ความเชื่อในตำราโบราณ สิริมงคล 8 ประการ สำหรับการดำเนินชีวิต
การเกต์พยากรณ์ เผยถึงความเชื่อในตำราโบราณ ว่าด้วยเรื่อง สิริมงคล 8 ประการ ข้อปฏิบัติที่มีการกล่าวถึงในตำราโบราณ ที่เชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติตามจะมีความเจริญรุ่งเรือง มีความเป็นสิริมงคล
ย้อนกลับไปว่า ในตำราเก่า ๆ สมัยก่อน มีกล่าวถึงเกร็ดเคล็ดลางความเชื่อกันอยู่เป็นจำนวนมาก หลากหลายเรื่องราว บางเรื่องราว มาถึงยุคสมัยนี้ก็อาจจะไม่มีคนรู้จักกันแล้ว หรือวิถีชีวิตสมัยใหม่ ก็เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่อาจจะทำตามได้อีกต่อไป "บางเรื่องก็ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม" "มากกว่าจะแค่เชื่อ ๆ ตามกันไป" แต่ก็น่าสนใจดีนะคะ ว่าแต่ละอย่างจะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ วันนี้จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง และดูกันสิว่า ใครจะสนใจทำตามอยู่บ้างไหม
สิริมงคล 8 ประการ
- การเว้นการเสพกามรสในวัน 7 ค่ำ และ 15 ค่ำ วันที่มีจันทรุปราคา มีสุริยุปราคา และวันเกิดของตัวเจ้าชะตา หากทำได้ กล่าวว่า จะมีเทวดารักษา
- เมื่อรับประทานอาหาร ได้หันหน้าไปยังทิศตะวันออก จะมีเทวดาให้พร
- หากขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ให้หันหน้าไปยังทิศตะวันตก เทวดาจะรักษา
- หากชายหญิงนอนร่วมกัน ให้หญิงนอนฝั่งซ้าย ชายนอนฝั่งขวา จะมีสิริมงคล
- ให้แยกผ้านุ่งห่มกลางวัน กับผ้านุ่งห่มกลางคืนไว้แยกจากกัน ไม่ปะปะทั้งการนุ่ง และการซักชำระ เทวดาจะรักษา
- ในยามเช้า จุดสิริมงคลอยู่ที่หน้าผาก ให้ล้างหน้าและระลึกสิ่งที่ดีงาม ในยามล้างหน้า เทวดาจะให้พร
- เวลาเที่ยง หรือ 12 นาฬิกา จุดสิริที่อยู่หน้าอก อาบน้ำ ทาแป้ง เทวดาจะรักษา
- เวลาค่ำ จุดสิริอยู่ที่หัวแม่เท้าและกลางเท้า ก่อนเข้านอนให้ชำระเท้าให้สะอาด เทวดาจะรักษา
สิริมงคล 8 ประการนี้ กล่าวว่า หากผู้ใดกระทำได้พร้อมมูลครบถ้วน จะมีโชคลาภ รับพรอันดี มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไปฯ
สำหรับผู้พยากรณ์แล้ว ในตำราของล้านนา ข้อ 6 7 8 เป็นข้อที่ผู้ใหญ่ยังมักจะสอนเด็ก ๆ อยู่ค่ะ แต่ข้ออื่น ๆ นั้น ก็คิดว่าในยุคสมัยที่ผู้คนกับ "ที่อยู่อาศัย" หรือ "สภาพแวดล้อม" ไม่สามารถกำหนดได้เองแต่ต้นทุกอย่างเสมอไป เช่น ผู้อาศัยในคอนโด หรือบ้านจัดสรร อาจไม่สามารถกำหนดทิศหัวนอนได้เองร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฟังก์ชั่นของแต่ละห้องขึ้นอยู่กับการออกแบบแต่ต้น
อย่างข้อ 1 - 4 ก็คิดว่า คงยากที่จะหาคนทำตามแล้วแหละ หรือ ข้อ 5 การจะหาเหตุผลแยกซักผ้านุ่งกลางคืนกับผ้านุ่งกลางวัน ประเด็นน่าจะอยู่ที่ประเภทของผ้า มากกว่ามิติทางเวลา (หรืออาจเป็นไปได้ว่า ในสมัยเก่า ช่วงยุคเกษตรกรรม เสื้อผ้าใช้กลางวันจะแปดเปื้อนเหงื่อไคลมากกว่า เสื้อผ้านุ่งนอนกลางคืนจะสกปรกน้อยกว่า จึงควรจะแยกซักเสียแต่ต้น)
ประเด็นที่ผู้พยากรณ์อยากเสนอก็คือว่า เวลาเราได้อ่าน ได้ฟัง ได้รับรู้อะไรมา ก็อาจจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณประกอบ ใช้ความคิด ใช้การพิจารณาไตร่ตรอง และดูบริบทแวดล้อมของมันเสมอ
การมีความเชื่อ ความศรัทธา ความชื่นชอบต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องประกอบไปด้วยสติ ความรู้ การจำแนกแยกแยะ และการจับประเด็นในส่วนสำคัญ คำว่า "งมงาย-ไม่งมงาย" กับ "ไม่เชื่อแต่ไม่ลบหลู่" จึงมีความหมายอย่างลึกซึ้งนะคะ