ส่อนขวัญ พิธีกรรมอีสานในภาพยนตร์ สัปเหร่อ ที่ต้องเตตั้งใจ
ทำความรู้จักกับ "ส่อนขวัญ" พิธีกรรมเรียกสติของชาวอีสานในภาพยนตร์ "สัปเหร่อ" ที่ "ต้องเต" ผู้กำกับเลือดอีสานตั้งใจนำเสนอที่ในผลงานนี้และอีกผลงาน
สัปเหร่อ ภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ฝีมือผู้กำกับ ต้องเต แห่งจักรวาลไทบ้าน นอกจากความเรียลและข้อคิดทัชใจคอหนังแล้ว เสน่ห์ของหนังยังรวมถึงการนำเสนอวิถีชีวิตของชาวอีสานที่แฝงไปด้วยความเชื่อที่ฝังรากลึกและสืบต่อมาช้านาน หนึ่งในนั้นคือ พิธีส่อนขวัญ ที่หลายคนไม่คุ้นเคย แต่พบอยู่ในผลงานของต้องเตอีกครั้ง
"ส่อนขวัญ" พิธีกรรมเรียกสติ
หากใครได้ชมภาพยนตร์จะได้พบกับฉากหนึ่งหลังจากตัวละครประสบอุบัติเหตุ บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่จัดเครื่องบูชาเดินตามทาง พร้อมนำสวิงขึ้นซ้อนไปมาตามทาง ต้องเต เล่าถึงฉากนี้ไว้เพจของตนเองว่า "ส่อนขวัญ" พิธีทางความเชื่อของภาคอีสานที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยทางใจ จะด้วยการประสบอุบัติเหตุก็ดี หรืออาการเจ็บป่วยทางกายก็ตาม
พิธีส่อนขวัญ มีความเชื่อว่า เมื่อบุคคลใดเกิดเรื่องราวดังกล่าวขึ้นจะทำให้ขวัญหนีดีฝ่อ หายป่วยแล้วก็จะมีอาการซึมเศร้า ไม่สดชื่น ไม่แจ่มใสเหมือนคนปกติ จึงทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะทำพิธีนี้ขึ้นเพื่อเป็นการนำขวัญและกำลังใจของคนๆ นั้นกลับมา ชาวอีสานบางคนกล่าวว่า หากไม่ทำ พิธีส่อนขวัญคนป่วยกลับมามีอาการอีก
คำว่า ส่อน มีความหมายว่า การตักหรือช้อน ฉะนั้นแล้วภาพที่หลายๆ คนได้เห็นแม่และคุณแม่ใหญ่ของตัวละครในภาพยนตร์ สัปเหร่อ กำลังถือสวิงที่มีของภายใจตักช้อนอะไรบางอย่างอยู่นั้น นั่นคือ การช้อนเอาขวัญกลับมาตามที่ต่างๆ นั้นเอง
กรณีในภาพยนตร์ สัปเหร่อ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในเวลานี้ ต้องเต ผู้กำกับเลือดอีสาน ตั้งใจนำเสนอการเรียกขวัญที่หล่นหายไปจากอุบัติทางกาย ในมุมของความเจ็บป่วยทางใจที่ทำให้ขวัญหนีสติหายไม่แพ้กัน ต้องเตยังนำเสนอพิธีกรรมนี้ไว้อย่างเด่นชัดใน มิวสิควิดีโอเพลง ขวัญเอยขวัญมา ของปาล์มมี่ ในมิวสิคจะเห็นยายของนางเอกได้ใช้สวิงที่มีชุดแต่งงาน ไปช้อนขวัญตามสถานที่ที่นางเอกเคยไปกับพระเอก ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้าที่เคยไป โรงหนังที่เคยดูหนังด้วยกัน ให้คืนกลับมายังตัวนางเอกเช่นเดิม
สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีนี้ก็จะมี สวิง หมากพลู บุหรี่ ข้าวเหนียวหนึ่งปั้นและไข่ต้มสุกหนึ่งฟอง ข้าวตัม ฝ้ายที่ใช้สำหรับผูกแขน ของหวาน ดอกไม้และเสื้อผ้าของผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย หลังประกอบพิธีเส้นฝ้ายหรือสายสิญจน์จะนำมาผู้ที่ข้อมือเพื่อ "รับขวัญ"
เกร็ดความรู้เพิ่มเติมสำหรับพิธีกรรมส่อนขวัญ ยังปรากฏในฉากสุดท้ายของเอ็มวีนี้ที่ทำเห็นกันว่า นางเอกได้เอาไข่ต้มให้กับพระเอกกินในช่วงท้าย แม้จะเป็นความเสียใจที่มากเท่าไหร่ก็ตาม แต่เพื่อให้เอาขวัญกลับมานางเอกจึงต้องกินไข่และป้อนให้กับพระเอกเปรียบเสมือนการคืนขวัญ คืนเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้แก่กัน
สุดท้ายเรื่องราวในภาพยนตร์จำเป็นต้องเจอกับความพลัดพราก หรือแม้แต่เรื่องราวในเพลงนางเอกจะต้องเสียใจและเดินออกมาจากความรักครั้งนี้ แต่ภาพพิธีกรรมส่อนขวัญที่แสดงถึงเลือดชาวอีสานที่ไม่ละเลยความเชื่อความศรัทธาของบรรพบุรุษก็สามารถตรึงใจผู้ชมและสร้างความจดจำให้ผู้ชมที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
สมความตั้งใจของ ต้องเต