สายมูห้ามพลาด เผยทริคเปิดดวง พร้อมวิธีขอพร เทศกาลนวราตรี
เทศกาลนวราตรี เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญตามปฎิทินฮินดู โดยเป็นเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคาและพระแม่ปารวตีในปางต่างๆ รวม 9 ปาง ซึ่งคำว่า นวราตรี แปลตรงตัวได้ว่า "เก้าคืน" ในภาษาสันสกฤต แต่จัดจริงเป็นเวลา 10 วัน วันที่10 มักจะเรียกว่าเป็นวันวิชยาทศมี หรือ "ทศหรา" ซึ่งเป็นวันที่สำคัญสุดของเทศกาลนี้ ในปี 2566 นี้ เทศกาลนวราตรี จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม – วันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 (รวมทั้งสิ้น 10 วัน)
ในแต่ละคืนของทั้ง 9 วัน ชาวฮินดูก็จะบูชาเทวีทุรคาทั้งเก้าปาง หรือ นวทุรคา ในปางต่างๆ ดังนี้
- ปางไศลบุตรี (shailputri) ปางพระปารวตี ผู้เป็นธิดาของพระหิมวัต ผู้เป็นใหญ่ปกครองภูเขาหิมาลัย
- ปางพรหมจาริณี (bramcharini) ปางที่พระอุมาออกบำเพ็ญตบะเพื่อบูชาพระศิวะ กระทั่งเป็นที่พอพระทัย จึงวิวาห์
- ปางจันทราฆัณฐ์ (chandraghanta) ปางของพระทุรคาที่ทรงปราบอสูร ฆัณฑาและนำสันติสุขกลับคืนมาสู่โลก
- ปางกูษมัณฑา (kushmanda) ปางที่มีรัศมีเปล่งปลั่งในสถานะผู้สร้างสรรค์จักรวาล
- ปางสกันธ์มาตา (skandmata) ปางอุ้มพระสกันธ (ขันธกุมาร) ไว้บนตัก แสดงถึงความรักของมารดาที่มีต่อบุตร
- ปางกาตยะยานี (kaatyayani) ปาง 4 กร แห่งการทำลายมารร้ายในจิตใจ ประทานสุขภาพที่แข็งแรงแก่สาวก
- ปางกาลราตรี (kaalratri) ปางที่มีผิวดำ หมายถึง การทำลายซึ่งอวิชชาและความโง่เขลา ผู้อยู่เหนือการเวลา
- ปางมหาเคารี (mahagauri) ปางประทานพรให้สาวกประสบแต่ความสุขสวัสดิ์มงคล
- ปางสิทธิธาตรี (siddhidatri) ปางประทานโอกาสให้เหล่าเทพ ฤาษี สิทธา เทวดา คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ สาวกที่เข้าเฝ้า
ทั้งนี้การบูชาในแต่ละพื้นที่ก็อาจแตกต่างกันออกไป และไม่จำกัดว่าจะบูชาแค่พระแม่ทุรคาเท่านั้น อาจรวมถึงเทพและเทวีองค์อื่น ๆ ด้วย เช่น พระแม่ลักษมี พระพิฆเนศ พระแม่สุรัสวดี เป็นต้น
ทริคการขอพร
โดยทริคการขอพรให้เปิดดวงปังในช่วงเทศกาลนวราตรี ที่แนะนำที่สุด คือ การเข้าร่วมพิธีให้ได้ครบตามวันทีจัดพิธี เพื่อให้ได้บูชาครบทั้ง 9 ปาง โดยแนะนำการร่วมพิธีที่ “วัดแขก” ตามลำดับ ดังนี้
- วันเสาร์ 14 ต.ค. 66 >> พิธีบูชามหาเทพทั้งหลายที่ประดิษฐานภายในวัด เพื่อเริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2566
- วันอาทิตย์ 15 ต.ค. 66 >> เริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2566
- วันจันทร์ 16 ต.ค. 66 >>พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา
- วันอังคาร 17 ต.ค. 66 >> พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา
- วันพุธ 18 ต.ค. 66 >> พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี
- วันพฤหัส 19 ต.ค. 66 >> พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี
- วันศุกร์ 20 ต.ค. 66 >> พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี
- วันเสาร์ 21 ต.ค. 66 >> พิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ
- วันอาทิตย์ 22 ต.ค. 66 >> พิธีบูชาพระแม่ปางบูชาองค์พระศิวลึงค์
- วันจันทร์ 23 ต.ค. 66 >> พิธีบูชาองค์พระแม่มหาสรัสวดี
- วันอังคาร 24 ต.ค. 66 >> งานแห่ประเพณีเนื่องในวันวิชัยทัสมิ ขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) เวลาประมาณ 19.30 น. เป็นต้นไป
ของไหว้ที่จำเป็น
- กำยานหรือธูปหอม 9 ดอกหากเป็นกลิ่นกุหลาบได้ยิ่งดี
- ดอกไม้ที่มีสีแดง 9 ดอก เช่น ดอกกุหลาบแดง ดอกชบาแดง เพราะสีแดงเป็นสีประจำตัวของแม่ทุรคา
- ผลไม้ 9 ผลอาทิเช่น กล้วย ชมพู่ แอปเปิ้ล สาลี่ เป็นต้น
- น้ำนม 1 ถ้วย น้ำเปล่า 1 ถ้วย
- ทียนแดง 1 คู่
จากนั้นก็ท่องคาถาเอ่ยพระนามของพระแม่ว่า เจ อัมบรี มา ทั้งหมด 108 จบ และร่วมขอพรตามพิธีได้เลย