ทำความรู้จัก “นางเงือกญี่ปุ่น” ผ่านบันทึกโบราณและตำนานเก่าแก่

ทำความรู้จัก “นางเงือกญี่ปุ่น” ผ่านบันทึกโบราณและตำนานเก่าแก่

ทำความรู้จัก “นางเงือกญี่ปุ่น” ผ่านบันทึกโบราณและตำนานเก่าแก่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึง “นางเงือก” หลายคนคงจะนึกถึงภาพสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลลึก มีครึ่งบนเป็นมนุษย์หญิงสาวหน้าตางดงามผมยาวสยาย และครึ่งล่างเป็นหางปลามีเกล็ดวิบวับ เชื่อว่าหลายคนคงติดภาพจำนางเงือกในลักษณะนี้มาจากการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง The Little Mermaid หรือในชื่อภาษาไทยคือ เงือกน้อยผจญภัย หรือไม่ก็นางเงือกจากในนิทานเรื่อง พระอภัยมณี ผลงานของสุนทรภู่ที่เราเรียนสมัยมัธยม

แล้วนางเงือกญี่ปุ่นล่ะ? จะมีลักษณะเหมือนฝั่งตะวันตก หรือประเทศไทยหรือเปล่า ในบทความนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับนางเงือกตามบันทึกโบราณและตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่นกันค่ะ

บันทึกญี่ปุ่นโบราณเกี่ยวกับนางเงือก

บันทึกเก่าแก่ของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการปรากฎตัวของนางเงือกนั้น มีตั้งแต่สมัยอาซากุสะจนถึงสมัยเอโดะตอนกลาง ครอบคลุมทั่วประเทศตั้งแต่จังหวัดอาโอโมริถึงจังหวัดโออิตะ มีศูนย์กลางอยู่ที่ชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น ตอนนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีใครบัญญัติศัพท์คำว่านางเงือก (人魚) เอาไว้ แต่ในบันทึกจะบรรยายด้วยคำอื่นแทน เช่น สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายมนุษย์ในแม่น้ำกะโม (Gamou river, 蒲生川), สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ก็ไม่ใช่ปลาก็ไม่เชิง, ซาลาแมนเดอร์ ฯลฯ

จนกระทั่งปรากฎคำว่านางเงือกครั้งแรกในพจนานุกรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Wamyouruijyushou (和名類聚抄) ซึ่งอ้างอิงจากตำราภูมิศาสตร์ของจีน มีบันทึกไว้ว่านางเงือกมีร่างกายเป็นปลา หน้าเป็นคน และมีเสียงร้องเหมือนเด็ก

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกของญี่ปุ่นเกี่ยวกับนางเอกอีกมากมายหลายแห่ง เช่น ในบันทึก Kokon chomonjyuu (古今著聞集) ซึ่งเป็นบันทึกรวมเรื่องราวต่างๆ ที่เล่าสืบต่อกันมาในสมัยคามาคุระนั้นมีบรรยายเกี่ยวกับลักษณะของนางเงือกโดยละเอียด เล่าว่าในสมัยเฮอันตอนปลายที่อิเสะ (จังหวัดมิเอะในปัจจุบัน) มีชาวประมงจับปลาตัวใหญ่ได้สามตัว มีส่วนหัวคล้ายมนุษย์ ปากยื่น ฟันแหลมละเอียด หน้าเหมือนลิง พอเข้าใกล้ก็ร้องไห้เสียงดัง ชาวประมงนำปลาหนึ่งตัวในนั้นกลับไปแล่เนื้อกินที่หมู่บ้านก็พบว่ามีรสชาติอร่อย ในบันทึกเขียนไว้อีกว่า “สิ่งที่เรียกว่านางเงือกเป็นเช่นนี้เอง”

นางเงือกไม่เพียงปรากฎอยู่ในบันทึกโบราณของญี่ปุ่น แต่มีซากนางเงือกมัมมี่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัย Kurashiki University of Science & The Arts (倉敷芸術科学大学) ในโอคายาม่ากำลังศึกษาเกี่ยวกับซากที่มีลักษณะคล้ายนางเงือก คือมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ ท่อนล่างเป็นปลา ซึ่งทางวัดเอนจูอินเก็บรักษาไว้ในกล่องเป็นอย่างดี ภายในกล่องมีกระดาษเขียนไว้ว่า จับปลาตัวนี้ได้ในปี 1736-41 เห็นว่าเป็นของแปลกจึงนำไปทำให้แห้งแล้วเอาไปที่โอซาก้า
ต่อมาครอบครัวหนึ่งได้ซื้อไปเก็บเป็นสมบัติส่วนตัว จากนั้นมาอยู่ที่วัดได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษา และตรวจสอบว่าซากนี้เป็นนางเงือกจริงๆ หรือเป็นแค่ปลาชนิดหนึ่งกันแน่

เงือกในตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่น

นางเงือกในตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่นนั้น แม้ครึ่งบนจะเป็นมนุษย์ ส่วนหัวมีเส้นผม ครึ่งล่างเป็นปลาเหมือนทางฝั่งตะวันตก แต่ก็มีลักษณะเหมือนปีศาจมากกว่าจะเป็นหญิงสาวหน้าตางดงาม ให้ความรู้สึกน่ากลัว และน่าสยดสยองมากกว่าที่จะน่าหลงใหล ต่างกับนางเงือกที่เราเห็นในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

เงือกในตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่นมีหลายแบบ มีทั้งนางเงือกที่มีแขนที่ดูแล้วเกือบจะไม่เหมือนแขนของมนุษย์เพราะมีเกล็ดกับเล็บเบี้ยวๆ และมีทั้งนางเงือกที่ไม่มีแขนเลยอยู่เหมือนกัน นางเงือกที่ปรากฎอยู่ในหลายเรื่องเล่าเก่าแก่นั้น นอกจากส่วนหัวที่มีฟันแหลมคมเชื่อมติดกับร่างกายที่เป็นปลาแล้วก็ไม่มีส่วนไหนที่เหมือนกับมนุษย์เลย

ในตำนานเทพนิยายของญี่ปุ่น บ้างก็ว่าเวลานางเงือกร้องไห้ น้ำตาจะออกมาเป็นไข่มุก, หากกินเนื้อของเงือกเข้าไปจะเป็นอมตะ ไม่แก่ไม่ตาย, นางเงือกสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ได้ เป็นต้น

หนึ่งในตำนานนิทานเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับเงือกและโด่งดังสุดๆ คือ ภิกษุณีผู้มีอายุยืนยาวกว่า 800 ปี ยาโอบิคุนิ (八百比丘尼) เป็นเรื่องเล่าที่ตอนนี้กระจายกันไปตามแต่ละพื้นที่ แม้จะมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เนื้อหาหลักๆ เลยก็คือ เป็นเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่บังเอิญไปกินเนื้อของเงือกที่พ่อได้รับมาโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงมีอายุยืนยาวกว่า 8oo ปี

ปกติแล้วหากพูดถึงนางเงือก ก็จะนึกภาพสาวงามที่มีท่อนล่างเป็นปลาตลอด เพิ่งรู้เหมือนกันค่ะในตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่นพูดถึงนางเงือกในลักษณะนี้มาก่อน แล้วนางเงือกในสายตาของเพื่อนๆ เป็นแบบไหนกันบ้างคะ?

สรุปเนื้อหาจาก karapaia.com , nippon.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook