ประวัตินางสงกรานต์ ปี 2566 นาม "กิมิทาเทวี" พร้อมคำทำนาย
ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศนางสงกรานต์ประจำปี 2566 และจัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ พร้อมกับคำทำนายดวงเมืองประจำปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปีนี้ ได้แก่ นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
นางสงกรานต์คือใคร
ตำนานของสงกรานต์ มีปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) โดยเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ เป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติว่าตรงกับวันใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้ง 7 โดยเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ โดยจะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะที่แตกต่างกัน
สำหรับนางสงกรานต์ทั้ง 7 นั้น เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ มีหน้าที่อัญเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนรอบเขาพระสุเมรุ และอัญเชิญไปประดิษฐานถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ เมื่อครบ 1 ปี หรือวันที่เวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ ธิดาทั้ง 7 ก็จะผลัดกันมาอัญเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหม หรือผู้เป็นบิดาออกแห่
ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่า ก่อนที่ท้าวกบิลพรหมจะตัดพระเศียรตัวเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร ได้บอกว่า พระเศียรของตนนั้น หากตั้งไว้ในแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก หากทิ้งในอากาศฝนก็จะแล้ง และถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงได้ให้ธิดาทั้ง 7 นำพานมารองรับพระเศียรที่ถูกตัด และให้นำไปแห่รอบเขาพระสุเมรุ และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
โดยธิดาทั้ง 7 องค์ ได้แก่
- นางสงกรานต์ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
- นางสงกรานต์โคราดเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
- นางสงกรานต์รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
- นางสงกรานต์มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
- นางสงกรานต์กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
- นางสงกรานต์กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
- นางสงกรานต์มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
ซึ่งนางสงกรานต์ ในปี 2566 นี้ ได้แก่ นางสงกรานต์กิมิทาเทวี มีลักษณะคือ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือกล้วย และน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
คำทำนายปี 2566
- ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน
- วันที่ 14 เมษายน เป็น ‘วันมหาสงกรานต์’ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที
- วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย วันพุธ เป็น อธิบดี วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ
- ปีนี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว
- เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี ( ดิน ) น้ำงามพอดี