ทำไมสีขาวแดงถึงเป็นสีมงคลของคนญี่ปุ่น?
ช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ ใครที่ชอบฟังเพลงญี่ปุ่นจะต้องนึกถึงการแข่งขันร้องเพลงของบรรดาศิลปินชื่อดังในงานขาวแดงแน่นอน แต่จะว่าไปสีขาวแดงเราก็สามารถพบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ทั้งธงชาติ ชุดเจ้าสาว ฯลฯ มันมีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงใช้ในงานมงคล ทำไมถึงใช้แบ่งกลุ่มเป็น 2 ฝ่าย ลองมาดูทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับที่มาและความหมายของสีขาวแดงกันค่ะ
Kouhaku (紅白) คืออะไร?
Kouhaku (紅白) หมายถึง สีแดง (紅) กับสีขาว (白) เป็นสีที่ใช้ในงานมงคลตามประเพณีของญี่ปุ่น และยังสามารถใช้เพื่อแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มที่ตรงข้ามกัน เช่น ในเทศกาลกีฬาหรือการแข่งขันร้องเพลงในงานขาวแดง
ในภาษาญี่ปุ่นมีตัวคันจิอีกตัวที่หมายถึงสีแดงคือ 赤 แต่สาเหตุที่ไม่ใช้เป็น 赤白 ก็เพราะตัว 赤 ยังมีความหมายอื่นในแง่ลบ คือ ยากจน ไม่มีสิ่งใด เปลือยเปล่า จึงใช้ตัว 紅 แทนเพื่อหลีกเลี่ยงความหมายที่ไม่ดี แต่ก็มีอีกทฤษฎีกล่าวว่าเป็นเพราะว่าตัวอักษรจีนที่ถ่ายทอดมายังญี่ปุ่น ตัวที่หมายถึงสีแดงจะใช้ตัว 紅 ไม่ใช่ 赤
สีแดงมีหลายเฉดหลายโทน สำหรับ 赤 กับ 紅 ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยตัว 紅 จะหมายถึงสีแดงคล้ายกับแดงเลือดหมู เป็นสีแดงที่ได้จากน้ำดอกคำฝอย แต่โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงคำว่า 紅白 คนส่วนมากก็จะเหมารวมว่าเป็นสีแดงธรรมดา ๆ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นสีแดงจากน้ำดอกคำฝอย
กล่าวกันว่าต้นกำเนิดของ Kouhaku (紅白) มาจากสงครามเก็มเป Genpei เป็นสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1180 ถึง 1185 ในช่วงปลายสมัยเฮอัน เป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างตระกูลมินาโมโตะกับตระกูลไทระ ในช่วงสงครามฝั่งมินาโมโตะใช้ธงสีขาว (วงกลมสีแดงบนพื้นหลังสีขาว) และฝั่งไทระใช้ธงสีแดง (วงกลมสีทองบนพื้นหลังสีแดง) สีขาวกับสีแดงจึงถูกนำมาใช้ในการแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย
ความหมายและที่มาของ Kouhaku (紅白)
ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ เกี่ยวกับความหมายและที่มาของ Kouhaku (紅白) อย่างเช่นเป็นการสื่อถึงชีวิต ความเป็น ความตายของมนุษย์ โดยสีแดงสื่อถึงเด็กทารก และสีขาวสื่อถึงชุดชินิโชโซกุ (กิโมโนสีขาวที่สวมใส่ให้ผู้เสียชีวิต) หรือทฤษฎีที่ว่ากำเนิดมาจากชุดเจ้าสาวแบบ Shiromuku (白無垢) ซึ่งเริ่มสวมใส่กันในสมัยมุโรมาจิ ต่อมาในช่วงปลายสมัยเอโดะก็มีการเพิ่มซับในสีแดงเข้าไป เรียกว่า Akafuki no Shiromuku (赤ふきの白無垢) โดยสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไร้ราคี และสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความหลงใหล ความมุ่งมั่น เด็ดขาด
มีอีกทฤษฎีกล่าวว่ากำเนิดมาจากเซกิฮัง ตั้งแต่สมัยโบราณของญี่ปุ่นเมื่อมีการเฉลิมฉลองจะนิยมทำโมจิและหุงข้าวเซกิฮัง (ข้าวเหนียวขาวที่ถูกย้อมเป็นสีแดงด้วยถั่วแดง) โดยสีแดงมาจากสีของเซกิฮัง และสีขาวมาจากสีของโมจิ จึงอาจเป็นที่มาของสีแห่งความเป็นมงคลนี้
ทำไมสีขาวแดงถึงกลายเป็นสีมงคล ?
ดังที่กล่าวไป ในวันที่เป็นโอกาสพิเศษ วันเทศกาล งานประจำปี หรืองานเฉลิมฉลอง จะมีการทำโมจิและหุงข้าวเซกิฮัง สิ่งนี้อาจกลายเป็นแนวคิดเรื่องสีขาวแดงเป็นสีแห่งความมงคลก็เป็นได้ และยังมีอีกทฤษฎีคือ ในสมัยมุโรมาจิ กล่องสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามาจากจีนจะผูกด้วยเชือกขาวแดง ซึ่งทางฝั่งประเทศจีนใช้เชือกนี้เพื่อแยกสินค้าส่งออกจากสินค้าอื่น ๆ แต่ฝั่งประเทศญี่ปุ่นเข้าใจผิดว่าการใช้เชือกนี้เป็นธรรมเนียมในการส่งของขวัญ คนญี่ปุ่นจึงเริ่มนำเชือกขาวแดงมาใช้ในการส่งของขวัญจนกลายเป็นต้นกำเนิดของมิซุฮิกิ (เชือกขาวแดงสไตล์ญี่ปุ่น) และเชื่อมโยงสีขาวแดงให้เกี่ยวข้องกับความโชคดี
พูดถึงสีขาวแดง อีกสิ่งที่คนจะนึกถึงก็คือ Hi no Maru (日の丸) หรือธงชาติญี่ปุ่นที่มีวงกลมสีแดงบนพื้นสีหลังขาว ซึ่งเจ้าวงกลมสีแดงนี้ก็ไม่ใช่สีแดงเข้มแบบ 赤 แต่เป็นสีแดงเลือดหมูแบบ 紅 นั่นเอง สีขาวแดงจึงเป็นสีที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากไม่ได้เป็นเพียงสีมงคลเท่านั้น แต่ยังเป็นสีของธงชาติด้วยอีกด้วย
สรุปเนื้อหาจาก jpnculture