ตักบาตร หรือ ใส่บาตร คำใดถูกต้อง
ตักบาตร หรือ ใส่บาตร คำใดถูกต้อง
เมื่อสายบุญถวายอาหารให้พระภิกษุสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตยามเช้า เรียกว่า "ตักบาตร" หรือ "ใส่บาตร" กันแน่ คำใดถูกต้อง หลายคนคงสงสัย เพราะปัจจุบันเรียกกันทั้งสองแบบ และส่วนใหญ่เข้าใจว่า “ใส่บาตร” เป็นคำที่ถูกต้องเพราะเป็นคำตามกิริยาการใส่ของลงไปในบาตรพระ
แต่แท้จริงแล้ว คำว่า “ใส่บาตร” เป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในภายหลัง ไม่มีบรรจุอยู่ในพจนานุกรม คำเดิมที่ถูกต้องคือ “ตักบาตร” ซึ่งคำว่า “ตัก” คำนี้ ไม่ใช่ การตัก ที่หมายถึง เอาภาชนะช้อนสิ่งของขึ้นจากที่เดิม เช่น ตักน้ำ ตักแกง ตักดิน อย่างที่เราใช้กันอยู่ แต่เป็นคำเทียบกับภาษาเขมรว่า “ฎาก่” แปลว่า วางลง
ตักบาตร จึงหมายความโดยตรงว่า เอาของใส่บาตรพระ
สำนวนไทยที่เกี่ยวข้องจึงใช้คำว่า “ตักบาตร” เช่น ตักบาตรอย่าถามพระ หมายความว่า จะให้อะไรแก่ผู้ที่เต็มใจรับอยู่แล้ว ไม่ควรถาม รวมถึงประเพณีงานบุญต่าง ๆ ที่สืบทอดมาช้านานใช้คำว่า "ตักบาตร" เป็นหลัก เช่น ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน เป็นต้น
สรุปได้ว่า คำที่ถูกต้องแบบดั้งเดิม คือ ”ตักบาตร” เช่น “วันนี้วันพระ มาทำบุญตักบาตรด้วยกันไหม” “ตักบาตรยามเช้าสร้างกุศลผลบุญ”
แต่การใช้คำว่า “ใส่บาตร” เช่นที่คุ้นชินในปัจจุบัน ก็ไม่นับเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด ด้วยเป็นคำสามัญที่ใช้เรียกตามกิริยา ทั้งมีเจตนาสร้างกุศลผลบุญไม่ต่างกัน
อ่านเพิ่มเติม