ตำนานลูกประคำ
"ลูกประคำ" มีความหมายตามหลักวิชาการว่า ลูกกลม ๆ ที่ร้อยด้วยเชือกเป็นสิ่งสำหรับชักเป็นคะแนนในเวลานั่งบริกรรมภาวนา แต่ทว่า "ลูกประคำ" ตามความหมายและความรู้สึกของนักนิยมสะสมพระเครื่อง -เครื่องรางของขลังนั้นจะมีความหมายที่นอกเหนือไปจากคำจำกัดความ ดังกล่าวแล้ว นั่นก็คือ "ลูกประคำ" ยังเป็นเครื่องรางของขลังอีกชนิดหนึ่งที่นิยมพกพา หรือคล้องคอ เพื่อขอพุทธานุภาพในการคุ้มครองป้องกันภัย
และสำหรับในด้านศาสนา ถือกันว่าเป็นเครื่องยังจิตใจ ให้เข้าสู่ภาวนาสมาธิ เพื่อฝึกจิตตานุภาพให้แข็งแรง อดทนต่อการก่อกวนแห่งกิเลสทั้งปวง ที่มีให้พ้นไป ในทางพระเวทย์ ถือว่า "ลูกประคำ" เป็นเครื่องกำหนดคาบการภาวนาในการฝึกจิตหรือร่ายพระเวทย์วิทยาคมทั้งหลาย ให้เกิดพลังอำนาจขึ้นอีกเป็นทวีคูณ และในด้านวิชายุทธโบราณของจีนหรือกำลังภายในนั่นเอง ซึ่ง "ลูกประคำเหล็ก" ของหลวงจีนวัดเส้าหลินเอามาเป็นเครื่องป้องกันตัวจากคมอาวุธได้ และยังใช้ในการสวดภาวนารวมไปกับบักเต้า (เครื่องเคาะจังหวะ) ได้อีกด้วย
"ลูกประคำ" มีมาตรฐานกำหนดเม็ดประคำ นับจากลูกปลายล่างสุดจนจรดปมที่ผูกมัดร้อยด้วยประคำรวมกันได้ 108 เม็ด จำนวน 108 เม็ดนี้ถือว่าเป็นเลขมงคลทั้งพุทธ และพราหมณ์ไปจนถึงอาถรรพณ์เวทย์ พระอรหันต์ 108 รูป สวดสาธยายพระคาถา 108 จบ ว่า 108 ชนิด ถ้าพูดถึงอะไรก็ตามที่ลงด้วย 108 แล้วจะขลังดีขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
"ลูกประคำ" นั้นตามตำรับโบราณจะต้องใช้ว่านมงคล 108 มาบดผสมกับเครื่องยาจินดามณีเสียครั้งหนึ่งก่อน จึงจะโยงยึดด้วยรักหรือปูนนั้น และจึงเจาะรูตรงกลาง ด้วยการเอาแผ่นเงินหรือแผ่นทองมาลงอักขระม้วนเป็นตะกรุด เสียบเข้าไปเป็นแกนกลางสำหรับร้อยเชือกส่วนเชือกนั้นต้องใช้ไหมเจ็ดสีมาควั่นเป็นเชือกร้อยตรงปลายสุด ปั่นให้ฟูและถักเป็นพู่ให้สวยงามแต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้ผงใบลาน เผาคลุกรัก และวัสดุอื่นจนในปัจจุบันนี้กลายเป็นประคำชนิดต่าง ๆ ทั้งไม้จันทน์ ทั้งพลาสติก และลูกประคำสำเร็จรูป เมื่อนำสรรพสิ่งที่ว่ามารวมกันแล้วท่านว่ามีศิริอานุภาพของประคำใช้ป้องกัน เขี้ยวงาศาตราวุธ และป้องกันการกระทำคุณไสยใช้ภาวนาเป็นคาถาแคล้วคลาด และนำติดตัวเป็นเสน่ห์
ขอบคุณข้อมูลจาก Horolive (อ.ทวีโชค)
ขอบคุณภาพประกอบจาก Photos.com