10 เกร็ดประวัติ ตำนาน และความเชื่อ กำเนิด พระคเณศ

10 เกร็ดประวัติ ตำนาน และความเชื่อ กำเนิด พระคเณศ

10 เกร็ดประวัติ ตำนาน และความเชื่อ กำเนิด พระคเณศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระคเณศ หรือ พระพิฆเนศ เป็นเทพองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ชาวไทยนับถือบูชา กระทั่งส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ประติมากรรม นาฏศิลป์ ไปจนถึงอาร์ตทอยร่วมสมัยที่เกี่ยวเนื่องกับพระคเณศ Sarakadee Lite ขอย้อนเกร็ดประวัติ 10 เรื่องเล่า ความเชื่อ และตำนานของพระคเณศ เทพองค์สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ชาวไทยที่นับถือ โดยส่วนหนึ่งเชื่อว่า พระคเณศ หรือ พระพิฆเนศ เป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค เป็นเทพแห่งความสำเร็จ และยังเป็นเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการอีกด้วย

พระคเณศ : ชื่อนี้มาจากคำว่า “คณปติ” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คณะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระคเณศ เป็นเทพที่ปรากฏชื่อเรียกที่ต่างกันตามนิกายความเชื่อต่างๆ มากถึง 108 พระนาม บางพระนามบ่งบอกถึงการกำเนิด บ้างบอกรูปลักษณ์ และบุคลิกภาพของพระองค์ เช่น “เอกทันตะ” หรือ “เอกศฤงคะ” แปลว่า เจ้าผู้มีงาข้างเดียว

ลักษณะ : แม้ พระคเณศ จะถูกสร้างให้มีลักษณะ ท่าทาง สรีระความอ้วน ผอม หรือมีปางที่แตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของช่าง ศิลปิน รวมไปถึงความเชื่อ และยุคสมัย แต่ลักษณะเด่นร่วมกันอย่างหนึ่งของพระคเณศคือเป็นเทพมีเศียรเป็นช้างตัวเป็นมนุษย์ และมีงาข้างเดียว

กำเนิด : กำเนิดของพระคเณศนั้นมีหลายทฤษฎีความเชื่ออย่างมาก บ้างก็เชื่อว่ากำเนิดจากพระศิวะองค์เดียว บ้างว่ากำเนิดจากพระนางปารวตี (อุมา) องค์เดียว รวมทั้งเป็นบุตรของพระศิวะและพระนางปารวตีก็มี  และบางตำนานก็กล่าวว่าพระคเณศเป็นภาคหนึ่งของพระกฤษณะ

ศาสนา : เมื่อเอ่ยถึงพระคเณศ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเทพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทว่ามีการบันทึกเกี่ยวกับพระคเณศปรากฎอยู่ในศาสนาอื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ศาสนาเชน ที่นับถือพระคเณศในฐานะยักษะที่ชื่อ ปารศวยักษะ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในเทพของศาสนาเชนที่มีปางต่างกันไป รวมทั้งมีสัตว์พาหนะเป็นหนู ส่วนศาสนาพุทธมหายานนั้นนับถือพระคเณศในชื่อ วินายกะ รวมทั้งยังนับถือในฐานะทวารบาลก็มี

ความเชื่อ : เมื่อพระคเณศเป็นเทพแห่งอุปสรรคทั้งปวง ดังนั้นพระองค์จึงได้รับการนับถือบูชาในฐานะเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค และเมื่อไม่มีอุปสรรคดังนั้นพระคเณศจึงถือเป็นเทพแห่งความสำเร็จด้วย อีกทั้งยังได้รับการเคารพให้เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการ

ประสูติ : วันที่ 4 เดือนภัทรบท (ตามจันทรคติ หรือราวสิงหาคม-กันยายน) ถือเป็นวันประสูติของพระคเณศ

เทศกาลคเณศจตุรถี : เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองวันประสูติของพระคเณศ โดยเชื่อว่าพระคเณศเสด็จลงมาประทานพรบนโลกมนุษย์ 10 วัน ในช่วงนี้ศาสนสถานของพราหมณ์-ฮินดูก็มักจัดเทศกาลเฉลิมฉลองและสักการะบูชาพระองค์อย่างยิ่งใหญ่ อาจจะจัดในวันแรกหรือจัดติดต่อกัน 10 วัน ซึ่งในไทยนั้นสถานที่ที่จัดงานเทศกาลคเณศจตุรถีอย่างยิ่งใหญ่ก็คือ วัดแขกสีลม หรือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี

ขนมโมทกะ : เป็นขนมที่พระคเณศโปรดปราน ปรุงจากข้าวและน้ำตาลมีรสหวาน คำว่า โมทกะ นี้มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า  ยินดี พึงพอใจ ความรื่นเริงบันเทิงใจ บางคนก็เชื่อว่าขนมโมทกะหมายถึง ความฉลาดรอบรู้ จึงนิยมบูชาขนมโมทกะแด่พระคเณศในวันสำคัญต่างๆ เช่นเทศกาลคเณศจตุรถี

ชายา : ชายาของพระคเณศมีชื่อต่างกันในแต่ละยุคสมัย ทว่าชื่อที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ พุทธิ เทพีแห่งความฉลาด (โอรสชื่อ เกษม) และ สิทธิ เทพีแห่งความสำเร็จ (โอรส ชื่อ ลาภ)

บริวาร : ในรูปปั้นหรือรูปวาดพระคเณศมักจะมีสัตว์อยู่ชนิดหนึ่งหมอบอยู่ปลายพระบาท นั่นก็คือ หนูมุสิกะ อาจจะเรียกได้ว่าสัตว์บริวาร หรือสัตว์พาหนะก็ได้ มีความเชื่อหนึ่งที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยที่นับถือพระคเณศว่า เวลาขอพรให้กระซิบข้างหูหนูมุสิกะ เพราะเชื่อว่าเป็นบริวารที่จะนำคำขอนั้นไปบอกกล่าวแก่พระคเณศ เรียกได้ว่า หนูมุสิกะ เป็นเทพที่ทำหน้าที่รับส่งสารจากมนุษย์ไปยังพระคเณศ นั่นเอง

Fact File

  • เหตุที่พระคเณศมีเศียรเป็นช้างนั้น ว่ากันว่า เมื่อครั้งพระอิศวรและพระอุมา จะจัดให้มีพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ให้กับพระคเณศในวันอังคาร จึงได้เชิญทวยเทพและพระวิษณุมาร่วมอำนวยพรและเป็นสักขีพยาน แต่เนื่องด้วยพระวิษณุทรงบรรทมหลับสนิทอยู่เมื่อถูกปลุกให้ตื่นจากการบรรทมจึงพลั้งพระโอษฐ์ออกไปว่า “ไอ้ลูกหัวหายจะนอนให้สบายก็ไม่ได้” ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์แห่งพระวิษณุที่ตรัสออกมานั้น จึงทำให้พระเศียรของพระโอรสขาดหายไป เหล่าบรรดาทวยเทพต่างก็ประหลาดใจจึงลงความเห็นว่าวันนี้เป็นวันฤกษ์ไม่ดีห้ามทำการมงคลในวันอังคาร และเรียกวันนี้ว่า “วันโลกาวินาศ”จากนั้นพระอิศวรจึงมีบัญชาให้พระวิษณุไปหาเศียรของมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วมาต่อให้พระคเณศ แต่ปรากฏว่าในวันนั้นซึ่งเป็นวันอังคารไม่มีมนุษย์คนใดถึงฆาต จะมีก็เพียงช้างพลายที่มีงาเพียงข้างเดียวนอนตายหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จึงตัดเอาเศียรนั้นมาต่อให้กับพระคเณศ

อ้างอิง

  • องค์ความรู้: สำนักหอสมุดแห่งชาติ เรื่อง: พระคเณศ: พระผู้มีงาเพียงข้างเดียว เรียบเรียงโดย: นางสาวอรวรรณ เจริญกูลบรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
  • องค์ความรู้ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ชุดความรู้ทางวิชาการหลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้ของประเทศไทย ตอนที่ 23:8 เรื่องราวของพระคเณศที่คุณอาจไม่เคยรู้ และพระคเณศที่พบในภาคใต้ ค้นคว้า/เรียบเรียง โดย น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
  • www.facebook.com/PhimaiNationalMuseum
  • https://www.facebook.com/nakhon.museum
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook