วิสาขบูชา วันพระใหญ่ ๒๖๐๐ ปี เปี่ยมบุญ มากความสุข

วิสาขบูชา วันพระใหญ่ ๒๖๐๐ ปี เปี่ยมบุญ มากความสุข

วิสาขบูชา วันพระใหญ่ ๒๖๐๐ ปี เปี่ยมบุญ มากความสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเดือนมิถุนายนนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หอบบุญมาฝากให้พี่น้องชาวไทยทุกคนร่วมกันสร้างบุญ สร้างกุศลกับวันสำคัญดีๆ ทางศาสนาของไทยเราและฝากถึงเพื่อนหลายคนที่ยังคงไม่ทราบที่มาและยังไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรต่อวันพระใหญ่ของไทยเรา "วันวิสาขบูชา" ที่ในปีนี้จะตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 ตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 7 เป็นวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของไทยเราและเป็นวันสำคัญสากลของโลก

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ คือ เกิด ได้ตรัสรู้ คือ สำเร็จ และปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 วาระ โดยวันวิสาขบูชานี้เริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา ในสมัยสุโขทัย ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทย และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

 

 วันวิสาขบูชาวันวิสาขบูชา

 

เนื่องในโอกาสพิเศษนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอน้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ให้ชาวไทยที่เป็นพุทธบริษัทนำไปปฏิบัติ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในการฉลองพุทธชยันตี แห่งการตรัสรู้ อันเกี่ยวเนื่องกับการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยหลักธรรมที่เป็นหนทางไปสู่ความสุข ความเจริญ คือความกตัญญู , อริยสัจ 4 และความไม่ประมาท

อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคดมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ

1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือ ขันธ์ 5

2. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ 3 ประการ ได้แก่ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความ-อยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ

3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง

4. มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคอันมีองค์ประกอบอยู่ 8 ประการ ได้แก่

- สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ

- สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ

- สัมมาวาจา-เจรจาชอบ

- สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ

-  สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ

-  สัมมาวายามะ-พยายามชอบ

- สัมมาสติ-ระลึกชอบ

- สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง

กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่

1. ปริญญา - ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมา
ตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา

2. ปหานะ - สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ

3. สัจฉิกิริยา - นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย

4. ภาวนา - มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ไร้ปัญหา และหลักธรรมที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ความไม่ประมาท ความระมัดระวัง ตั้งใจ และตื่นตัวเฝ้าดูสิ่งต่างๆที่กำลังจะเกิดและเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องรอบๆ ตัวด้วยความรู้สึกตัวทั่วถึง มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะกระทบต่อชีวิตสังคมและประเทศชาติอยู่ตลอดเวลา จงมีสติทุกครั้งเวลาจะทำอะไร จะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชาของไทย โดยร่วมกันทำบุญตักบาตร ไหว้พระ สวดมนต์ และร่วมกันเวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และที่สำคัญควรนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อคอยย้ำเตือนสติเราให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ทำให้จิตใจสงบสุขเบิกบาน ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ เป็นประชาชนคนไทยที่ดี ด้วยการสร้างบุญ สร้างกุศล เพื่อนำพาชีวิตสู่ความเจริญร่วมกัน

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก นายฐิติ จันทรวรรณกูร (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒ)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ประวัติวันวิสาขบูชา คลิก!

                             กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา คลิก!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook