13 กรกฎา รวม 3 วันดีแห่งปี 65 อาสาฬหบูชา ซูเปอร์ฟูลมูน และวันเป็งปุ๊ด
วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ตรงกับวันสำคัญหลายโอกาส นอกจากเป็นวันที่มีปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ยังตรงกับคืน 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็น วันอาสาฬหบูชา และตรงกับวันเป็งปุ๊ด ของชาวล้านนาหรือ “วันเพ็ญพุธ” ซึ่งแต่ละวันล้วนเป็นวันดีแห่งปีทั้งสิ้น
ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)
13 กรกฎาคม 2565 ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร เวลาประมาณ 16:09 น. และจะปรากฏเต็มดวงในคืนดังกล่าวในช่วงหลังเที่ยงคืน เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เกิดเป็น ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16% โดยดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.37 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นักดาราศาสตร์หรือนักถ่ายภาพสามารถเก็บภาพความสวยงามได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า
ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) นับเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อในหลายพื้นที่ ความเชื่อคนไทยมีวิชาที่หลากหลายเกี่ยวกับการบูชาและรับพลังจากดวงจันทร์ ตามตำราโหราศาสตร์หลักจันทรคติ ก็กำหนดฤกษ์ยามตามวิถีโคจรของพระจันทร์
กิจกรรมวันซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)
นอกจากการเก็บภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สวยงาม ผู้ที่มีความเชื่อเรื่องพลังงานจากดวงจันทร์เชื่อว่าการออกสู่พื้นที่โล่งรับแสงจันทร์เป็นการอาบแสงจันทร์ หรือรับพลังงานจากแสงจันทร์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้ต้องรับพลังด้วยขณะจิตที่ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ตั้งสัจจะอธิษฐานเพื่อเป็นการขอพรกับดวงจันทร์ได้ด้วยความตั้งใจ
วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
คำว่า "อาสาฬหบูชา" สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา" ซึ่งในปี 2565 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันพุธที่ 13 กรกฎาคม (ขึ้น 15 คํ่า เดือน 8)
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา
พิธีกรรมโดยทั่วไปที่นิยมกระทำในวันนี้ คือ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยเรา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต
วันเป็งปุ๊ด หรือ วันเพ็ญพุธ
วันเป็งปุ๊ด หรือ วันเพ็ญพุธ เป็นประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนของทางภาคเหนือ พระภิกษุสามเณรทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืนวันพุธที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของทุกเดือนทั้งปี โดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด ซึ่งวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 นี้ก็ตรงกับวันพุธและวันขึ้น 15 ค่ำเช่นกัน
ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนวันเป็งปุ๊ด ในแต่ละพื้นที่ของภาคเหนือมีความแตกต่างกันเรื่องของเวลา เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่เชียงราย จะตักบาตรคืนวันอังคารหลังเวลา 00.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่วันพุธ ในขณะที่ลำปาง และแม่ฮ่องสอน แพร่ จะใส่ตักบาตรในคืนวันพุธเวลา 24.00 น. เป็นต้นไป
การใส่บาตรเที่ยงคืนนี้ชาวเหนือมีความเชื่อเกี่ยวกับ “พระอุปคุต” ภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ 1 ปี จะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณชาวพม่ามักตื่นแต่ดึก เพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้วจะได้บุญใหญ่หลวง เกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลในชีวิต คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
ชาวเหนือเชื่อกันว่าพระอุปคุตจะแปลงกายเป็นสามเณรออกมาโปรดสัตว์ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้วบุคคลนั้น จะประสบแต่ความสุขร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองได้อานิสงส์แรง เพราะวันเพ็ญตรงกับวันพุธนั้นอาจมีครั้งเดียว หลายครั้ง หรือไม่มีเลย ก็ได้
กิจกรรมวันวันเป็งปุ๊ด หรือ วันเพ็ญพุธ
วันเป็งปุ๊ด หรือ วันเพ็ญพุธ เป็นประเพณีนิยมที่มีเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น จึงถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนา ที่สืบทอดปฏิบัติกันมา บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวเหนือจะเตรียมข้าวสารอาหารแห้งไว้คอยใส่บาตรตั้งแต่หลังเที่ยงคืน โดยจะไปคอยใส่บาตรที่หน้าบ้าน ตามถนนสายต่าง ๆ หรือตามแยกใกล้ชุมชน ในบางพื้นที่หรือในภาคอื่น ๆ มีการพิธีกรรมบูชาพระอุปคุตเพื่อความเป็นสิริมงคลเช่นกัน
สำหรับท่านที่บูชาพระอุปคุต จึงเป็นโอกาสดีที่จะสวดบูชาเสริมสิริมงคล
คาถาบูชาพระอุปคุต
อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธ นะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โสอิทา นิมะหาเถโร นะมัสสิตตะวา ปะติฏฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะมะหาเถรัง ยัง ยัง อุปะทะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุเม ฯ
คาถาขอลาภพระอุปคุต
มหาอุปคุตโต จะ มหาลาโภ พุทโธลาภัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ราชาปุริโส อิถีโยมานัง นะโม โจรา เมตตาจิตตัง เอหิจิตติจิตตัง ปิยังมะมะ สะเทวะกัง สะพรหมมะกัง มนุสสานัง สัพพะลาภัง ภะวันตุ เม ฯ เอหิจิตติจิตตัง พันธะนัง อุปะคุโต จะ มหาเถโร พุทธะสาวะกะ อานุภาเวนะ มาระวิชะยะ นิระภะยะ เตชะปุญณะตา จะเทวะตานัมปิ มะนุสสานันปิ เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ อิมังกายะ พันธะนัง อะทิถามิ ปะอัยยิสสุตัง อุปัจสะอิ