เลข “สาม” เลขนำโชคดีหรือนำโชคร้ายของคนญี่ปุ่น?
ในญี่ปุ่น มีวัฒนธรรมที่เรียกว่า อิมิคาสึ (忌み数, いみかず) คือตัวเลขที่เชื่อกันว่าควรหลีกเลี่ยงเพราะจะทำให้เกิดโชคร้าย เดิมทีตัวเลขนั้นไม่ได้มีความหมายทั้งทางดีและทางไม่ดี แต่แบ่งออกเป็นตามสถานที่ในการเลือกใช้ ว่านำโชคหรือถือเป็นเลขไม่ดี
ตัวอย่างเช่น หลายคนรู้ว่าเลข 4 คือตาย เพราะในภาษาญี่ปุ่น 4 อ่านได้ว่า shi ซึ่งพ้องเสียงกับคันจิ 死 ที่หมายถึงความตาย และเลข 9 คือทุกข์ เพราะในภาษาญี่ปุ่น 9 อ่านได้ว่า ku พ้องเสียงกับคันจิ 苦 ที่หมายถึงทุกข์ยากลำบาก จึงมักไม่ค่อยใช้ในโรงพยาบาลและคอนโดมิเนียม
อาจกล่าวได้ว่าเลข 3 มีทั้งความหมายที่ดีและไม่ดีตามสถานการณ์ไป ตัวอย่างเช่น ในงานเลี้ยงดื่ม มีธรรมเนียมโบราณคือ คาเคะสุเคะซัมไบ (駆けつけ三杯) วิ่งสามถ้วย เป็นการลงโทษผู้ที่มาสายให้กินเหล้าสาเก 3 แก้ว และยังเป็นที่มาของพิธีที่เรียกว่าชิกิซังคน (式三献) เป็นพิธีที่จัดขึ้นในงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่น โดยการเสิร์ฟเครื่องเคียงและเสิร์ฟสาเก 3 ครั้ง นับเป็น 1 ครั้ง และทำซ้ำ 3 ครั้งโดยเปลี่ยนถาดเสิร์ฟของครั้งที่ 1, 2 และ 3 และดูเหมือนว่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยเฮอัน แต่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย และคำว่าชิกิซังเคน ก็เป็นที่ยอมรับในสมัยมุโรมาจิ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเลข 3 ถูกใช้ในทางที่ดีใน พิธีคาคุเกะซัมไบและ ชิกิซังคน
เลขคี่มักถูกใช้เป็นเลขนำโชคในจีน โดยประเทศญี่ปุ่นเองก็อาจนำแนวคิดนี้มาใช้เช่นกัน ในประเทศจีน เลข 3 ถือเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงการแบ่งแยกของสิ่งต่างๆ และว่ากันว่าการเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาของเลข 3 เช่น สามปีหรือสามเดือน
ในส่วนของงานเลี้ยงเองก็จะมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเลข 3 เช่น การเสิร์ฟจานที่มีผักดอง 3 ชิ้น หรือ ซาซิมิ 3 ชิ้น แต่ความจริงแล้วเลข 3 ในที่นี้มีความหมายที่ไม่ดีเหมือนกับเลข 4 หรือ 9 อย่างที่กล่าวไปด้านบน เพราะ 3 ชิ้นในภาษาญี่ปุ่น (三切れ) สามารถอ่านได้ว่า มิคิเระ (みきれ) ซึ่งสามารถตีความในทางที่ไม่ดีได้ว่า การกรีดท้องตัวเอง (身を斬る, mi wo ki ru)
ที่ร้านอาหารเวลาเสิร์ฟซาซิมิ พวกเขาทำจานซาซิมิสามแบบ โดยอิงจากแนวคิดที่ว่าเลขคี่คือความโชคดี อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะระมัดระวังเกี่ยวกับจำนวนการเสิร์ฟเพื่อไม่ให้เป็นจานสามชิ้นในความหมายที่ไม่ดีค่ะ จะเห็นได้ว่าเลข 3 ในเหตุการณ์เดียวสามารถตีความได้หลายความหมายออกไป
นอกจากนี้ พิธีมงคลสมรสแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมซึ่งเป็นพิธีที่จัดในศาลเจ้าก็ให้ความสำคัญกับตัวเลขเช่นกัน เช่น ซังคนโนะกิ (三献の儀) ซึ่งเป็นการจิบสาเกให้หมดในสามจิบ สองจิบแรกเป็นเพียงแตะริมฝีปาก ต้องดื่มให้หมดในจิบที่สาม เพราะเลขสามถือเป็นเลขที่มีความหมายมงคลในพิธีแต่งงานนั่นเอง
เพราะฉะนั้นการเลือกใช้เลขสามในสถานการณ์ต่างๆ ก็ควรระมัดระวังให้มาก เพื่อไม่ให้เป็นการไปแสดงความไม่เคารพต่อสถานที่หรือสถานการณ์บางอย่างที่เราต้องไปเผชิญค่ะ หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้เผื่อนำไปใช้ได้ หากเจอสถานการณ์ที่ต้องเลือกใช้เลข 3 ขึ้นมาค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan