เรื่องน่ารู้พระพุทธรูปปางต่างๆ (ตอนที่ 1)
พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เราพบเห็นกันอยู่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าพระพุทธรูปแต่ละองค์มีที่มาอย่างไรและมีรูปลักษณะอย่างไร Sanook! Horoscope มีเรื่องราวน่ารู้เหล่านั้นมาฝากกันค่ะ
พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้น ตั้งฝ่าพระหัตถ์เสมอเสมอพระอุระ (อก) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย อันเป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศบรรพชิต
ความเป็นมาของปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์จนมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมาจึงเสด็จลงจากหลังม้า ประทับเหนือหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ รับสั่งแก่นายฉันนะว่าพระองค์จักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นี้ ให้นำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร เจ้าชายสิทธัตถะทรงตั้งพระทัยว่าเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะเสด็จกลับมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติ
พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส
พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิแบพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดข้าวมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท
ความเป็นมาของปางรับมธุปายาส
เช้าวันเพ็ญวิสาขะ หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ปีระกา) อันเป็นวันครบรอบพระชนมายุ 35 พรรษาของพระบรมโพธิสัตว์ นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาสมาแก้บนต่อรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ ครั้นแลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร ทรงมีรัศมีออกจากพระวรกายแผ่ซ่านไปทั่วปริมณฑล เข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายพร้อมกับถาดทองคำ พระองค์ทรงแบพระหัตถ์ทั้งสองออกรับถาดข้าวมธุปายาส
พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา
พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้า เป็นกิริยาทรงรับหญ้าคา บางแบบทำเป็นพระอิริยาบถทรงถือหญ้าคาก็มี บางแบบมีรูปพราหมณ์กำลังยื่นหญ้าคาถวายด้วย
ความเป็นมาของปางรับหญ้าคา
พระบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำดังอธิษฐาน จึงทรงโสมนัส (ดีใจ) เสด็จสู่ร่มสาละ ครั้นถึงเวลาบ่ายได้เสด็จกลับไปยังอัสสัตถโพธิพฤกษ์มณฑล (ร่มโพธิ์) ระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ถือหญ้ากุสะ (หญ้าคา) 8 กำ เดินสวนทางมา โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใสในพระสิริที่งามสง่าของพระบรมโพธิสัตว์จึงน้อมถวายหญ้ากุสะทั้ง 8 กำ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี บางแห่งทำรูปแม่พระธรณีนั่งบีบมวยผมประกอบ นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ความเป็นมาของปางมารวิชัย
ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมขล์ 150 โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อมนำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามั่วดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ทรง
กล่าวว่า "รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำกรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น"
พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้
พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) สมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย
ความเป็นมาของปางสมาธิหรือปางตรัสรู้
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์มีชัยชนะเหนือพญามารแล้ว ทรงบำเพ็ญสมาธิต่อไป เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากอุปกิเลสแล้ว ในปฐมยามทรงบรรลุจตูปปาตญาณ คือสามารถหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วตายไป ประสบสุขและทุกข์ตามกรรมที่ทำไว้ และในปัจฉิมยามพระองค์ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงทำอาสวกิเลสทั้งหลายให้ดับสิ้นไป จนได้บรรลุอนุตสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลารุ่งอรุโณทัย ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย
พระพุทธรูปปางวายเนตร
พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเมตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอากาศสังวรพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์
ความเป็นมาของปางถวายเนตร
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) ณ ใต้ร่มต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน จากนั้นเสด็จไปทรงยืนอยู่กลางแจ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงทำอุปหาร คือ ยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่กะพริบพระเนตรเลย เพื่อบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ได้นามว่า "อนิมิสเจดียสถาน"
พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว
พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิในเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ (เข่า) บางแบบพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถขัดสมาธิเพชรในเรือนแก้ว
ความเป็นมาของปางเรือนแก้ว
ในสัปดาห์ที่ 4 จากวันตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา 7 วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "รัตนฆรเจดีย์" ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 1 - 3 พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่ 4 เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาในเรือนแก้วแล้ว พระฉัพพรรณรังสีจึงโอภาสออกมาจากพระวรกาย
พระพุทธรูปปางนาคปรก
พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
ความเป็นมาของปางนาคปรก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากใต้ต้นไทร เสด็จไปประทับที่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่ตลอด 7 วันไม่ขาดสาย พญานาคราชชื่อมุจลินทร์ ราชาแห่งนาคพิภพได้ขึ้นมาจากบาดาล ขนดกายเป็นพุทธบัลลังก์ แล้วแผ่พังพานเหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระพุทธองค์ ปกป้องมิให้ลมฝน ยุง เหลือบ ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานมาต้องพระวรกาย เมื่อฝนหยุด พญานาคราชจึงจำแลงกายเป็นชายหนุ่มมาถวายนมัสการต่อพระพุทธองค์
พระพุทธรูปปางประสานบาตร
พระพุทธรูปปางประสานบาตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิมีบาตรวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร คว่ำพระหัตถ์ขวายกขึ้นไปปิดปากบาตร
ความเป็นมาของปางประสานบาตร
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 49 วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง 4 ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง
พระพุทธรูปปางรำพึง
พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
ความเป็นมาของปางรำพึง
ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บุคคลในดลกนี้เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ดังนี้ คือ
1. อุคฆิฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้เร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
2. วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจในเวลาอันไม่ช้า เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
3. เนยยะ คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและฝึกฝนอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้ เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
4. ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน
เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณก็ทรงอธิษฐานว่าจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนา ให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้า เสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง
ความเป็นมาของปางห้ามสมุทร
ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานัปการ เพื่อให้อุรุเวลกัสสปะคลายความพยศลง พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกรมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง เหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์จึงยอมรับในพุทธานุภาพ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
พระพุทธรูปปางประทานโอวาท
พระพุทธรูปปางประธานโอวาทหรือปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ไว้เสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาทรงประทานโอวาทปาติโมกข์
ความเป็นมาของปางประทานโอวาท
ณ พระเวฬวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประมาณ 9 เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ครบองค์ 4 ได้แก่
1. วันนั้นเป็นวันดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันเพ็ญเดือน 3 )
2. พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
4. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ คือ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง ในวันนั้นพระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ใจความสำคัญแห่งพระโอวาทนั้น ได้แก่ ละเว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส วันเพ็ญเดือน 3 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "วันมาฆบูชา"
พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้าง พระวรกาย บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงตามปกติ บางแบบพักพระชานุ (เข่า)
ความเป็นมาของปางแสดงปาฏิหาริย์
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติครั้งแรก พระญาติผู้ใหญ่ไม่ทำความเคารพ เพื่อทำให้พระญาติเหล่านั้นลดทิฐิมานะลง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ โดยเหาะขึ้นไปบนอากาศ ประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทได้หล่นสู่เศียรเกล้าของเหล่าพระประยูรญาติ พระเจ้าสุทโธทนะขึงประณมพระหัตถ์แล้วกราบทูลว่า
"เมื่อพระองค์ประสูติวันแรก หม่อมฉันให้พี่เลี้ยงพามานมัสการกาฬเทวิลดาบส พระองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ขึ้นไปสถิตอยู่บนชฎาของดาบส หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งแรก ครั้งถึงงานพระราชพิธีวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระองค์ประทับ ณ ใต้ต้นหว้า เงาร่มไม้หว้านั้นก็มิได้เลื่อนขยับไปตามแนวดวงตะวันแม้เป็นเวลาบ่าย หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งที่สอง และครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่หม่อมฉันถวายนมัสการ"
เหล่าพระประยูรญาติจึงคลายทิฐิมานะ ถวายนมัสการพระพุทธองค์ ด้วยบุญญาภินิหาร พลันเกิดมหาเมฆขึ้นในอวกาศ ยังผลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา น้ำฝนโบกขรพรรษนี้มีสีแดง ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกายจึงจะเปียก หากไม่ปรารถนาก็ไม่เปียก เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ฝนโบกขรพรรษนี้ก็เคยตกมาแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดชาดกแก่พระประยูรญาติ
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอวมีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคอง
ความเป็นมาของปางอุ้มบาตร
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงเวสสันดรชาดกแล้ว เหล่าพระประยูรญาติต่างถวายนมัสการทูลลากลับสู่พระราชสถาน แต่ไม่มีใครทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้รับภัตตาหารเช้าเลย โดยเข้าใจเอาเองว่า คงเสด็จไปเสวยภัตตาหารในพระราชนิเวสน์ ครั้งถึงรุ่งเช้า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางก่อน เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระนครของพุทธบิดา ได้เสด็จบิณฑบาตเพื่อโปรดมหาชน พระพุทธองค์จึงออกบิณฑบาตตามประเพณี
พระพุทธรูปปางโปรดพุทธบิดา
พระพุทธรูปปางโปรดพุทธบิดา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประคองบาตร พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์
ความเป็นมาของปางโปรดพุทธบิดา
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตในพระนคร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นว่าเป็นการเสื่อมพระเกียรติของโอรสกษัตริย์ พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่าเป็นพุทธประเพณี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต และที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตต่างก็ดำรงพระชนม์ชีพด้วยอาหารบิณฑบาต จากนั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาอริยวังสิกสูตรแก่พุทธบิดา
ความว่า เป็นบรรพชิตไม่ควรประมาทในอาหารผู้ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมประสบสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อจบพระธรรมเทศนาพุทธบิดาก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน และกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์พร้อมพระสงฆ์สาวกให้เสด็จไปรับอาหารบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์ พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุอรหัตผลในเวลาต่อมา
>>> เรื่องน่ารู้พระพุทธรูปปางต่างๆ มีที่มาอย่างไร (ตอนที่ 2) คลิก!
ขอบคุณข้อมูลประขอบจาก http://www.dmc.tv/ (หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำสอน)
ภาพประกอบจาก วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรวิหาร จังหวัดนครปฐม