"บุญที่ถูกมองข้าม" ข้อคิดเรื่องการให้ทาน โดย พระไพศาล วิสาโล

"บุญที่ถูกมองข้าม" ข้อคิดเรื่องการให้ทาน โดย พระไพศาล วิสาโล

"บุญที่ถูกมองข้าม" ข้อคิดเรื่องการให้ทาน โดย พระไพศาล วิสาโล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระไพศาล วิสาโล เผยแผ่ข้อคิดทางธรรมเรื่อง "บุญที่ถูกมองข้าม" กล่าวถึงการให้ทานแก่ขอทาน ด้วยเหตุการณ์สอนใจที่หลายท่านอาจไม่เคยฉุกคิดมาก่อน โดยมีเนื้อความ ดังนี้

"บุญที่ถูกมองข้าม"

สังเวชนียสถาน ๔ แห่งในประเทศอินเดีย เป็นจุดหมายที่ชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยนิยมไปเยือน เพราะถือว่าเป็นการจาริกที่ได้บุญมาก หลายคนนอกจากตั้งใจไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเคยประทับและบำเพ็ญศาสนกิจแล้ว  ยังเตรียมเงินไปทำบุญตามรายทาง เช่น ทอดผ้าป่าถวายวัดไทย ถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ และที่ขาดไม่ได้คือ บริจาคเงินแก่ขอทาน ซึ่งต่างนิยมชมชื่นชาวไทยมาก เพราะมีกิตติศัพท์ว่าใจบุญสุนทาน เวลาเจอคณะชาวไทยก็จะพากันรุมล้อม โดยเฉพาะอุบาสิกา ที่มีอายุสักหน่อย วณิพกอินเดียจะเรียกว่า “มหารานี”เลยทีเดียว

หญิงไทยสูงวัยผู้หนึ่ง ก็เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมคณะ เมื่อเห็นขอทานมารุมล้อม  ก็ยื่นเงินรูปีให้คนละ ๑๐ รูปีบ้าง ๒๐ รูปีบ้างด้วยความยินดี อย่างไม่คิดเสียดายเงิน จากนั้นก็เข้าไปสักการะพระเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์  เสร็จแล้วก็ออกมาซื้อของที่ระลึก ซึ่งแม่ค้าพากันเอามาขาย   ของแต่ละชิ้น ราคาไม่แพง แต่เธอก็ไม่ยอมซื้อง่าย ๆ  ต่อแล้วต่ออีก แม้ราคาที่แม่ค้าบอกขายจะต่างจากราคาที่เธอต่อรองเพียงแค่ ๑๐ รูปีเธอก็ไม่ยอม   มีโอกาสเมื่อใด เธอจะกดราคาให้ต่ำเท่าที่จะต่ำได้

พระรูปหนึ่งซึ่งร่วมคณะเดียวกับเธอ สงสารแม่ค้า จึงพูดเตือนสติหญิงไทยผู้นี้ว่า  “โยม  เวลาเจอขอทาน โยมควักเงินให้เขาทันที  แต่พอมีแม่ค้าเอาของมาขาย โยมกลับกดราคาเขา จนเขาแทบไม่ได้กำไรเลย  โยมรู้ไหมถ้าเขาเจอแบบนี้บ่อย ๆ เขาคงอยากไปเป็นขอทานมากกว่า เพราะได้เงินง่ายโดยไม่ต้องเหนื่อย”  

คำทักท้วงของพระรูปนี้ไม่ได้เตือนสติหญิงสูงวัยผู้นี้คนเดียว แต่เตือนใจคนไทยที่ไปแสวงบุญที่อินเดียได้เป็นอย่างดี  ข้อที่น่าคิดก็คือ ทำไมอุบาสิกาท่านนี้ใจดีกับขอทาน แต่ตระหนี่กับแม่ค้า  ทั้ง ๆ ที่สารรูปของทั้ง ๒ คนก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร  ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะอุบาสิกาท่านนี้เห็นว่าการให้เงินแก่ขอทาน เป็นการทำบุญ  ซึ่งจะมีอานิสงส์ให้ตนประสบโชคลาภ หรือมีความสุขความเจริญในภายภาคหน้า  ดังนั้นจึงยินดีให้โดยไม่คิดมาก  ส่วนการจ่ายเงินให้แม่ค้านั้น เธอมองว่าเป็นเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยน  จึงคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจะเสียเงินให้น้อยที่สุด  โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่า การทำเช่นนั้นคือการผลักไสให้คนเหล่านั้นไปเป็นขอทาน

อันที่จริงถ้าตั้งใจจะทำบุญจริง ๆ  การซื้อของจากแม่ค้าในราคาที่สมเหตุสมผล ให้เขาได้กำไรพอสมควร ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งได้เช่นกัน  คนที่ควรได้รับเมตตาจากเราไม่ใช่มีแค่ขอทานเท่านั้น  พ่อค้าแม่ค้าก็สมควรได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่ยากจน มีฐานะต่ำต้อยกว่าเรา

พฤติกรรมของหญิงไทยผู้นี้ สะท้อนทัศนะของชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อย ที่มองว่า การทำบุญหมายถึงการให้เงินแก่พระสงฆ์หรือขอทานเท่านั้น  ส่วนการช่วยเหลือคนในรูปแบบอื่น  เช่น ซื้อสินค้าในราคาที่ช่วยให้เขาอยู่ได้ สามารถประกอบสัมมาอาชีวะได้ต่อไป  ไม่ใช่การทำบุญ

แรงจูงใจอย่างหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการทำบุญของชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ก็คือ  อยากได้รับอานิสงส์ที่เป็นความสุขความเจริญ หรือโชคลาภในภายภาคหน้า  ดังนั้นเวลาทำบุญ จึงไม่เสียดายเงิน เพราะถือว่าเป็น “การลงทุน”อย่างหนึ่ง  แต่หากจ่ายเงินแล้วไม่มีอานิสงส์ดังว่ากลับคืนมา ก็จะคิดแล้วคิดอีก  หรือจ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหญิงไทยผู้นี้จึงต่อแล้วต่ออีก  แม้แต่ ๑๐ รูปีก็ไม่อยากจ่ายเพิ่ม

การทำบุญนั้นจุดหมายสำคัญก็เพื่อลดความตระหนี่ บรรเทาความเห็นแก่ตัว หรือลดความยึดติดถือมั่น  หากเราทำบุญเพื่อจะได้นั่นได้นี่เพื่อตัวเอง โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางวัตถุ  ความโลภหรือความเห็นแก่ตัวจะลดลงได้อย่างไร การทำเพราะนึกถึงผู้อื่น อยากช่วยเหลือผู้อื่น โดยนึกถึงตัวเองแต่น้อย หรือไม่นึกถึงเลยต่างหาก เป็นการทำบุญอย่างแท้จริง

นี้คือบุญที่เราควรทำอย่างยิ่งเมื่อไปจาริกแสวงบุญไม่ว่าที่สังเวชนียสถานหรือที่ใดก็ตาม  และหากทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ก็ยิ่งน่าอนุโมทนา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook