ประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษา

ประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษา

ประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความจริงแล้ว พระในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะบวชในฤดูกาลไหน หรือจะบวชช่วงสั้น ช่วงยาวแค่ไหนก็ตาม มีวัตถุประสงค์ในการบวชเหมือนกัน คือ มุ่งที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดไป แล้วก็ทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือ พูดกันภาษาชาวบ้านว่า มุ่งกำจัดกิเลสเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกันอีก

ทีนี้อย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้ว ไม่ว่าบวชช่วงสั้นช่วงยาว ตั้งใจอย่างนี้ ทำตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างนี้เต็มที่ ไม่ว่าบวชช่วงไหนก็ได้บุญเท่าๆ กันทั้งนั้น อันนี้โดยหลักการ

แต่ว่าเอาจริงๆ เข้าแล้ว เนื่องจากเรานั้นยังเป็นคนที่เข้ามาสู่ศาสนากันใหม่ๆ แล้วก็ยังต้องการสภาพที่เหมาะสมพิเศษๆ ในการที่จะศึกษาธรรมะ ในการที่จะขัดเกลาตัวเอง ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นถ้าได้บรรยากาศพิเศษๆขึ้นมาก็จะช่วยให้การบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชนั้นง่ายขึ้นและดีขึ้น ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้เลือกแล้วว่า ฤดูเข้าพรรษาเป็นบรรยากาศพิเศษ เหมาะที่จะให้ลูกหลานของตัวเองจะเข้ามาบวชพิเศษอย่างไรในฤดูนี้


ประการที่ 1. ดินฟ้าอากาศเป็นใจ คือ ในฤดูร้อนของประเทศไทย เรารู้ๆ กันอยู่ว่า ถึงคราวร้อนก็ร้อนเหลือหลาย ร้อนจนกระทั่งแม้ในทางโลก เด็กนักเรียนก็ปิดเทอมกันภาคฤดูร้อน ฤดูร้อนเรียนกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อากาศมันร้อนหนัก เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็ปิดเรียน ในทางธรรมก็เช่นกัน ถ้าจะให้พระใหม่มาเรียนธรรมะในฤดูร้อนคงย่ำแย่

ในฤดูหนาวก็เช่นกัน สมัยเราเป็นเด็ก ไปโรงเรียนกันในฤดูหนาว เป็นเด็กนักเรียนก็ไปนั่งผิงไฟกันด้วยซ้ำ ไปนั่งงอก่องอขิงกัน บรรยากาศในการเรียนมันหย่อนๆ ไปเหมือนกัน ร้อนไปก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ฤดูที่ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เห็นมีอยู่ฤดูเดียวสำหรับประเทศไทย คือ ฤดูฝน หรือฤดูเข้าพรรษานั่นเอง เพราะฉะนั้นช่วงเข้าพรรษา ดินฟ้าอากาศดีพร้อมเป็นใจ เหมาะแก่การศึกษาธรรมะ การค้นคว้าธรรมะ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ประการที่ 2. ครูบาอาจารย์จะพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษานี้ เพราะว่าพระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านถูกพระวินัยกำหนดแล้วว่า ห้ามไปไหน ต้องพักค้างอยู่ในวัดตลอดพรรษา ดังนั้น ครูบาอาจารย์จึงพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษานี้ เพราะฉะนั้นถ้าใครมาเป็นลูกศิษย์ ก็จะได้พบหน้าพระที่เป็นครูบาอาจารย์ทุกองค์เลย โอกาสจะได้รับการถ่ายทอดธรรมะจึงเต็มที่มากกว่าฤดูอื่น

ประการที่ 3. เราถือเป็นค่านิยมกันแล้วว่า พระใหม่ควรจะบวชในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าฤดูนี้ ดินฟ้าอากาศเป็นใจ ครูบาอาจารย์ คือ พระเก่าก็พร้อม ลูกศิษย์ คือ พระใหม่ก็พร้อมหน้าพร้อมตากันมาบวชในฤดูนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ความคึกคักในการเรียนมันก็มี

ประการที่ 4. ในส่วนของญาติโยม เมื่อลูกหลานมาบวช ญาติโยมก็เกิดความคึกคักเหมือนกันที่จะมาฟังเทศน์ด้วย เพราะว่ามาด้วยความห่วงพระลูกพระหลานของตัวเอง อีกทั้งยังนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญ มาเลี้ยงพระลูกพระหลาน แล้วก็เลยเลี้ยงกันไปทั้งวัดอีกด้วย

ยังไม่พอมาเลี้ยงพระลูกพระหลานเสร็จแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องไปกราบพระที่เป็นครูบาอาจารย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ความคุ้นเคยระหว่างพระกับโยมในช่วงเข้าพรรษาก็มีมากขึ้น ญาติโยมจึงมีโอกาสจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมๆกันไปด้วย พระลูกพระหลานก็เข้าห้องเรียนไปห้องหนึ่ง โยมพ่อโยมแม่ก็เข้าฟังเทศน์ในศาลาอีกศาลาหนึ่ง รวมทั้งข้าวปลาอาหารก็มีพร้อมมูลอย่างนี้ บรรยากาศแห่งความสมบูรณ์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมมาพร้อมกันถึง 4 ประการอย่างนี้ ฤดูเข้าพรรษาจึงนับว่าเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเข้ามาบวชอย่างยิ่ง

จึงเป็นธรรมเนียมกันมาทุกวันนี้ว่า บวชตอนเข้าพรรษานั้นน่าบวชที่สุด เพราะว่ามีโอกาสได้บุญมากที่สุด ทั้งพระผู้บวช คือ ได้ศึกษาเต็มที่ มีโอกาสที่จะโปรดโยมพ่อโยมแม่มากที่สุด เพราะถึงแม้ตัวเองเป็นพระใหม่ยังเทศน์ไม่ได้ แต่พระอาจารย์ในวัดก็ช่วยเทศน์ให้ ทุกอย่างมันสมบูรณ์พูนสุขจริงๆ บวชเข้าพรรษาจึงมีทีท่าว่าได้บุญมากกว่าฤดูอื่น ด้วยประการฉะนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.dmc.tv
ขอบคุณภาพประกอบจาก Photos.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook