การไปดูหมอกับการเป็นหมอดู ถือว่าขัดกับพุทธศาสนาไหม?
คนเราพอเข้าตาจนก็นึกถึงหมอดูก่อนแหละครับ ผมเคยเห็นมานักต่อนัก ที่เคยด่าๆ หมอดูว่าคู่กับหมอเดา หรือที่เคยด่าๆคนไปดูหมอว่างมงาย สุดท้ายพอเอาตัวไม่รอด ทุกข์ประดังเข้าใส่จากแปดทิศ กำลังมืดถึงขีดสุด ก็ถามหาหมอดู อยากให้ช่วยทำนายว่าเมื่อไรตนจะพ้นจากความมืดชีวิตช่วงนั้นไปได้เสียที
สรุปคือ ใครจะว่ายังไง ใครจะบอกว่าหมอดูต้องขึ้นสวรรค์หรือลงนรกท่าไหน ในที่สุดอาชีพหมอดูก็จะยังคงต้องอยู่คู่โลกต่อไป ถึงโลกนี้แตกดับ โลกใหม่ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ก็ต้องเจอหมอดูกันอีก
ประเด็นคือการไปดูหมอและการเป็นหมอดูนั้นขัดกับความเป็นพุทธแค่ไหน? อันนี้เราต้องเห็นภาพรวมเสียก่อนว่าจุดมุ่งหมายสูงสุด หรือ "ธง" ของพุทธศาสนาคืออะไร
ธงแรกของพุทธศาสนาอยู่ที่การศรัทธาเรื่องผลของกรรมมีจริง สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หมายความว่าอยู่ๆจะมาเป็นมนุษย์ หรือไปเป็นมดปลวก ช้างม้าวัวควาย ปลากระพงหรือปลาวาฬตามใจชอบไม่ได้ กรรมเก่าจัดให้ว่าใครเหมาะกับรูปชีวิตสองขา สี่ขา ต้องเสือกคลานหรือมุดน้ำดำดินท่าไหน และระหว่างครองรูปชีวิตนั้นๆ จะต้องประสบเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายในช่วงเวลาใดบ้าง
ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่เห็นยากมากครับ เพราะคนเรานั้น เกิดใหม่ก็ลืมหมด แถมระลึกไม่ได้ว่าไปทำอะไรมาบ้าง จำได้แต่ว่าอยากได้อะไรบ้าง ฉะนั้น ถ้ามีศาสตร์หรือบุคคลใดช่วยชี้ให้เห็นความจริงเกี่ยวกับกรรมและวิบากได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ก็ใช่เลยครับ ศาสตร์นั้นๆ หรือบุคคลนั้นๆ แหละถือเป็นประตูเข้าสู่พุทธศาสนาบานใหญ่สำหรับมหาชนได้
หมอดูเก่งๆ ที่ทายทักให้ลูกค้าอ้าปากค้าง ฉงนสนเท่ห์ว่า "รู้ได้ไง?" ประเภทนั้นแหละ ที่บอกอะไรคนฟังก็เชื่อหมด หากหมอดูดังกล่าวจาระไนได้ว่าเพราะเคยทำทานแบบไหน รักษาศีลหรือผิดศีลข้อใด จึงมาเกิดเป็นอย่างนี้ มีชะตากรรมอย่างนี้ แนวโน้มคือลูกค้าจะเริ่มศรัทธาเรื่องของกรรมวิบาก ตลอดจนสนใจว่าจะก่อกรรมใหม่ท่าใดจึงบรรเทาหรือเอาชนะกรรมเก่าได้
ส่วนธงสุดท้ายของพุทธศาสนาอยู่ที่การไปให้ถึงความสิ้นทุกข์ทางใจอย่างเด็ดขาด ซึ่งทางเดียวคือต้องเจริญสติ เห็นกายใจตัวเองที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่น่ายึด ไม่น่าเอาอะไรกับความไม่ใช่ตัวตน จนอุปาทานถูกทำลาย หายทุกข์หายโศกได้จริง
คีย์เวิร์ดเพื่อพุ่งเข้าหาธงสูงสุดจึงน่าจะออกแนว "อยู่กับปัจจุบันให้เป็น!" การไปดูหมอหรือการเป็นดูหมอขัดขวางการไปถึงธงสุดท้ายแค่ไหน? ใจคนไปดูหมอไม่อยากได้อะไรมากกว่าคำทำนายในอนาคต ซึ่งนั่นก็หมายความว่าใจหมอดูต้องผูกอยู่กับอนาคตของชาวบ้านเป็นหลัก โอกาสจะปรับจิตเข้าโหมด "อยู่กับปัจจุบันให้เป็น" จึงยากหน่อย
แต่นั่นก็ไม่ต่างจากอาชีพการงานแบบโลกๆ ทั้งหลาย เช่น ซื้อขายหุ้น เก็งกำไร วางแผนธุรกิจนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ฆราวาสเป็นทางมาแห่งมลทินทางใจ" การจะทำมาหากิน เอาเงินเอาทองแล้วให้มาปล่อยวางนั้น ยังไงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก ไม่มีทางทำใจให้เหมือนพระซึ่งท่านมีหน้าที่ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งสถานเดียวได้
เจาะจงอย่างนี้ดีกว่า มักมีคนสงสัยว่าเป็นหมอดูแล้วไปไหน นรกหรือสวรรค์ ปิดกั้นนิพพานหรือเปล่า ทางพุทธยืนยันเพียงว่าสิ่งที่ปิดกั้นสวรรค์และนิพพานคืออนันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ เป็นพระแล้วทำสงฆ์ให้แตกกัน กับทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต กรรมเหล่านี้ถ้าทำสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว บาปก็พอกหนาเกินกว่าที่จิตจะดำรงสติ ตั้งมั่นในความเห็นถูกเห็นชอบถึงขั้นบรรลุมรรคผลได้ ตายแล้วมีแต่นรกเป็นที่ไปสถานเดียว
ผมอยากอ้างอิงว่าแม้แต่พระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านก็ได้เป็นหนึ่งในผู้ทำนายลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นคนเดียวที่ฟันธงว่าเจ้าชายจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่เหมือนนักทำนายรายอื่นที่แทงกั๊กว่าลักษณะสมบูรณ์แบบเยี่ยงมหาบุรุษเช่นนี้ ถ้าไม่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้า
บั้นปลายท่านติดตามพระพุทธองค์ และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ซึ่งนี่คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าถ้าเป็นหมอดูแล้วจะปิดกั้นมรรคผลมั้ย ถ้าเป็นหมอดูที่ให้ธรรมะ ตลอดจนเจริญสติจนเข้าถึงธรรมะที่แท้ ก็หวังสวรรค์และนิพพานได้แน่ครับ!
เรื่องของเรื่องคือเราต้องมาพิจารณาว่าหมอดูส่วนใหญ่ที่มีอยู่ดาษดื่นนั้น เป็นแค่คนไม่รู้จริงที่หลอกลวงประชาชน หรือเป็นโหราจารย์ที่สักแต่ทำให้ผู้คนหลงนึกไปว่าชีวิตถูกลิขิตด้วยดวงดาวบนท้องฟ้า หรือเป็นผู้ใคร่ในธรรมที่ทำความกระจ่างทางพุทธให้เกิดขึ้น คุณเองตาดีหรือตาร้ายไปเจอหมอดูแบบไหน นี่แหละครับโจทย์ข้อใหญ่....เมื่อเชื่อเรื่องผลของกรรมเก่า ก็เท่ากับเลิกเชื่อความบังเอิญ ถ้าศรัทธาการสร้างกรรมใหม่ ก็เท่ากับไม่ปล่อยให้ชีวิตสูญเปล่า