ผีอำ คือผีหลอกหรือไม่ แก้อาการผีอำอย่างไร ถ้าไม่สวดมนต์
ผีอำ คือผีหลอกหรือไม่ แก้อาการผีอำอย่างไร ถ้าไม่สวดมนต์
ใครเคยโดน “ผีอำ” จะเข้าใจถึงอาการเหมือนรู้ตัวแต่ขยับร่างกายไม่ได้ หายใจไม่ออก เปล่งเสียงไม่ได้ คนไทยเชื่อกันมากว่าอาการผีอำ เกิดจากมีวิญญาณมาหลอกหลอน นั่งกดทับตัวเวลานอนทำให้ลุกไม่ขึ้น ขยับตัวไม่ไหว หรือคืนนี้ เจอประสบการณ์ขนหัวลุกเข้าให้แล้ว!
ผีอำ อัมพาตแค่กาย?
อาการผีอำ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับผู้ไปทั่วโลก ชาวตะวันตกอธิบายว่าพวกเขารู้สึกและรับรู้ แต่ติดอยู่ในร่างกายที่หลับใหลซึ่งไม่ตอบสนองต่อคำสั่งราวกับคนเป็นอัมพาต!
เมื่อรับรู้ได้ จำได้ แต่ขยับตัวไม่ได้ จึงเป็นเรื่องง่ายที่อาการนี้จะกลายเป็นความเชื่อว่า ผีอำ เป็นเรื่องของสิ่งเร้นลับ สำหรับผู้ปักใจในความเชื่อนี้เอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า จะหลุดพ้นจากอาการผีอำได้ต่อเมื่อตั้งสติ พยามยามปลุกตัวเองให้ตื่นจากภวังค์ สวดมนต์หรือท่องบทแผ่เมตตาในใจ
ในทางวิทยาศาสตร์ได้ให้คำตอบว่าอาการผีอำ ไม่ได้เกิดจากภูตผีลี้ลับความความเชื่อ แต่ผีอำ เป็นอาการผิดปกติจากการนอนหลับชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Sleep Paralysis
ผีอำแบบวิทยาศาสตร์
ในบทความ “ผีอำ ผีหลอกหรือไม่ใช่ผีหรอก” โดย โรงพยาบาลเพชรเวช อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า Sleep Paralysis เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเวลานอน เป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ได้ อาการนี้เกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น คนที่เกิดอาการแบบนี้จะรู้สึกอึดอัด อึกอัก พูดไม่ได้ไปชั่วขณะ แบ่งเป็นสองแบบ
แบบแรก เกิดขึ้นในช่วงใกล้หลับ เรียกว่า Predormital Sleep Paralysis ในช่วงเวลานั้นร่างกายจะอยู่ในภาวะผ่อนคลาย เมื่อผีอำเกิดขึ้นในช่วงนี้ เรามักจะไม่ค่อยรู้ตัว อาจจะมีอาการเพียงรับรู้ว่าขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ได้เท่านั้น
แบบที่สอง เกิดขึ้นในช่วงใกล้ตื่น เรียกว่า Postdormital Sleep Paralysis 75% ของผีอำมักจะเกิดในช่วงนี้ เรามักจะสะดุ้งตื่น รู้สึกตัวในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุดลง มักจะเกิดอาการแน่นหน้าอก อึดอัด ร่วมกับการขยับร่างกายไม่ได้ พูดไม่ได้ อาการผีอำส่วนมากมักจะอยู่ไม่นานเกินกว่า 5-10 นาที
สาเหตุของอาการผีอำ
ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่ามีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดภาวะผีอำ สาเหตุที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
- นอนหลับไม่ดี นอนหลับไม่พอ หรือนอนไม่หลับ พอร่างกายอยู่ในภาวะนี้นานเข้าก็อาจเกิดมีผีอำขึ้นมาได้
- อาชีพที่เวลาการนอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเสมอ เช่น แอร์โฮสเตส ยาม พยาบาล แพทย์ ที่เปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน ต้องอยู่เวรดึกสลับกับเวรเช้า
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด หรือผู้ป่วยสภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น, ยานอนหลับ, ใช้สารเสพติด ฯลฯ
แก้อาการผีอำได้อย่างไร
ถ้าไม่สวดมนต์แผ่เมตตาตามความเชื่อว่าเป็นสิ่งเร้นลับล่ะ ตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราจะแก้อาการผีอำอย่างไร?
ทางการแพทย์แนะนำว่า การดูแลตัวเองในเบื้องต้นนอกจากการรักษาโรคที่ส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการผีอำดังกล่าวแล้ว ผู้ที่อยู่ในภาวะผีอำบ่อย ๆ ควรดูแลตัวเองในเรื่องเหล่านี้
- พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- หลีกเลี่ยงการนอนหงาย
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสมก่อนนอน
หากมองในมุมความเชื่อ อาการผีอำ อาจดูน่ากลัว แต่ทางการแพทย์ก็ช่วยผ่อนความกลัวนี้ลง แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการสวดมนต์ก่อนนอนก็เป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยผ่อนคลายจิตใจให้สงบ ส่งผลให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ส่วนข้อสรุปจากการสงสัยว่า ผีอำ คือผีหลอกหรือไม่ นั่นต้องกล่าวว่าแล้ววิจารณญาณ...และประสบการณ์เฉพาะบุคคล