ตามรอยศรัทธา “พญาครุฑ” จากของสูง สู่ของขลัง

ตามรอยศรัทธา “พญาครุฑ” จากของสูง สู่ของขลัง

ตามรอยศรัทธา “พญาครุฑ” จากของสูง สู่ของขลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ครุฑ” หรือ “พญาครุฑ” พญานกกึ่งมนุษย์ในร่างกำยำน่าเกรงขาม เป็นที่คุ้นตาคนไทยในภาพตราแผ่นดินเรียกว่า “ตราพระครุฑพ่าห์” ประดับบน “ธงมหาราช” ณ สถานที่ที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ตลอดจนพระราชสาส์นและหนังสือทางราชการ เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจวบจนรัตนโกสินทร์

ครุฑตราตั้ง อายุกว่า 80 ปี ครุฑตราตั้ง อายุกว่า 80 ปี

อีกสิ่งที่คุ้นตาคือสัญลักษณ์ตั้งตระหง่านบนอาคารเรียกว่า “ครุฑตราตั้ง” พระครุฑพ่าห์ประกอบข้อความเบื้องล่างว่า "โดยได้รับพระบรมราชานุญาต" พระราชทานเฉพาะผู้ประกอบกิจการโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในกิจการงานหลวงหรือส่วนราชการ และบริษัทเอกชน เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ จากสถาบันพระมหากษัตริย์

ครุฑ ไม่เพียงมีความสำคัญและได้รับการยกย่องในฐานะสัญลักษณ์คู่บารมีองค์กษัตริย์และบ้านเมืองเท่านั้น แต่ปัจจุบันครุฑยังเป็นที่เคารพศรัทธาของกลุ่มชนในฐานะเครื่องรางของขลังที่ผู้คนนิยมบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยความศรัทธาด้านพุทธคุณประกอบกับคติความเชื่อที่มีต่อครุฑที่เล่าขานเป็นตำนานสืบมา

 

คติความเชื่อเรื่องครุฑ

 ครุฑ ที่ปรากฏในตำนานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูครุฑ ที่ปรากฏในตำนานศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ในคัมภีร์ฤคเวท ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กล่าวถึงนกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ครุตมัน” ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “ครุฑ” ในภายหลัง โดยเชื่อว่า ครุฑ คือพาหนะของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ตามคติสมมุติเทพในยุคก่อนถือว่ากษัตริย์เสมือนพระนารายณ์อวตารลงมาปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข

คติความเชื่อเรื่องครุฑของไทยรับเอาความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนี้มาเช่นกัน มีหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า สัญลักษณ์ครุฑปรากฏอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยทวารวดีในรูปลักษณ์ของเทวรูป ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (พบที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร) และปรากฏในรูปแบบสถาปัตยกรรมบนเทวสถานในประเทศไทย ทั้งเป็นศิลปะเขมร ศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย

กระทั่งช่วงปลายสมัยสุโขทัยร่วมเข้าสู่สมัยอยุธยาไทยมีคติความเชื่อเรื่องเทวราชา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดียผ่านทางขอม โดยเชื่อกันว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพคือพระนารายณ์ผู้อวตารมาคอยปกปักรักษาปัดเป่าทุกข์และบำรุงสุขให้ปวงประชา ทรงมีพาหนะประจำพระองค์คือครุฑ ศิลปะงานช่างนับแต่นั้นจึงปรากฏครุฑเป็นเครื่องหมายสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยสืบต่อมายาวนาน

น่าเสียดายที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์บางส่วนมลายสิ้นไปกับกองไฟครั้งกรุงแตกพ่าย แต่ก็กล่าวได้ว่า ครุฑปรากฏเด่นชัดในสถาบันหลักทั้ง 3 ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประชาชนใกล้ชิดกับตราครุฑ ที่ปรากฏครั้งแรกบนเงินพดด้วง ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

 พญาครุฑ จากไม้แกะสลักที่เก่าแก่ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ครุฑของไทยพญาครุฑ จากไม้แกะสลักที่เก่าแก่ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ครุฑของไทย

พญานกผู้ยิ่งใหญ่

ครุฑในคติพราหมณ์ฮินดูเชื่อว่ามีพญาครุฑเพียงหนึ่งเดียว แต่ในตำนานที่เล่าถึงนั้นมีหลากหลาย ในคัมภีร์ปุราณะบางตำรากล่าวไว้ว่าพญาครุฑ เป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ บางตำราก็ว่าพระนารายณ์เป็นผู้สร้างพญาครุฑขึ้นมาด้วยตนเอง และก็ยังมีบางตำราที่กล่าวไว้ว่าพญาครุฑนั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากไข่ และถึงแม้พญาครุฑจะมีเพียงหนึ่งเดียวแต่ครุฑบริวารในแดนหิมพานต์กลับมีจำนวนมากมาย บ้างก็ว่าพวกครุฑเหล่านั้นอาศัยอยู่ตามป่างิ้วริมสระฉิมพลี ณ ตีนเขาพระสุเมรุ

แต่ครุฑในตำนานทางพุทธศาสนานั้น มิได้มีเพียงหนึ่งเดียวเหมือนอย่างครุฑในคติพราหมณ์ฮินดู ครุฑในทางพุทธศาสนาจัดเป็นเทวดาชั้นล่างประเภทหนึ่งภายใต้การปกครองของท้าววิรุฬหก ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศใต้ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑเพราะทำบุญเจือด้วยโมหะ พุทธศาสนายังมีการกล่าวถึงครุฑในพระไตรปิฎกด้วยว่าสามารถกำเนิดครุฑได้ถึง 4 แบบ คือ ออกมาจากไข่ (อัณฑชะ) เกิดในครรภ์ (ชลาพุชะ) เกิดจากเมือกไคล (สังเสทชะ) หรือเกิดขึ้นได้เอง (โอปปาติกะ) เหมือนอย่างเทวดา 

ส่วนรูปร่างที่เกิดเป็นพญานกกึ่งมนุษย์อย่างที่คนไทยชินตานั้นก็ไม่ตายตัวเสมอไป ด้วยความเชื่อเรื่องครุฑมีแพร่หลายในหลายพื้นที่หลายประเทศ ครุฑจึงมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามตำนานความเชื่อในแต่ละพื้นที่นั้นๆ  ได้แก่

ครุฑ ที่มีกายเป็นมนุษย์ แต่มีปีกเป็นนก

ครุฑ ที่มีกายเป็นมนุษย์ แต่มีศีรษะเป็นนก

ครุฑ ที่มีกายเป็นมนุษย์ แต่มีศีรษะและขาเป็นนก 

ครุฑ ที่มีกายเป็นนก แต่มีศีรษะเป็นมนุษย์

และครุฑ ที่มีลำตัวกับศีรษะเป็นพญานก ซึ่งเป็นรูปแบบที่คนไทยเราสามารถพบเห็นกันโดยทั่วไปถึงปัจจุบัน

ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวไว้ว่าพญาครุฑนั้นมีตัวใหญ่มากจนนับขนาดได้เป็น “โยชน์” ซึ่ง 1 โยชน์ เท่ากับ 16 กิโลเมตร กล่าวกันว่าพญาครุฑมีขนาดลำตัวใหญ่กว่า 50 โยชน์ วัดจากปีกซ้ายถึงปีกขวายาว 50 โยชน์ เมื่อครุฑกระพือปีกครั้งหนึ่งก็สามารถหอบเอาต้นไม้หรือสิ่งที่อยู่บนพื้นดินปลิวตามแรงลมขึ้นมาได้ แม้แต่บนผิวน้ำของมหาสมุทรยังแตกออกเป็นวนวงกว้างโดยรอบได้ถึง 100 โยชน์เลยทีเดียว

 

ทรงฤทธิ์ด้วยแรงคุณธรรม

 พระนารายณ์ทรงสุบรรณ หน้าบันวัดราชบูรณะพระนารายณ์ทรงสุบรรณ หน้าบันวัดราชบูรณะ

ความยิ่งใหญ่และพละกำลังมหาศาลของพญาครุฑนี้ได้มาจากไหน?  หากว่ากันตามตำนานเก่าแก่ที่คนไทยคุ้นเคย พญาครุฑนั้นมีพลังตามแรงอธิษฐานของ “นางวินตา” มารดาผู้ให้กำเนิด ที่ในขณะตั้งครรภ์ตั้งมั่นขอพรให้บุตรของตนมีพละกำลังแกร่งกล้าเหนือผู้ใด ครุฑผ่านเวลาฟูมฟักจนออกจากไข่นานถึง 500 ปี ต่อมาเมื่อครั้งศึกแย่งชิงน้ำอมฤตจากพระจันทร์ พญาครุฑฝ่าอุปสรรคนานัปการด้วยเจตนาที่จะช่วยเหลือมารดาอย่างถึงที่สุดแม้จะต้องสละชีวิต

พระนารายณ์เห็นถึงคุณธรรมและความกตัญญู จึงประทานความเป็นอมตะแก่พญาครุฑ ไม่มีผู้ใดหรืออาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งหมายถึง "ขนวิเศษ"

พระนารายณ์ยังให้พรสําคัญแก่ครุฑ คือ การอยู่สูงกว่าพระองค์ สถิตอยู่ที่ยอดเสาธงของพระนารายณ์ พญาครุฑจึงสละตนเองเป็นพาหนะของพระนารายณ์ร่วมแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่ อันเป็นที่มาของสัญลักษณ์ “พระนารายณ์ทรงสุบรรณ” นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้พญาครุฑ จึงนับเป็นเทพชั้นสูงคู่บารมีพระนารายณ์ เปี่ยมด้วยอิทธิฤทธิ์อันแรงกล้าและยึดมั่นในหลักคุณธรรม พญาครุฑ  จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบความดีเป็นที่ประจักษ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอํานาจ คุณธรรม ความกตัญญูกตเวทิตาและความเสียสละ

 

จาก“ของสูง” สู่ “ของขลัง”

แต่เดิมผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าครุฑนั้นเป็น “ของสูง” มิควรอยู่ในที่ต่ำ เนื่องด้วยเป็นสัญลักษณ์เสมือนตัวแทนกษัตริย์ จึงให้ความสำคัญในการประดิษฐานหรือปรากฏบนพื้นที่อันสมควร แต่ปัจจุบันพลังอำนาจและคุณธรรมของพญาครุฑ เข้าถึงความเชื่อความศรัทธาของคนไทยในรูปแบบวัตถุมงคล เป็นทั้ง “ของสูง” และ “ของขลัง” สำหรับเคารพบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลดลบันดาลพลังอำนาจและความเจริญรุ่งเรือง

องค์พญาครุฑ พระอาจารย์วราห์ ปุญญวโร วัดโพธิ์ทององค์พญาครุฑ พระอาจารย์วราห์ ปุญญวโร วัดโพธิ์ทอง 

แรงศรัทธาที่มีต่อองค์พญาครุฑ เชื่อกันว่าพญาครุฑทรงพลังอํานาจได้ 8 ประการ ได้แก่

  1. เป็นมหาอํานาจอันยิ่งใหญ่ เป็นสิทธิอํานาจอันเฉียบขาด
  2. สามารถลบล้างอาถรรพ์และคุณไสยได้ทั้งปวง ภูติผีปีศาจกลัวไม่กล้าเข้าใกล้
  3. เป็นสื่อนําความเจริญรุ่งเรือง ยศถาบรรดาศักดิ์มาสู่ชีวิตหน้าที่การงาน
  4. ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัยเป็นคงกระพัน
  5. เป็นเมตตามหานิยม
  6. นําความร่มเย็นเป็นสุขมาให้
  7. ทํามาค้าขายดี เป็นสื่อนําโชคลาภนานาประการ
  8. สัตว์ร้าย เขี้ยวงาสารพัด งูเงี้ยวเขี้ยวขอ อสรพิษ ไม่กล้ากลํากายเข้าใกล้ เพราะเกรงตบะบารมีขององค์พญาครุฑเป็นที่สุด

 

การบอกเล่าของผู้อาราธนาบูชาพญาครุฑที่เชื่อว่ามีชีวิตที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ตามปรารถนายิ่งเพิ่มพลังศรัทธาให้คนไทยนิยมบูชาพญาครุฑมากขึ้น ในขณะเดียวกันมีการเล่าขานในกลุ่มผู้บูชาว่า การจัดสร้างองค์บูชาพญาครุฑนั้นเป็น “ของแรง” สำหรับผู้ที่บุญบารมีไม่ถึงจะเหน็ดเหนื่อยมากอุปสรรคจนอาจไม่สามารถสร้างวัตถุมงคลได้สำเร็จ รวมถึงผู้ครอบครองบูชาพญาครุฑ หากมุ่งหวังให้องค์ท่านทรงอิทธิฤทธิ์ประทานพรและคุ้มครองตนได้จริงนั้น ผู้ครอบครองบูชาจะต้องประกอบคุณงามความดี มีคุณธรรมมีศีลธรรม รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กตัญญูต่อผู้มีพระคุณและบุพการีเป็นสำคัญ

ดั่งคุณลักษณะของพญาครุฑที่ปรากฏในตำนาน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook