เชื่อผิดหรือไม่!! ให้เงินขอทาน ได้บาปแทนบุญ?
เชื่อผิดหรือไม่!! ให้เงินขอทาน ได้บาปแทนบุญ ? เมื่อ “ขอทาน” กับ “คนไทยใจบุญ” กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้วงจรขอทานไม่เคยลดละจากสังคมไทย ทั้งกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการค้ามนุษย์ข้ามชาติจนเป็นที่น่ากังวลให้กับหลายฝ่าย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัจจัยของปัญหาเหล่านี้มาจากความเชื่อและความเมตตาในเรื่องของการทำบุญหรือการให้ทานเป็นสำคัญ แต่แท้จริงแล้วการให้เงินขอทาน ได้บุญจริงหรือไม่!? นี่เป็นความเชื่อผิดมาตลอดหรือเปล่า!!
บุญจากการให้ทาน
ตามหลักพระพุทธศาสนา การให้ทาน หรือ ทานมัย คือหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ หมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด ขัดเกลาจิตใจให้ลดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของการบริจาคสิ่งของหรือสิ่งอื่นใดแก่ผู้อื่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ให้แง่คิดไว้ในหนังสือเรื่อง วิธีสร้างบุญบารมี กล่าวถึงองค์ประกอบ 3 ประการ ที่นับว่าเป็นการให้ทานที่ได้บุญมาก คือ
- วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์ นั่นก็คือของที่ได้มาจากการแสวงหาเอง ได้ความด้วยความบริสุทธิ์จากการประกอบอาชีพของตน ไม่ได้ไปเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้มาซึ่งของสิ่งนั้น
- เจตนาในการสร้างทานต้องบริสุทธิ์ ทุกขณะของการให้ทานจิตต้องยินดีเบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ทานแก่ผู้อื่น
- เนื้อนาบุญของผู้รับทานต้องบริสุทธิ์ คือต้องให้ทานกับผู้ที่มีเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ หากผู้ที่ได้รับทานเป็นคนที่ไม่ดี ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล
หากให้ทานครบทั้งปัจจัย 3 ประการนี้ จึงนับเป็นทานมัยอันบริสุทธิ์ได้อานิสงส์มาก
ส่งเสริมผู้ไม่บริสุทธิ์ได้บุญหรือ?
คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญมีเมตตาธรรมและมักเชื่อว่า เมื่อมีจิตดีคิดเป็นผู้ให้...ให้อย่างไรก็ได้บุญ ความเชื่อนี้ไม่มีข้อโต้แย้งใดที่กล่าวว่าเป็นบาป แต่หากพิจารณาถึงองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ ว่ามีเหตุปัจจัยที่ตรงกันข้ามหรือไม่ โดยเฉพาะของผู้รับทาน หากเจตนาของการเป็นขอทานนั้น เกิดขึ้นเพื่อการหาเลี้ยงชีพโดยไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้ทุพพลภาพหรือทุกข์ทนจนหนทาง แต่เพียงเพื่อความสบายส่วนตน ด้วยหาเงินง่าย หลอกลวง ทั้งเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย หรือร่วมอยู่ในกระบวนการธุรกิจบาปค้ามนุษย์ ซึ่งสังคมมีการรณรงค์ถึงเรื่องนี้มาตลอดหลายสิบปี
เมื่อผู้รับทานไม่บริสุทธิ์ แม้จะเชื่อได้ว่าบาปนี้ตกแก่ตัวขอทานเอง แต่สำหรับผู้ให้ทานเองนั้นย่อมเท่ากับทานนั้นไร้เนื้อนาบุญ ซึ่งหากผู้ให้เกิดความสงสัยนี้ เกิดความลังเล หรือให้ทานด้วยความไม่สบายใจเพราะไม่แน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ก็เท่ากับขาดเจตนาบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน เท่ากับขาดพร่ององค์ประกอบถึงสองในสามประการ
ยิ่งหากเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจขอทานนี้ว่า มีเด็กถูกทารุณกรรม มีผู้สูญเสียอิสรภาพ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้เกียจคร้านและกลุ่มมิจฉาชีพ ท่านจะสบายใจหรือได้บุญจากการมีส่วนส่งเสริมการกระทำดังกล่าวนี้หรือไม่ โปรดใช้วิจารณญาณ ยังมีการสร้างบุญด้วยการทำทานอีกมากมายที่จำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อผู้รับอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม
- 3 วิธี ทำบุญทำทานอย่างไรให้ได้อานิสงส์สูงสุด
- "บุญที่ถูกมองข้าม" ข้อคิดเรื่องการให้ทาน โดย พระไพศาล วิสาโล
- 10 วิธี เพิ่มบุญให้ตัวเอง กับ "บุญกิริยาวัตถุ 10"
- ติดนิสัย ทำบุญหวังผล แก้ไขอย่างไร