หลากความเชื่อใน “วันวสันตวิษุวัต” คืนวันแห่งความสมดุล

หลากความเชื่อใน “วันวสันตวิษุวัต” คืนวันแห่งความสมดุล

หลากความเชื่อใน “วันวสันตวิษุวัต” คืนวันแห่งความสมดุล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ในหนึ่งปีจะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ “วันวสันตวิษุวัต” (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด)  เกิดขึ้นทุกวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม อีกครั้งคือ “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) วันที่ 22 หรือ 23 กันยายน ของทุกปี ทั้งสองวันถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่อีกฤดูของสองซีกโลก

วันวสันตวิษุวัต ปี 2566 ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม บ่งบอกว่าเริ่มต้นฤดูกาลใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้แล้ว ก่อนจะสลับกันอีกครั้งในวันศารทวิษุวัตอีกหลายเดือนข้างหน้า

ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า วันวสันตวิษุวัต คือวันที่จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ส่งผลให้เป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คำนวนเวลาสำหรับประเทศไทยไว้ว่า ในวันนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้น เวลาประมาณ 06:21 น. และตกลับขอบฟ้า ในเวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือและเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกใต้อย่างเป็นทางการ

ภาพจำลองปรากฎการณ์สำคัญ 4 ปรากฏการณ์ในแต่ละปีภาพจำลองปรากฎการณ์สำคัญ 4 ปรากฏการณ์ในแต่ละปี

เป็นวันที่ต้องกล่าวถึง เพราะพระอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกอย่าง “เสมอภาค”  ไม่ค่ำเร็วและยาวนานเหมือนฤดูหนาว และไม่มีกลางวันยาวนานกว่ากลางคืนเช่นในฤดูร้อน ตามความหมายของคำว่า “วิษุวัต” (Equinox) ที่มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง “จุดราตรีเสมอภาค"

ในจังหวะการเคลื่อนหมุนของโลกแบบเดียวกันนี้ในวันศารทวิษุวัต ตามหลักโหราศาสตร์ยังเชื่อว่า ฤดูใบไม้ร่วงเท่ากับช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวตราชั่ง  เป็นสัญลักษณ์ของ “ความเท่ากัน” หรือ “ความสมดุล” ราวกับสัญลักษณ์แห่งชีวิตที่ตั้งอยู่ในความสมดุล 

“วันวสันตวิษุวัต” เชื่อมโลกสู่นิพพาน

สำหรับชาวญี่ปุ่น วันวสันตวิษุวัต คือวันแรกเริ่มของฤดูใบไม้ผลิที่แท้จริง ในสมัยเก่าก่อนคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับวันนี้ค่อนข้างมาก ด้วยเชื่อว่าเป็นวันที่ควรระลึกถึงพระคุณของธรรมชาติ และเป็นวันเริ่มต้นของความเพียร อีกทั้งฤดูใบไม้ผลิยังเป็นสัญลักษณ์ของความกระปรี้กระเปร่า หลังต้องซึมเศร้ากับความหนาวมาเป็นเวลานาน เรียกว่า “วันชุนบุน” ซึ่งเป็นวันหยุดประจำชาติของชาวญี่ปุ่น

ธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงก่อนหรือหลังวันชุนบุน คนญี่ปุ่นจะเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษ และเคารพหลุมศพบรรพบุรุษเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณ ทำความสะอาดวางดอกไม้ และไหว้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพหลุมศพ จัดวางขนม "โบตะโมจิ" ที่ทำจากข้าวหวานและถั่วแดงเสมือนดอกโบตั๋นที่กำลังเบ่งบานในช่วงนี้ พวกเขาเชื่อที่ว่าหากทำเช่นนั้นแล้ว จะช่วยบรรพบุรุษก้าวข้ามไปสู่นิพพานได้

คงไม่ผิดนักที่จะขอกล่าวให้ภาพอย่างชัดเจนว่า  วันวสันตวิษุวัต เป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าจะช่วยวิญญาณก้าวข้ามผ่านระหว่างโลกกับนิพพาน ในเวลากลางวันเป็นสัญลักษณ์ของโลกมนุษย์ ขณะที่เวลากลางคืนเสมือนเป็นโลกของวิญญาณ ในวันที่กลางวันกลางคืนยาวเท่ากันนี้ เป็นช่วงเวลาที่เชื่อมทั้งสองโลกเข้าด้วยกันอย่างสมดุล 

เป็นโอกาสที่ลูกหลานที่ยังหายใจได้อาศัยฤดูใบไม้ผลิที่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ ได้บอกกล่าวเรื่องดี ๆ ให้แก่บรรพบุรุษได้รับรู้และหมดห่วง เพื่อการเดินทางของวิญญาณสู่นิพพาน

ดอกโบตั๋น ดอกโบตั๋นเบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิดอกโบตั๋นเบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ

“วันกำเนิดร้อยบุปผา” การกลับมาเพื่อเริ่มต้นใหม่   

อีกหนึ่งความเชื่อของชาวจีนในวันวสันตวิษุวัต เรียกวันนี้ว่า  “ชุนเฟิง” ในสมัยโบราณเรียกว่า “รื่อจง” และ “รื่อเย่เฟิน” หมายความถึง วันที่มีเวลากลางวันและเวลากลางคืนยาวเท่ากัน และวันแห่งช่วงกลางของฤดูใบไม้ผลิ  เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ ชาวจีนจึงยกให้วันชุนเฟินคือ “วันกำเนิดร้อยบุปผา” ในมณฑลเจ้อเจียงและพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการจัด “เทศกาลดอกไม้” เฉลิมฉลองสายลมแห่งฤดูใบไม้ผลิ อันเป็นช่วงเวลาที่พฤกษานานาพันธุ์และพืชผลจะเจริญงอกงามได้ดี  

คนจีนโบราณ รับรู้ได้ถึงสายลมแห่งความผลิบานนี้ได้จากการกลับมาของบรรดาเจ้านกนางแอ่น ที่บินหนีหนาวไปไกลแสนไกล แสดงให้เห็นถึงการสิ้นสุดของช่วงเวลาที่ความเหน็บหนาวหยุดทุกสิ่งทั้งชีวิตพืชและสัตว์ ชุนเฟิงคือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า ได้เวลาที่ทุกอย่างจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง การกสิกรรมเริ่มต้นการเพาะปลูก ประเพณีพื้นถิ่นต่าง ๆ สร้างชีวิตชีวาให้กับผู้คน มีประเพณีหนึ่งที่เกิดในช่วงนี้เรียกว่า “หลงไท่โถว” ซึ่งแปลว่า “มังกรเชิดหัว” ที่ใครได้ยินก็รู้สึกถึงความหมาย 

“วันวสันตวิษุวัต” จึงหมายถึง คืนวันแห่งความสมดุลที่เหมาะกับการเริ่มต้นใหม่อย่างแท้จริง

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook