากันว่าเนื้อเรื่องนี้แต่งขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเมืองเอโดะ และต่อมาก็ได้กลายเป็นเรื่องผีที่โด่งดังที่สุดของญี่ปุ่นที่มีการเล่าสืบทอดต่อๆ กันมาหลายยุคหลายสมัยจนกลายเป็นต้นกำเนิดของเรื่องผีต่างๆ ของญี่ปุ่น จากที่สังเกตได้ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีของญี่ปุ่นนั้นมักจะเป็นผีผู้หญิง ซึ่ง Yotsuya Kaidan นี้ก็มีบางส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นจริงและอีกส่วนที่เป็นเรื่องแต่งผสมปนเปกันไป แต่ก็สร้างชื่อได้ไม่น้อย นอกจากจะการทำเป็นละครคาบูกิแล้วยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์นับครั้งไม่ถ้วนในหลายๆ เวอร์ชั่นอีกด้วย ดังนั้น Yotsuya Kaidan ที่โด่งดังนี้จึงกลายเป็นเป็นต้นแบบของเรื่องผีต่างๆ ของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ส่วนกิจกรรมในวันของวิญญาณ ยังมีการจัดนิทรรศการภาพวาดผีต่างๆ, จัดอิเวนต์ตามพิพิธภัณฑ์หรือศาลเจ้า เป็นต้น
นอกจากการเล่าเรื่องผีแล้ว ในอนิเมะหลายเรื่องก็แสดงให้เราเห็นว่าหนึ่งในกิจกรรมช่วงหน้าร้อนยอดฮิตโดยเฉพาะในหมู่นักเรียนก็คือ “การทดสอบความกล้า” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 肝試し (คิโมะดะเมะชิ) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมตอนไปตั้งแคมป์ฤดูร้อน หรือค้างแรมนอกสถานที่ ก็จะมีการจัดกิจกรรมทดสอบความกล้าที่ให้ไปเป็นกลุ่ม 2-3 คน เดินสำรวจตามสถานที่น่ากลัวต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ป่า, บ้านร้าง หรือสุสาน เป็นต้น
นอกจากกิจกรรมทดสอบความกล้าก็จะมีการตั้งวงเล่าเรื่องผี หรือไปบ้านผีสิงกันอีกด้วย ซึ่งถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตในหมู่คนญี่ปุ่นประจำหน้าร้อนเลยล่ะค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก allabout.co.jp, lovegreen.net, tenki.jp