ย้อนตำนาน พระราหู ทำไมต้องกลืนกินพระจันทร์และพระอาทิตย์
ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักกับวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติล้วนถูกอธิบายด้วยตำนานและความเชื่อ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ จันทรุปราคา และ สุริยุปราคา ที่มาพร้อมกับตำนาน ราหู หรือ พระราหู เทวดานพเคราะห์ที่ถูกผนวกเข้าไว้กับสีดำ ความมืดมน เพราะเชื่อว่าพระราหูคือผู้กลืนกินพระจันทร์ และพระอาทิตย์จนทำให้เกิดเงามัวที่เรียกว่าอาทิตย์ดับ จันทร์ดับ Sarakadee Lite ชวนไปทำความรู้จัก ราหูกันอีกครั้งว่าเป็นใคร มาจากไหน และทำไมต้องคอยตามราวีพระจันทร์ และพระอาทิตย์
- สถานะ : ตำนานการกำเนิดราหูมีอยู่มากมาย โดยสถานะของราหูถูกจัดให้อยู่ใน เทวดานพเคราะห์ หมายถึง เทวดา 9 องค์ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ โดยความเชื่อนี้มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือ พระอาทิตย์ ซึ่งมีบริวารอีก 8 องค์ หนึ่งในนั้นคือ พระราหู บริวารประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางลุ่มหลงมัวเมา
- กำเนิด : การกำเนิดของพระราหูนั้นมีหลากหลายตำราบางตำราว่าสร้างจากผีโขมด 12 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมน้ำอมฤตจนได้เป็นพระราหูที่มีกายสีนิลออกไปทางทองแดง บ้างก็ว่าเป็นโอรสท้าวเวปจิตติกับนางสิงหิกา แต่ที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งคือ พระราหูเป็นโอรสพระพฤหัสบดีกับนางสิงหิกา
- ลักษณะเด่น : ราหูที่พบเจอในไทยนั้นมักมีกายเพียงครึ่งท่อน คือ ศีรษะ คอ ไหล่ อก แขนสองข้าง และมักสร้างให้อยู่ในลักษณะเดียวกันคือกำลังอมพระจันทร์ หรือไม่ก็พระอาทิตย์ อีกลักษณะเด่นของ พระราหู ในไทยคือนิยมสร้างหน้าพระราหูให้เป็นยักษ์ ตาโปน อ้าปากกว้าง มีเขี้ยวโง้ง ดูดุร้าย
- แต่งกาย : สวมมงกุฎ
- ต้องโทษ : ตำนานการเกิดพระราหูนั้นเท้าความไปถึงเรื่องนารายณ์สิบปาง ตอนที่เหล่าเทวดาไปหลอกล่อชวนยักษ์อสูรให้มาช่วยกวนเกษียรสมุทรจนได้น้ำอมฤต ทว่าเมื่อได้น้ำอมฤตมาแล้วกลับกีดกันอสูรไม่ให้ได้ดื่มน้ำอมฤตนั้น พระราหูซึ่งเป็นอสูรตนหนึ่งรู้ทันจึงแอบมาดื่มน้ำอมฤตด้วย แต่พระอาทิตย์และพระจันทร์เห็นเข้าจึงฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์เลยขว้างจักรใส่พระราหูจนตัวขาดสองท่อน
- ศัตรู : ศัตรูที่พระราหูเจอเป็นไม่ได้ก็คือ พระอาทิตย์ และพระจันทร์ เพราะเป็นผู้ฟ้องพระนารายณ์ว่าพระราหูแอบดื่มน้ำอมฤต พระราหูจึงคิดอาฆาตแค้นพระอาทิตย์พระจันทร์เจอเมื่อใดเป็นต้องไล่จับกิน แต่เนื่องจากพระราหูเหลือร่างกายแค่ครึ่งท่อน ระหว่างที่กลืนพระอาทิตย์ พระจันทร์เข้าไปทีไร เทวดาสององค์ก็สามารถหนีเล็ดลอดออกมาได้จึงเป็นที่มาของการเกิดสุริยคราส (สุริยุปราคา) และจันทรคราส (จันทรุปราคา)
- อิทธิฤทธิ์ : เนื่องจากพระราหูได้ดื่มน้ำอมฤต หลังจากถูกพระนารายณ์ขว้างจักรใส่จนตัวขาดสองท่อนพระราหูก็ยังไม่ตาย กลายเป็นอมตะ
- ความเชื่อ : ผู้ที่เชื่อเรื่องราหูนิยมบูชาด้วยเครื่องสีดำ 8 อย่าง มีทั้งของคาว ของหวาน น้ำสีดำ ได้แก่ ไก่ดำ เหล้าดำ กาแฟดำ เฉาก๊วย ถั่วดำ ข้าวเหนียวดำ ขนมเปียกปูน และไข่เยี่ยวม้า
ต้นเรื่อง : บูชาพระราหู โดย ศรัณย์ ทองปาน